ภาวะโลกร้อนกลายเป็นประเด็นที่ทั่วโลกกำลังมุ่งเน้นการแก้ไขเนื่องจากส่งผลต่อระบบนิเวศต่างๆที่เห็นผลกระทบได้ชัดเจนมากขึ้น ทั้งฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงไป ภาวะน้ำท่วมรุนแรง อากาศหนาวเย็นผิดปกติ น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ฯลฯ ปัจจัยดังกล่าวล้วนทำให้ทั่วโลกต่างมุ่งเน้นการพัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืนมากขึ้นโดยคำนึงถึงองค์ประกอบทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม

ความยั่งยืนไม่ใช่เพียงวาทกรรมสวยหรู หากแต่ต้องเกิดจากความร่วมมือทุกฝ่ายและต้องอาศัยเวลาเช่นเดียวกับการพัฒนา จ.ระยองสู่บ้านเราน่าอยู่ สังคมยั่งยืนที่เป็นความตั้งใจแน่วแน่ของสมาคมเพื่อนชุมชนซึ่งเกิดจาการรวมตัวของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุดคอมเพล็กซ์ (MTP) โดยการริเริ่มของ 5 กลุ่มบริษัทนำร่องได้แก่ กลุ่ม ปตท. เอสซีจี บีแอลซีพี ดาวประเทศไทย และ บมจ. โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่(GPSC) โดยมีเป้าหมายการพัฒนาระยองสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) ในระดับสูงสุด หรือระดับ “Happiness” เพื่อให้ระยองเป็นเมืองต้นแบบเมืองน่าอยู่คู่อุตสาหกรรมของประเทศไทย

ปัจจุบันสมาชิกสมาคมเพื่อนชุมชนมีทั้งสิ้น 17 กลุ่มบริษัทและผลการดำเนินงานตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ได้จับมือกับภาครัฐและชุมชนเพื่อยกระดับการพัฒนาทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมผ่านการดำเนินงานในหลายโครงการ โดย 1 ในโครงการที่สำคัญที่สอดรับกับวิสัยทัศน์ของสมาคมเพื่อนชุมชนคือ โครงการพัฒนาและยกระดับการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศหรือ Eco Industrial Town โดยเริ่มจากความมุ่งมั่นให้ทุกโรงงานในกลุ่มสมาชิกเป็นต้นแบบโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ(Eco Factory) โดยยึดมั่นในการประกอบกิจการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและขยายผลในรูปแบบเพื่อนช่วยเพื่อน

จากความร่วมมือดังกล่าวทำให้โรงงาน 76 แห่งในกลุ่มสมาชิกได้ผ่านการรับรองเป็นโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ครบ100% ในปี 2562 และได้ขยายความร่วมมือจาก Eco Factory มาสู่ภาคประชาสังคม โดยสมาคมฯได้ส่งเสริมให้ท้องถิ่นมีการพัฒนาตามแนวทางของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อาทิ โครงการ วัดเชิงนิเวศ (Eco Temple) และโรงเรียนเชิงนิเวศ (Eco School) เป็นต้น

นอกจากนี้จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ไทยต้องเผชิญการแพร่ระบาดนับตั้งแต่ปี 2563 จนถึงขณะนี้ สมาคมเพื่อนชุมชนยังคงไม่ได้ทิ้งเป้าหมายของความมุ่งมั่นในการสร้างบ้านเราน่าอยู่ สังคมยั่งยืนโดยยังคงสานต่อโครงการเดิมต่อเนื่องและยังให้ความสำคัญกับนโยบายที่มุ่งเน้นการเข้าไปสนับสนุนด้านสาธารณสุขในการดูแลชุมชนในพื้นที่จ. ระยอง เป็นสำคัญเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั้งระดับชุมชนและโรงงาน ทั้งการมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ สนับสนุนโรงพยาบาลต่างๆ ให้สามารถบริการประชาชนในพื้นที่ และมอบอุปกรณ์ในการป้องกันการแพร่ระบาดให้กับชุมชนและโรงเรียนในพื้นที่ รวมทั้งมอบถุงยังชีพให้กับชุมชนที่ได้รับผลกระทบ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมยังเป็นความท้าทายของ จ.ระยอง จากการที่ปัจจุบันชุมชนเมืองในพื้นที่มาบตาพุดคอมเพล็กซ์ มีการขยายตัวของชุมชนอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการย้ายถิ่นของประชากรที่เพิ่มมากขึ้น มีการระบายน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ ซึ่งคุณภาพน้ำทิ้งที่ระบายไม่เป็นไปตามมาตรฐาน มีปริมาณการระบายของเสียเกินศักยภาพรองรับของแหล่งน้ำในพื้นที่ เนื่องจากปัจจุบันระบบรวบรวมน้ำเสียเข้าสู่ระบบบำบัดยังไม่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ

ดังนั้นเร็วๆ นี้สมาคมเพื่อนชุมชนจึงเตรียมลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU)กับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องในจ.ระยองเพื่อดำเนิน โครงการบูรณาการจัดการปัญหาคุณภาพแหล่งน้ำสาธารณะ (คลองน้ำหู) เพื่อเป็นโมเดลในการร่วมกันดูแลและปรับปรุงคุณภาพน้ำในคลองน้ำหู โดยการจัดการมลภาวะทางน้ำที่เกิดจากอาคาร บ้านเรือน ร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรม และสถานประกอบการต่างๆให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อนำไปสู่การจัดการปัญหาคุณภาพแหล่งน้ำสาธารณะที่ยั่งยืนต่อไป

จะเห็นว่าโครงการต่างๆ ที่สมาคมเพื่อนชุมชนขับเคลื่อนนับเป็นบทบาทของภาคเอกชนที่จะเข้ามาบูรณาการร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและชุมชนในท้องถิ่นจ.ระยอง เพื่อยกระดับสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในการสร้างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้ทุกภาคส่วนอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืนที่จะเป็นต้นแบบสู่การพัฒนาจังหวัดอื่นๆต่อไปโดยเฉพาะในเขตพื้นที่พิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี)ที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนการลงทุน และเศรษฐกิจของประเทศ นับเป็นพื้นที่ดึงดูดการลงทุนในสายตาของนักลงทุนต่างประเทศ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน