ทส. จับมือสภาอุตสาหกรรมฯ หนุน “ฉลากอีโค่พลัส” รูปแบบออนไลน์ สร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าที่ได้มาตรฐานสากล เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เมื่อวันที่ 6 ก.ย. ที่กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม(สส.) เปิดเผยว่า สส. ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ลงนามความร่วมมือ “การส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานพัฒนาฉลากสิ่งแวดล้อมและบริการที่เป็น มิตรกับสิ่งแวดล้อมประเภทรับรองตนเอง” ในชื่อ “ฉลากอีโค่พลัส” รูปแบบออนไลน์ เพื่อผลักดันผู้ผลิตสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ให้ได้รับการรับรองฉลากสิ่งแวดล้อม และได้นำเสนอสินค้าของตนเองแก่ผู้บริโภค

นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม(สส.)

เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าและบริการที่เป็น มิตรกับสิ่งแวดล้อม ในราคาไม่แพง เป็นการสร้างทางเลือกให้กับผู้บริโภคอีกทางหนึ่ง ซึ่งจะก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคสินค้าอย่างยั่งยืน ช่วยลดการใช้ทรัพยากร ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ฉลากอีโค่พลัส สส.ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ประเทศด้านการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และแผนขับเคลื่อนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน หรือ SCP Roadmap พ.ศ. 2560 – 2580 มุ่งเน้นการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และตอบสนองต่อการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวบนพื้นฐานการสร้างความสมดุลของการพัฒนาทั้ง 3 มิติ คือ ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

โดยนำโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งมุ่งเน้นหลักการของเศรษฐกิจหมุนเวียน มาปรับใช้ เกิดการใช้ทรัพยากรสูงสุด พร้อมทั้งสร้างจิตสำนึกและความตระหนักรู้ของประชาชนทั่วไป รวมถึงการส่งเสริมช่องทางในการเข้าถึงสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมผ่าน Green Card Application และช่องทางการตลาดออนไลน์ หรือ Green Market Place ซึ่ง สส. ได้ให้ความสำคัญกับทุกภาคส่วนในการดำเนินงานเพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ จะทำให้สินค้าประเภท Eco – Products มี ประเภทและปริมาณเพิ่มมากขึ้น จนเพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะในหน่วยงานภาครัฐและบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ซึ่งเป็นผู้นำในการจัดซื้อ จัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญรัฐควรมีมาตรการจูงใจให้ภาคเอกชนได้รับการลดหย่อนภาษี 200% จากการผลิตและซื้อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นกลไกที่สำคัญให้ผู้ผลิตและผู้บริโภค ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และเป็นการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน