นักวิเคราะห์การตลาด เปิดเผยมุมมองเกี่ยวกับการควบรวม “ทรู-ดีแทค” ว่า เป็นที่น่าสนใจว่า ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการโทรคมนาคมในประเทศไทยทุกรายมีการปรับโครงสร้าง เริ่มตั้งแต่ต้นปี 2564 ที่องค์การโทรศัพท์ (TOT) ควบรวม การสื่อสารแห่งประเทศไทย (CAT) ทำให้เป็นผู้เล่นที่มีความแข็งแกร่งชื่อ NT มีทรัพย์สินสูงสุดในอุตสาหกรรมกว่า 3 แสนล้าน และมีคลื่นในมือมากที่สุด และในกลางปี 2564 กลุ่ม AIS ผู้เล่นรายที่สอง มีการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้น เสริมแกร่งโดยกลุ่ม GULF เข้ามาถือหุ้น AIS และกลุ่มสุดท้ายคือ การควบรวมทรู และดีแทค ทำให้เกิดเป็นบริษัทที่เน้นเรื่องเทคโนโลยี ซึ่งหลังควบรวมจะทำให้ผู้ประกอบการทั้งสามราย มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูสีเท่าเทียมกันมากขึ้น การวิเคราะห์ความสามารถในแข่งขันและประโยชน์ต่อผู้บริโภคกับจำนวนผู้ประกอบการในธุรกิจโทรคมนาคมหลังผู้เล่นหลัก 3 ราย มีการปรับตัว ปรับโครงสร้าง เพื่อรองรับการแข่งขันในยุคดิจิทัล

จากบทความ Intelligent Economist ชี้ให้เห็นข้อดีของตลาดที่มีผู้เล่นรายใหญ่ ที่มีขนาด และมีขีดความสามารถในการแข่งขันใกล้เคียงกัน จะมีการแข่งขันที่สูงกว่าตลาดที่มีผู้นำเดี่ยว โดยปัจจัยส่งผลต่อการแข่งขันคือ Economy of Scale คือ ขนาดส่วนแบ่งตลาดใหญ่พอที่จะถึงจุดคุ้มทุน เนื่องจากธุรกิจโทรคมนาคมมีต้นทุนค่าคลื่น และการลงทุนเครือข่ายสูงมาก ทำให้ผู้ประกอบการทุกรายต้องมีส่วนแบ่งตลาดขนาดใหญ่พอรับกับต้นทุนที่สูงและต้องลงทุนต่อเนื่อง

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าค่าเฉลี่ยในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมทั่วโลก หากผู้ประกอบการไม่สามารถมีส่วนแบ่งตลาดถึง 30% สุดท้ายจะไม่สามารถทำกำไรได้ และต้องออกจากอุตสาหกรรมไปในที่สุด ดังนั้นการที่ผู้ประกอบการในธุรกิจโทรคมนาคมไทยมีส่วนแบ่งทางการตลาดเชิงมูลค่าใกล้เคียงกันถือเป็นผลลัพธ์เชิงบวกต่อผู้บริโภค เมื่อการแข่งขันใกล้เคียงกัน ก็จะทำให้มีโปรโมชั่นใหม่ๆ ออกมาให้ลูกค้าได้มากขึ้น

1) กรณีมีผู้เล่นรายใหญ่ 2 ราย ที่ใกล้เคียงกัน

-หลังการควบรวม ทรู ดีแทค จะทำให้มีความสามารถในการแข่งขันใกล้เคียงกับเอไอเอส ทำให้การลงทุนใหม่ มีความใกล้เคียงกัน การปรับสู่เทคโนโลยีได้มากขึ้น ต่างจาก ผู้เล่นรายเล็ก ที่สร้างความต่อเนื่องด้านการลงทุนไม่ได้ และไม่มีเงินลงทุนมากพอในการขยายการให้บริการ
– หากผู้นำ 2 รายมีความใกล้เคียงกัน จะสามารถกำหนดราคาที่ต่ำที่สุด เพื่อแย่งส่วนแบ่งตลาดจากคู่แข่ง ผู้บริโภคจะได้ประโยชน์จากราคาที่ต่ำลง เนื่องจากมี scale ลูกค้าที่ใหญ่เพียงพอ ในการแบกรับต้นทุน
– ผู้เล่นทั้ง 2 ราย จะต้องแข่งกันพัฒนาตัวสินค้าหรือเทคโนโลยี โดยผู้บริโภคจะได้สินค้าที่มีประสิทธิภาพดีขึ้น ในขณะที่ราคาถูกกำหนดไว้ระดับหนึ่ง
– ถึงแม้จะมีผู้เล่น 2 ราย แต่ก็มีหน่วยงานที่เป็นผู้กำกับดูแลด้านราคา ทำให้ผู้บริโภควางใจว่า จะไม่เกิดการฮั้วเรื่องราคา จนเกินเพดานที่กำหนด

2) กรณีผู้เล่นรายใหญ่ 1 ราย และรายเล็ก 2 ราย

– จะมีความเข้าใกล้การผูกขาดโดยธรรมชาติ เนื่องจากรายใหญ่ซึ่งมี economy of scale สูงที่สุด ทำให้ไม่จำเป็นต้องลดราคา ก็สามารถสร้างความได้เปรียบจากจำนวนส่วนแบ่งตลาดเชิงมูลค่าที่ทิ้งขาดคู่แข่ง
– ในขณะที่รายเล็ก 2 ราย ที่มีส่วนแบ่งตลาดที่ไม่ใหญ่พอ มีรายได้ไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายและต้นทุนที่สูง
– รายใหญ่จะมีอำนาจในการกำหนดราคาที่รายใหญ่ได้เปรียบที่สุด ในขณะที่รายเล็กไม่สามารถแข่งขันได้ต้องออกจากตลาดไป เพราะไม่มีเงินในการลงทุนใหม่ในเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
– ธุรกิจโทรคมนาคมทั่วโลกมักจะมีผู้ให้บริการ อับดับหนึ่งและอันดับสองที่มีขนาดใกล้เคียงกัน

สาเหตุที่ทำให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมต้องปรับโครงสร้างเพื่อให้พร้อมต่อการแข่งขัน มีปัจจัยดังต่อไปนี้คือ ธุรกิจโทรคมนาคมไทยมีต้นทุนการลงทุนสูง แต่ยากในการสร้าง Economy of Scale สำหรับรายเล็กการศึกษาของ European Investment Bank พบว่าในธุรกิจโทรคมนาคมมีการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งกระทบต่อผู้เล่นรายเดิมที่มีความเสี่ยงจากการต้องลงทุนในเทคโนโลยีใหม่จำนวนมหาศาล

นอกจากนั้น K-Research รายงานว่า ราคาตั้งต้นการประมูลคลื่น 5G ของไทยสูงติด 3 อันดับแรกของโลก เช่น คลื่นความถี่ 2600 MHz มีราคาเริ่มต้นที่ 1,862 ล้านบาท ขณะที่ประเทศอื่น ส่วนใหญ่มีราคาต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ การลงทุนโครงข่าย 5G จะอยู่ในระดับที่สูงกว่าโครงข่าย 4G ราว 1.8 เท่า โดยผู้เล่นในไทยต้องมีการลงทุนกว่า 60%-70% ภายในระยะเวลา 3-4 ปีแรก ตามเงื่อนไขของภาครัฐ ด้วยเหตุนี้ผู้เล่นรายใหญ่สุดจะกลายเป็นผู้กำหนดราคาตลาด เพราะสามารถสร้าง economy of scale จากการลงทุนได้มากที่สุด แต่รายเล็กเสี่ยงขาดทุนต่อเนื่องจนต้องออกจากธุรกิจ หรือตอบโต้ด้วยการ M&A เพื่อการ Synergy และสร้าง scale ให้ยังสามารถแข่งขันได้

ธุรกิจโทรคมนาคมเป็นธุรกิจลงทุนสูง และต้องลงทุนต่อเนื่อง อาศัยระยะเวลาในการคืนทุนนานกว่าธุรกิจอื่น การแข่งขันของผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมเป็นการแข่งขันเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัลกับผู้เล่นระดับภูมิภาคและระดับโลก เกิดการแข่งขันอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ การวัดส่วนแบ่งการตลาดไม่ได้นับตามจำนวนตัวเลขผู้ใช้บริการ (Market Share) แต่ควรวัดที่มูลค่าตลาด (Market Value) หรือรายได้จากการใช้บริการถึงจะเป็นตัวเลขที่แท้จริง และผู้ให้บริการไม่ว่าจะรายเล็กหรือรายใหญ่ ไม่สามารถปรับอัตราค่าบริการเองได้ตามอำเภอใจ เป็นอำนาจหน้าที่ของ “กสทช.” โดยชอบด้วยกฎหมายในการควบคุมดูแลการกำหนดอัตราค่าบริการให้เป็นธรรมต่อผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการโดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ ดังนั้น การปรับตัวสู่ผู้ประกอบการแข็งแกร่ง 3 รายในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยคือประโยชน์ของผู้บริโภคอย่างแท้จริง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน