ทส. ปรับโครงสร้างราชการ รองรับยุทธศาสตร์ชาติ บริบทการเปลี่ยนแปลงของโลก พร้อมจัดตั้งกรมด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แสดงความมุ่งมั่นของไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

เมื่อวันที่ 25 มี.ค. ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาโครงสร้างระบบราชการของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 1/2565

โดยมี นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดทส. ผู้บริหารระดับสูง ผู้แทนจากกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และสำนักงาน ก.พ.ร. ผ่านระบบวิดีโอ คอนเฟอร์เรนซ์

โดยการปรับปรุงโครงสร้างของสำนักงานปลัดกระทรวงฯ ในครั้งนี้ ได้มีการควบรวมกองการบิน รวมกับศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็น “ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัลและอากาศยาน” รวมทั้งจัดตั้งสถาบันการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ในการรวบรวมวิเคราะห์ วิจัย พัฒนา บริหารจัดการคลังข้อมูลองค์ความรู้และนวัตกรรมด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนบริหารจัดการดูแลพิพิธภัณฑ์ไม้มีค่า ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 65 ที่มอบหมายให้กระทรวงฯ เป็นผู้รับผิดชอบ ทั้งนี้ที่ประชุมมีมติเห็นชอบการปรับปรุงการแบ่งส่วนราชการดังกล่าว

โดยกลุ่มพัฒนาระบบบริหาร สำนักงานปลัดกระทรวงฯ จะรับข้อคิดเห็นจากที่ประชุมไปจัดทำเอกสารคำชี้แจงประกอบคำขอฯ ให้มีความชัดเจนและสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ก่อนนำส่งให้ สำนักงาน ก.พ.ร. ต่อไป

นายวราวุธ เผยว่า การปรับปรุงแบ่งส่วนราชการในครั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ รวมทั้งนโยบายสำคัญของประเทศ คือ BCG Model หรือ โมเดลเศรษฐกิจใหม่ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ตอบโจทย์ความต้องการของพี่น้องประชาชนในปัจจุบันและในอนาคต ท่ามกลางสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของกระแสโลก ที่นับวันกระทรวงทรัพยากรฯ จะมีบทบาทสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการดำเนินงานของ ทส.ยุคใหม่ จะต้องทำทันที และทำดีที่สุด มุ่งไปข้างหน้า มองถึงเป้าหมายในอนาคต ที่จะเกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชนและคนรุ่นต่อไป

นายวราวุธ ได้ให้ปรึกษาหารือกับ ก.พ.ร. ถึงการจัดตั้งกรมด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งปัจจุบันมีแล้วในหลายประเทศทั่วโลก เฉพาะในประเทศอาเซียนก็มีแล้วถึง 6 ประเทศด้วยกัน

ทั้งนี้ เพื่อแสดงให้นานาอารยประเทศได้เห็นถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการขับเคลื่อนการดำเนินงานทุกวิถีทางเพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน