“30 บาทรักษาทุกโรค” คือโครงการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่คนไทยส่วนใหญ่รู้จักกันดี แต่กว่าจะมาถึงทุกวันนี้ “บัตรทอง” ซึ่งจะครบรอบ 20 ปี ในวันที่ 1 เมษายน 2564 นี้ ก็ต้องผ่านอุปสรรคมากมาย

ซึ่งในงานเปิดตัวหนังสือ “ระหว่างบรรทัด” บันทึกประวัติศาสตร์มหากาพย์บัตรทอง โดย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ที่อาคารมติชน เมื่อวันที่ 31 มีนาคม ก็ได้มีบุคคลสำคัญทั้งจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ สปสช. ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพัฒนาการของโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค มาถ่ายทอดประสบการณ์และมุมมองได้อย่างน่าสนใจยิ่ง!

“30 บาทรักษาทุกโรค สู่ 30 บาทรักษาทุกที่”
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเคยร่วมงานกับ สธ. เมื่อสิบกว่าปีก่อนในบทบาทรัฐมนตรีช่วยฯ (รมช.) และได้เห็นโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคในช่วงเดินหน้า เห็นว่า โครงการดังกล่าวมีความสำคัญมาก เรียกได้ว่าพลิกโฉมระบบสาธารณสุขของประเทศไทยเลยก็ว่าได้

“ผมเกลียดคำว่าผู้ป่วยอนาถา คำนี้มันแสบหัวใจเหลือเกิน พอมีโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค มันทำให้คนมีสิทธิ รัฐต้องให้บริการสุขภาพกับประชาชน เพราะฉะนั้นคำว่าผู้ป่วยอนาถาหรือคนไข้อนาถาไม่มีอีกต่อไป รัฐมีหน้าที่ที่จะต้องให้การดูแล อาจมีความไม่คล่องตัว แต่เป็นเรื่องที่รัฐต้องจัดการ ประชาชนต้องได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด
“โครงการนี้ 20 ปีแล้ว ก็ต้องมีการปรับปรุงและพัฒนาขึ้นมา จนมีคำว่า ‘30 บาทรักษาทุกที่’ เพราะทุกโรคไม่พอ ต้องทุกที่ด้วย เพื่อให้เกิดการเข้าถึงมากขึ้น ผมเห็นคุณค่าของโครงการนี้ เพราะเกิดประโยชน์กับประชาชนจริงๆ”

แรกเริ่มโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค มีอุปสรรคและปัญหามากมาย แต่ รมต. สธ. บอกว่า ขณะนั้นไม่มีใครกล้ายกเลิก เพราะเป็นโครงการที่เข้าไปในระบบสาธารณสุขของประเทศไทยแล้ว ต้องเดินหน้าและแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นทุกวัน ประกอบกับช่วงเวลานั้นได้รับไม้ต่อจาก นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รมช. สธ. คนก่อนหน้า ซึ่งได้วางระดับโครงการไว้เข้มแข็งแล้ว รวมทั้งมี นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เป็นเลขาธิการ สปสช. คนแรก และเป็นคนผลักดันโครงการนี้มาตั้งแต่ต้น ทำให้เมื่อมีปัญหา ทุกภาคส่วนก็จะเข้ามาร่วมกันแก้ไข

รองนายกฯ กล่าวด้วยว่า เมื่อได้รับเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ความตั้งใจแรกคือการเข้ามาเป็น รมต. สธ. เพื่อจะได้เดินหน้าโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค โดยเข้าพบ นพ.สุรพงษ์ เพื่อขอให้มาช่วย และใช้ความสามารถส่วนตัวในการเป็น “สะพานเชื่อม” ให้ทุกฝ่ายทำงานร่วมกันได้ โชคดีที่ได้เจอทีมงานที่ดีทั้ง สธ. และ สปสช. ทำให้งานเดินหน้าได้อย่างเข้มแข็ง

“วันนี้ the bus stop here. ทุกอย่างหยุดที่เราตรงนี้ หัวหน้ารัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลก็ต้องให้การสนับสนุน วันนี้ สธ. มีความมั่นคงในการบริหารงานมากสุดแล้ว วันนี้ต้องทำให้เกิดคุณูปการให้มากสุด การสะกดคำว่า ประเทศ ประชาชน ทำให้ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ผมเป็นประธาน สปสช. และ รมต. สธ. เพราะฉะนั้น 2 หน่วยงานนี้จะทะเลาะกันไม่ได้ ต้องร่วมมือและจับมือเดินกันไปด้วยกัน”

ด้านการยกระดับบัตรทองในปีนี้ รมต. สธ. บอกว่า คำว่ารักษาทุกโรค ตอนนี้ไปไกลถึงคำว่ารักษาทุกที่แล้ว ซึ่ง “30 บาทรักษาทุกที่” เป็นคำที่ประชาชนรอคอยที่สุด และจะต่อเนื่องไปเรื่องดาต้า ซึ่งเชื่อมไปยังเรื่องเทเล-เมดิซีน (บริการแพทย์ทางไกลผ่านเทคโนโลยี)

นอกจากนี้ ปีนี้ยังจะมีการเพิ่มเครื่องฉายรังสี 7 เครื่อง กระจายไปยังโรงพยาบาลทั่วประเทศ เพื่อให้บริการผู้ป่วยมะเร็งได้ครอบคลุมยิ่งขึ้น

รมต. สธ. ยังเสนอโมเดล “หมอ 3 คน” เพื่อรักษาผู้ป่วย โดยหมอคนแรกคือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หากผู้ป่วยยังไม่หายก็ไปหาหมอคนที่ 2 คือ เจ้าหน้าที่ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) สุดท้ายคือ หมอ (แพทย์) ประจำโรงพยาบาลศูนย์ ทั้งหมดเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนและลดความแออัดในโรงพยาบาล

“การเมืองดี-ผนึกความร่วมมือและพัฒนา-เรียนรู้จากความล้มเหลว”3 ปัจจัยหลักความสำเร็จ สปสช.
นอกจากเจ้ากระทรวงสาธารณสุข ยังมีผู้มีส่วนสำคัญที่เกี่ยวข้องกับ สปสช. มาร่วมเวทีเสวนา “ระหว่างบรรทัด” ลัดเลาะเรื่องร้อยระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2 ทศวรรษที่ผลิบาน ในโมงยามแห่งความคาดหวัง ทั้ง นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี รองเลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ บรรณาธิการหนังสือระหว่างบรรทัด

นพ.สุรพงษ์ เล่าว่า วันที่ 1 เมษายน 2544 คือวันเริ่มต้นโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ถึงวันนี้ผ่านไป 20 ปี ทุกคนนึกไม่ออกว่าตอนเริ่มต้นนั้นยากแค่ไหน เพราะเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยกันไปแล้ว แต่เมื่อ 20 ปีที่แล้ว โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นความฝันที่แม้แต่คิดก็ยังไม่กล้าคิด

“ผมชอบหนังสือที่ใช้ชื่อว่า ‘ระหว่างบรรทัด’ เพราะมีนัยซุกซ่อนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นจุดของการเกิดขึ้น การพัฒนา การล้มเหลวในบางช่วง ระหว่างบรรทัดนั้นก็คือการเมือง ระหว่างบรรทัดบันดาลให้เกิดขึ้น ตั้งอยู่ต่อไปได้ หรือแม้กระทั่งดับไป ก็เพราะการเมืองที่หลายคนรู้สึกรังเกียจ และมองว่ากลุ่มคนเหล่านั้นไม่ได้มีความตั้งใจ แต่ 20 ปีที่แล้ว กลุ่มคนการเมืองจำนวนหนึ่งได้เริ่มต้นทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้”

รมช. สธ. ในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร กล่าวด้วยว่า ถ้าจะสรุปเป็นคำออกมาก็คือ “ลิขิตฟ้าบวกมานะคน” หมายความว่า หลายสิ่งหลายอย่างมาบรรจบ ณ จุดตัดของเวลาในปี 2544 ที่มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมาเป็นลำดับ มีรัฐธรรมนูญ 2540 ที่เปิดโอกาส มีพรรคการเมืองที่ได้ฟูมฟักนโยบายตัวเอง มีประชาชนที่ให้โอกาสเลือกพรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้ง 248 เสียง จาก 500 เสียง และอีกประการคือโชคดีที่มีฝ่ายข้าราชการประจำคือ นพ.มงคล ณ สงขลา ปลัดกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น ที่อยากทำเรื่องนี้พอดี

ดังนั้น ถ้ามองย้อนกลับไป แค่องค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งคงไม่เกิดขึ้น การเมืองจึงมีบทบาทสำคัญ เป็นประตูบานสุดท้าย ซึ่งการเมืองที่ดี จะทำให้หลักประกันสุขภาพของคนไทยดีขึ้น

“ผมอยากให้ สปสช. เป็น สมาร์ท ออร์กาไนเซชัน และตั้งเป้าหมายให้สูงคือเป็นระบบหลักประกันสุขภาพที่ดีที่สุดในโลก และมีการพัฒนาเรื่องเทคโนโลยี ขณะเดียวกัน สธ. ก็ต้องดิสรัปต์เช่นเดียวกัน อย่างเรื่องการกระจายอำนาจเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก แต่ต้องเริ่มต้น”

ขณะที่ นพ.วิโรจน์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข เล่าถึงโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคในเชิงต้นทุนว่า เมื่อฝ่ายการเมืองเคาะว่าจะเดินหน้าโครงการดังกล่าว ก็ต้องมาคำนวณตัวเลขให้ครอบคลุมทั้งหมด ออกมาเป็นอัตราเหมาจ่ายต่อหัวที่ 1,202 บาทต่อคนต่อปี แต่ยังไม่ครอบคลุมยาต้านเอชไอวี/เอดส์ และการรักษาผู้ป่วยไตวาย แต่ท้ายสุดก็มีความพยายามผลักดันกระทั่งโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคครอบคลุมยาต้านเอชไอวี/เอดส์ และการรักษาผู้ป่วยไตวาย

“เราอยากให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพราะเราเห็นว่าคนไทยมีความทุกข์ด้านสุขภาพจริงๆ”

ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการคลุกคลีกับ สปสช. ว่า มีด้วยกัน 5 ประเด็น คือ
1. โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ถือเป็น “นิว นอร์มัล” เรื่องการจัดงบประมาณ ทำให้ต้องบริหารจัดการแนวใหม่
2. คนเราเกิดมาต้องมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ลดคราบไคลของความอนาถาให้สะอาดขึ้น เป็นสิทธิของคนในระบบการรักษาพยาบาล เป็นสิทธิที่กินได้และสัมผัสได้ และแต่ละปีก็ยิ่งเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น
3. โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นการสร้างสมดุลเชิงวิชาการกับความคาดหวังของประชาชนได้เป็นอย่างดี
4. ระบบถูกออกแบบจากต้นน้ำ เป็นการออกแบบความมีส่วนร่วม ทุกคนจึงมีความเป็นเจ้าของ และมีเจนารมณ์ที่ดีในการผลักดันระบบให้เดินหน้า
5. เป็นสมบัติของชาติที่ต้องหวงแหน และต่างชาติก็ให้การยอมรับ

“ทั้งหมดคือสิ่งที่เราต้องเรียนรู้และก้าวไปข้างหน้าร่วมกัน” นพ.ศักดิ์ชัย บอก

ส่วน นพ.จเด็จ ซึ่งเป็นว่าที่เลขาธิการ สปสช. คนต่อไป กล่าวว่า ปัญหาของทุกประเทศคือมีคนกลุ่มหนึ่งที่เข้าไม่ถึงบริการจนทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ แต่ไทยสามารถทำให้เกิดขึ้นจริง ในอดีตคำว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่ปรากฏในต่างชาติ แต่ตอนนี้มีอยู่ในองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ดังนั้นจึงควรมีการถอดบทเรียนเพื่อแบ่งปันให้ประเทศอื่นๆ ได้นำไปขับเคลื่อนแก้ไขปัญหา

“สำหรับการก้าวสู่ทศวรรษที่ 3 ของโครงการฯ ผมอยากเรียนรู้ความล้มเหลว เพราะถ้าเราจะทำอะไรต่อไปต้องเรียนจากบทเรียนที่เราผิดพลาดหรือบกพร่อง สปสช. เติบโตมาถึงทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งเพราะเรารู้ความทุกข์ชาวบ้าน ผมหวังว่า 4 ปีข้างหน้า เราจะเข้าหาประชาชนมากขึ้น และมีการเมืองสนับสนุน เพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด”

ขณะที่ ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ได้ทำงานเชิงนโยบายกับ สปสช. ทำให้ได้เห็นการทำงานและพัฒนาการของนโยบายและสิทธิประโยชน์แต่ละอย่าง ซึ่งระบบจะไปต่อได้อย่างมั่นคง ประชาชนต้องรู้สึกว่าเป็นเจ้าของ

ปิดท้ายด้วยปัจฉิมบทความสำเร็จ “ระหว่างบรรทัด” โดย นพ.วิชัย โชควิวัฒน กรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานการบริการสาธารณสุข สปสช. ที่กล่าวว่า บัตรทองเป็นระบบสวัสดิการแห่งรัฐ ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นระบบเดียวที่สมบูรณ์ที่สุดในไทย

“ผมยังไม่อยากมองไปไกลกว่านี้ เพราะมาขนาดนี้ก็ถือว่าทำได้ดีที่สุดแล้ว การทำมากกว่านี้อาจสะดุดขาตัวเอง ต้องระมัดระวัง สปสช สร้างระบบองค์กรไว้ได้ดีมาก ต้องรักษาสิ่งนี้ให้ดำรงอยู่ และพัฒนาให้ดีขึ้น”

**

#ระหว่างบรรทัด #สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ #สปสช #อนุทินชาญวีรกูล #กระทรวงสาธารณสุข #รมตสาธารณสุข #สุรพงษ์สืบวงศ์ลี #หมอเลี้ยบ #วิโรจน์ตั้งเจริญเสถียร #ศักดิ์ชัยกาญจนวัฒนา #จเด็จธรรมธัชอารี #อรรถพรลิ้มปัญญาเลิศ #วิชัยโชควิวัฒน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน