แจกถุงยาง 2 ล้านชิ้น รับวาเลนไทน์ กทม.ลุยรณรงค์ป้องกัน เอชไอวี หลังพบป่วย “ซิฟิลิส-หนองใน” พุ่งสูงในรอบ 5 ปี

เมื่อวันที่ 10 ก.พ. ที่ศาลาว่าการกทม. นางป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย เปิดเผยว่า เนื่องในวันวาเลนไทน์ วันที่ 14 ก.พ.ของทุกปี กทม.จึงจัดกิจกรรมรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ตลอดเดือน เพื่อเผยแพร่ข้อมูล ความรู้ การปฏิบัติตนในทางที่ถูกต้อง และสร้างทัศนคติ เชิงบวกต่อการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย โดยการใช้ถุงยางอนามัย แก่เยาวชน นักเรียน นักศึกษาและประชาชนทั่วไป

ทำให้เกิดความตระหนัก เห็นความสำคัญ และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ และ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยจัดกิจกรรมรณรงค์ทั่วพื้นที่ทั้ง 50 เขต 69 ศูนย์บริการสาธารณสุข

ภายใต้แนวคิด “Start Safe SEX, Use Condom : รักปลอดภัยเริ่มที่ “ถุงยางอนามัย” รักปลอดภัย (Safe SEX ) : พกอุปกรณ์ป้องกันให้พร้อมใช้ตลอดเวลา ได้แก่ถุงยางอนามัย สารหล่อลื่น หน้ากาก อนามัย เจลแอลกอฮอล์

รวมถึงการทาความสะอาดร่างกาย ทั้งก่อนและหลังการ มีเพศสัมพันธ์ ป้องกันเอดส์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และโควิด-19 ใช้ถุงยางอนามัย (Use Condom) : ใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกวิธี ทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ พร้อมทั้งจัดเตรียมถุงยางอนามัย จำนวน 2 ล้านชิ้น ไว้แจกด้วย

จากสถานการณ์เอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ยังคงเป็นปัญหาที่คุกคามและส่งผลกระทบอย่างสูง โดยปี 2565 กทม. คาดประมาณว่าจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ยังมีชีวิตอยู่ 81,465 คน เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวน 1,128 คน

ขณะที่ปี2564 กทม. ได้รับรายงานโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จำนวน 6,450 ราย ซึ่งเป็นจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะโรคซิฟิลิส พบอัตราป่วย 40.64 คน ต่อประชากรแสนคน โดยในกลุ่ม เยาวชนอายุ 15 – 24 ปี มีอัตราป่วยโรคซิฟิลิสค่อนข้างสูงในรอบ 5 ปี จากปี 2558 พบอัตราป่วย 11 คน เพิ่มเป็น 50.4 คน ต่อประชากรอายุ 15 – 24 ปี แสนคนในปี 2563

และพบว่ามีอัตราป่วยด้วยโรคหนองในปี 2563 เท่ากับ 58.8 คน ต่อประชากรอายุ 15-24 ปี แสนคน ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในอนาคตสอดคล้องกับข้อมูลอัตราการใช้ถุงยางอนามัยในกลุ่มเยาวชนที่ยัง ค่อนข้างต่ำ

โดยผลจากการสำรวจการเฝ้าระวังพฤติกรรมเสี่ยงที่สัมพันธ์ กับการติดเชื้อเอชไอวี (BSS) ของกองระบาดวิทยาปี 2562 พบว่า เด็กนักเรียนอาชีวะชั้นปวช.2 (รวมทั้งหญิงและชาย) มีอัตราการใช้ถุงยางอนามัย เมื่อมีเพศสัมพันธ์ครั้งล่าสุด (กับคู่นอนทุกประเภท) เพียงร้อยละ 80.3

นอกจากนี้ผู้ป่วยด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ มีโอกาสติดเชื้อเอชไอวีได้ง่ายกว่าคนทั่วไป 5 – 9 เท่า จากข้อมูลข้างต้น แสดงให้เห็นว่าในอนาคต อาจพบอัตราการป่วยด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่สูงขึ้น ทั้งปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อม รวมไปถึงอัตราการติดเชื้อเอชไอวีที่ อาจจะสูงขึ้นได้

อย่างไรก็ตามกทม.ตั้งเป้าหมายยุติปัญหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ภายในปี 2573 โดยมีเป้าหมายหลัก ประกอบด้วย 1. ลดอัตราป่วยโรคหนองในให้ไม่เกิน 3 รายต่อประชากรแสนคน 2. ลดอัตราป่วยโรค ซิฟิลิสรายใหม่ให้ไม่เกิน 1 ราย ต่อประชากรแสนคน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน