‘ไทย’มุ่งมั่นแก้โลกร้อนบนเวที COP 26 จ่อระดมทุน 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หนุนประเทศกำลังพัฒนา เผยโลกร้อนอยู่ในระดับ Code Red อุณหภูมิสูงขึ้นแล้ว 1.1 องศาเซลเซียส และมีแนวโน้มสูงขึ้น 2.7 ภายในปี 2643

เมื่อวันที่ 27 ต.ค. ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จัดแถลงข่าว เรื่อง การวางกรอบท่าทีการเจรจาของไทยในการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 หรือ COP26 ระหว่างวันที่ 31 ต.ค. – 12 พ.ย. 64 ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร

นายวราวุธ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นวาระสำคัญแห่งชาติที่รัฐบาลให้ความสำคัญและต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน ยกตัวอย่างใกล้ตัวที่จ.สุพรรณบุรี ในปี 2564 มีน้ำท่วมในปริมาณที่เยอะกว่า 2554 ผ่านมา 10 ปี เห็นได้ชัดว่าโลกร้อนทวีความรุนแรงมากขึ้น สำหรับการประชุม COP26 ในปีนี้มีเป้าหมายที่ท้าทายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของโลก (global net zero emission) ภายในกลางศตวรรษ โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และตนจะเป็นผู้แทนประเทศไทย เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ด้วย เพื่อแสดงท่าทีและเจตนารมณ์ของรัฐบาลในการแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างจริงจัง

การประชุม COP 26 เป็นการประชุมเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้นำและผู้แทนระดับสูงของประเทศจาก 197 ประเทศ ได้แสดงความมุ่งมั่นและขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัวต่อโลกร้อน เพื่อปกป้องชุมชนและระบบนิเวศ การระดมทุนจากประเทศพัฒนาแล้วให้บรรลุตามเป้าหมายการเงิน 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐ/ปี เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของประเทศกำลังพัฒนา และการเร่งหารือให้ได้ข้อสรุปต่อประเด็น ที่ยังคงค้างภายใต้แผนการดำเนินงานภายใต้ความตกลงปารีส และยกระดับความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม

นายวราวุธ ระบุว่า ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ชี้ให้เห็นว่าสถานการณ์การโลกร้อน มีความเลวร้ายลงเรื่อยๆ ถือเป็น “Code red” ที่ต้องได้รับความสนใจ โดยรายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change หรือ IPCC) ล่าสุดชี้ให้เห็นว่าเกิดผลกระทบต่อทุกภูมิภาคของโลกทั้งการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ การละลายของน้ำแข็ง และการเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเล

“โดยอุณหภูมิของโลกได้เพิ่มสูงขึ้นแล้ว 1.1 องศาเซลเซียส จากระดับในยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนั้น รายงาน NDC Synthesis report ยังแสดงให้เห็นว่า เป้าหมายการดำเนินงานที่ประเทศต่าง ๆ จัดส่งภายใต้ความตกลงปารีส (NDCs) ยังไม่เพียงพอที่จะควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิน 2 หรือ 1.5 องศาเซลเซียส แต่มีแนวโน้มจะนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิประมาณ 2.7 องศาเซลเซียส ภายในปี ค.ศ. 2100 หรือ พ.ศ. 2643”

นายวราวุธ กล่าวอีกว่า โดยการประชุม COP26 ประเทศไทยจะเน้นย้ำท่าทีและมีความพร้อมทำงานร่วมกับทุกภาคีเพื่อบรรลุเป้าหมายตามความตกลงปารีส พร้อมหารือทวิภาคี ร่วมกับสมาพันธรัฐสวิส เพื่อพัฒนาความร่วมมือในประเด็นด้านการลดก๊าซเรือนกระจก และประเทศไทยอยู่ระหว่างพิจารณานัดหมายการหารือร่วมกับ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา ถึงโอกาสการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกันต่อไป

การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนปีที่ผ่านมาของไทยแต่ละภาคส่วน ในปี 2562 ไทยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึงร้อยละ 17.49 จากกรณีปกติ หรือคิดเป็น 64.20 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า จากภาคพลังงานและการขนส่ง ซึ่งบรรลุตามเจตจำนงในการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ ที่ได้แสดงไว้ต่อกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติฯ ที่จะลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ ร้อยละ 7 จากกรณีปกติ ตั้งแต่ปี 2563 แล้ว และอาจเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 หากได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ

ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ระหว่างดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมาย NDC ที่ร้อยละ 20 – 25 จากกรณีปกติ ภายใน พ.ศ.2573 หรืออีก 9 ปีข้างหน้า เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศ ภายใต้แผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ พ.ศ.2564-2573

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน