‘วราวุธ’รมว.ทส.เปิดงาน ‘สผ. ก้าวไปข้างหน้า สู่วิถีชีวิตใหม่ อย่างยั่งยืน’ ปรับทิศทางไปสู่ ‘ชีวิตวิถีใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม’ ด้านสผ.ชูผลงานขับเคลื่อนงานนโยบาย

เมื่อวันที่ 12 ก.ค. ที่อาคารทิปโก้ 1 กรุงเทพฯ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) จัดการประชุมวิชาการ ประจำปี 2565 “สผ. ก้าวไปข้างหน้า สู่วิถีชีวิตใหม่ อย่างยั่งยืน” (ONEP Moving forward to a new sustainable way of life)

โดยนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ได้เป็นประธานการประชุม ผ่านออนไลน์ เฟซบุ๊ก ไลฟ์ พร้อมกล่าวเปิดงานว่า รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืนมาตลอด ยึดถือแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยการน้อมนําหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานไว้มาเป็นแนวทางการพัฒนาประเทศ

นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.)

ซึ่งเป็นหลักการที่สอดคล้องกับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 ซึ่งถือเป็นพันธะสัญญาทางการเมืองในระดับผู้นำเพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลกในอีก 15 ปี ข้างหน้า ซึ่งจะเห็นได้จากยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580 ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในรูปแบบประชารัฐ

ทั้งนี้ทส. โดยผนวกแนวคิดของการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Model) ซึ่งถือเป็นโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ที่มุ่งเน้นการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยนวัตกรรม ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาในแต่ละเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ ทส. เป็นหน่วยรับผิดชอบหลัก อาทิ ส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ลดก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 7 – 20 ภายในปี พ.ศ.2563 ซึ่งในปี 2561 ประเทศไทยสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้แล้ว 57.84 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (ร้อยละ 15.76) ,จัดทำ (ร่าง) พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. …. , จัดทำ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ.2561-2573 เพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกและของเสียในทะเล โดยประเทศไทยยกเลิกการใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม พลาสติกผสม อ็อกโซ่
และพลาสติกผสมไมโครบีดส์แล้ว ร้อยละ 100 เป็นต้น

 

ก้าวต่อไปของ ทส. ยังคงมุ่งไปสู่ Build Forward Greener เพื่อสร้างโอกาสในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมไทย ควบคู่ไปกับการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยสานต่อนโยบายและขับเคลื่อนงานอย่างต่อเนื่อง และจะต่อยอดแนวคิดและนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไปพร้อมกับการเสริมสร้างพฤติกรรมรักษ์โลกของเราทุกคน

การดำเนินงานของภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว แต่เราจะต้องมาร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ร่วมกันรับผิดชอบ เพื่อให้เกิดจุดเปลี่ยนของสังคมไทย โดยปรับทิศทางไปสู่ “ชีวิตวิถีใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” เพราะเป็นหน้าที่ ของคนรุ่นปัจจุบันที่ต้องเป็นแบบอย่างในการใช้ชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และถ่ายทอดพฤติกรรมดังกล่าวสู่คนรุ่นต่อไป

 

ด้านดร.รวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กล่าวว่า การจัดงานประชุมวิชาการประจำปี 2564 ในปีนี้ สผ. ให้ความสำคัญการจัดงานในรูปแบบของวิถีชีวิตใหม่ (NEW NORMAL) ในรูปแบบออนไลน์ ภายใต้หัวข้อ “สผ. ก้าวไปข้างหน้า สู่วิถีชีวิตใหม่ อย่างยั่งยืน”

ดร.รวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)

สำหรับการดำเนินงานของ สผ. ภายใต้การพัฒนานโยบาย ยุทธศาสตร์และแผนการอนุรักษ์และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ปฎิบัติงานอย่างมุ่งมั่น ตั้งใจ และก่อให้เกิดการขับเคลื่อนงานอย่างเป็นรูปธรรม โดยมุ่งหวังให้ทุกภาคส่วนเกิดความร่วมมือ และเกิดเครือข่ายการต่อยอดองค์ความรู้ เพื่อร่วมกันดำเนินงาน สร้างความยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศ และก้าวไปข้างหน้า สู่วิถีชีวิตใหม่อย่างยั่งยืน และมีผลการดำเนินงานที่ก่อให้เกิดผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมที่ยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง ดังนี้

การขับเคลื่อนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ภายใต้การผลิตที่นำทรัพยากรมาใช้ในกระบวนการผลิต รวมถึงกิจกรรมการบริโภคที่เพิ่มขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อความสมดุลของทรัพยากร การส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม จึงเป็นเรื่องสำคัญ หลังจากประเทศไทยได้ร่วมแสดงเจตจำนงค์ในวาระการพัฒนา 2030 (Agenda 2030)ที่จะมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน สผ. ได้ร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงาน กับภาคส่วนต่างๆตามแผนขับเคลื่อนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน พ.ศ. 2560 – 2580

การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สผ. ในฐานะหน่วยประสานงานกลางของประเทศภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผลักดันให้นำแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศปี 2558 – 2563 มาใช้เป็นกรอบในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศใน 3 เรื่องหลัก ได้แก่ การปรับตัวต่อผลกระทบ การลดก๊าซเรือนกระจก และการสร้างขีดความสามารถการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพ สผ. ได้ขับเคลื่อนแผนแม่บทบูรณาการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. 2558 – 2564 ที่ให้ความสำคัญกับการดำรง รักษา ปกป้อง ฟื้นฟู และหยุดยั้งการคุกคาม ความหลากหลายทางชีวภาพ ส่งเสริมการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรพันธุกรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างเท่าเทียมและยุติธรรม และเพื่อให้บริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศให้เป็นเอกภาพ ครอบคลุมการส่งเสริมและสนับสนุนการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน สผ. ได้จัดทำ ร่าง พระราชบัญญัติความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. …. ขึ้น ขณะนี้อยู่ระหว่างนำเสนอคณะรัฐมนตรี

การขับเคลื่อนการอนุรักษ์และพัฒนาเชิงพื้นที่ การขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลก 5 แหล่ง และแหล่งในบัญชีรายชื่อเบื้องต้นของศูนย์มรดกโลก จำนวน 7 แหล่ง การประกาศพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม 9 แห่ง และประกาศเขตพื้นที่เมืองเก่า 36 เมือง เพื่อส่งต่อพื้นที่ที่มีคุณค่าให้กับคนรุ่นต่อไป

กองทุนสิ่งแวดล้อม เป็นกลไกหนึ่งที่สนับสนุนภาคเอกชนและท้องถิ่น ในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อาทิเช่น สนับสนุนภาคเอกชนในโครงการระบบจัดการเชื้อเพลิงชีวมวลและมลภาวะทางอากาศ โครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนคัดแยกขยะที่ต้นทางสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ และในการจัดการปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ได้สนับสนุนสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด ในโครงการบริหารจัดการเชื้อเพลิง “ชิงเก็บ ลดเผา” รวมทั้งสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังไฟป่าประมาณ 180 เครือข่าย และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) ในการจัดการปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ในพื้นที่ 16 จังหวัดภาคเหนือ รวม 49 แห่ง เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนพร้อมกันทั้งประเทศ

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าการดำเนินงานตามพันธกิจเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สผ. ยังคงสานต่ออย่างต่อเนื่องในทุกมิติ พร้อมสร้างการขับเคลื่อนและสนับสนุนการดำเนินงานของประเทศ เพื่อมุ่งมั่น สร้างสรรค์ และกำหนดยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายในการบริหารจัดการ ภายใต้การขับเคลื่อนการดำเนินงาน สผ. “ก้าวไปข้างหน้า สู่วิถีชีวิตใหม่ อย่างยั่งยืน”

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน