ทส. เตือน! ห้ามรับซื้อทองแดงจากการเผา ห้ามเผาสายไฟในที่โล่งเด็ดขาด เหตุก่อมลพิษทางอากาศ ชี้ คนเผา-รับซื้อ มีความผิดโทษหลายกระทง

เมื่อวันที่ 21 มี.ค. นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ เปิดเผยว่า ฝุ่นละออง PM2.5 เป็นปัญหาที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญ และนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบนโยบายในการให้ความสำคัญกับการจัดการแหล่งกำเนิดมลพิษ ให้ป้องกันการก่อมลพิษก่อนการแก้ไขปัญหา

แต่จากการลงพื้นที่ติดตามการประกอบกิจการถอดแยกซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อเอาวัสดุมีค่าไปขายในหลายจังหวัด ยังพบการเผาซากผลิตภัณฑ์และเศษวัสดุที่เหลือจากการคัดแยก เช่น สายไฟ จอภาพแอลซีดี เศษพลาสติก โฟมฉนวนตู้เย็น ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ

ได้แก่ ฝุ่นละออง PM2.5 ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ก๊าซไฮโดรเจนคลอไรด์ ก๊าซฟอสจีน สารไดออกซิน ส่งผลกระทบต่อผู้ถอดแยกและประชาชนในชุมชนที่จะได้รับก๊าซพิษหรือฝุ่นละอองขนาดเล็กเข้าสู่ร่างกาย และการรับสัมผัสต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน จะทำให้เป็นอันตรายต่อร่างกายและเป็นสารก่อมะเร็ง

นายอรรถพล กล่าวว่า ปัญหาหนึ่งที่สำคัญคือ การเผาสายไฟขนาดเล็กในซากผลิตภัณฑ์ เพื่อคัดแยกทองแดง ซึ่งชาวบ้านมักจะรวบรวมไปเผาในบ่อขยะหรือตามที่รกร้าง ทองแดงที่คัดแยกได้จะถูกขายให้ร้านรับซื้อของเก่าในพื้นที่ ซึ่งจะส่งต่อไปยังร้านรับซื้อของเก่ารายใหญ่ ก่อนขายให้กับโรงหลอม โรงงานรีไซเคิลทองแดง

ดังนั้น รัฐบาลและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ จึงได้เดินหน้าจัดการปัญหาในเรื่องนี้ จากการประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) อบต.

และเทศบาลในพื้นที่เสี่ยงจังหวัดกาฬสินธุ์ บุรีรัมย์ อุบลราชธานี สมาคมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบจ. เทศบาล อบต.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า ผู้ประกอบกิจการร้านรับซื้อของเก่า ศูนย์รับซื้อทองแดง โรงหลอมและโรงงานรีไซเคิลทองแดง เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 65 ที่ผ่านมา เพื่อหาแนวทางร่วมกันในการแก้ไขปัญหาการเผาสายไฟขนาดเล็ก โดยมีข้อเสนอให้

1. อปท. ออกข้อบัญญัติท้องถิ่นเพื่อควบคุมการเผาในที่โล่งและให้ประกอบกิจการถอดแยกอย่างถูกต้อง 2. ให้ อปท. รวมชุมชนและผู้ประกอบการขนาดเล็กจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนและสนับสนุนเครื่องจักรบดย่อยสายไฟเพื่อใช้คัดแยกทองแดงแทนการเผา 3. ให้มีการประชาสัมพันธ์ถึงอันตรายที่เกิดจากการเผาสายไฟและขยะอิเล็กทรอนิกส์ 4. ห้ามการเผาสายไฟในที่โล่งอย่างเด็ดขาด

5.ให้ผู้ประกอบกิจการร้านรับซื้อของเก่าและโรงงานรีไซเคิลทองแดง ส่งขายทองแดงที่ได้จากการเผาที่รับซื้อหรือมีครอบครองไว้ภายใน 60 วัน และให้ยกเลิกการรับซื้อทองแดง ที่ได้จากการเผาอย่างเด็ดขาดต่อไป 6. ผู้ที่มีสายไฟขนาดเล็กให้ระบายไปสู่โรงงานหลอมทองแดง

หลังจากนี้จะมีการตรวจบังคับใช้กฎหมายต่อไป ทั้งนี้ ทุกภาคส่วนเห็นด้วยและพร้อมให้ความร่วมมือตามแนวทางที่เสนอและจะร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) เพื่อแสดงเจตนารมย์ร่วมกับ คพ.

“ผู้เผาสายไฟจะมีความผิดในหลายกฎหมาย อาทิ พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ร.บ. ลักษณะปกครองท้องที่ และผู้ที่รับซื้ออาจมีความผิดที่สนับสนุนการกระทำความผิด ซึ่งจะมีโทษทั้งจำคุกหรือการปรับ ขอให้ทุกฝ่ายให้ความร่วมมือและมาร่วมมือกันในการป้องกันและควบคุมการคัดแยกทองแดงจากสายไฟให้เป็นไปอย่างถูกต้อง ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม” นายอรรถพล กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน