เปิดมุมมอง ดร.สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ ระบุการควบรวม “ทรู-ดีแทค” กระตุกรัฐมองระยะยาว ยกเคสเทียบต่างประเทศที่เกิดขึ้นสหรัฐฯ กรณี AT&T และ T-Mobile หวั่นกระทบผู้บริโภค

เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565 ดร.สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล นักวิชาการเศรษฐศาสตร์อิสระ เปิดเผยถึงบทบาทหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต่อการควบรวมกิจการของ “ทรูและดีแทค” ในทางเศรษฐศาสตร์ว่า การแข่งขันที่ยังคงมีอยู่จะเกิดประโยชน์อย่างน้อย 3 เรื่อง คือ 1.ทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์ เช่น สินค้าถูกลงบริการดีขึ้น หากมีคู่แข่งจำนวนมากทุกคนต้องแข่งกันเพื่อนำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดให้ลูกค้า ทำให้ลูกค้ามีอำนาจในการตัดสินใจ 2.เกิดประโยชน์ในแง่การจัดสรรทรัพยากร เนื่องจากมีจำกัด เช่น คลื่นที่มีอย่างจำกัด ถ้ามีการแข่งขันผู้ผลิต หรือธุรกิจใดก็ตามต้องคิดหานวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆ มาทำให้การใช้ทรัพยากรมีประสิทธิภาพคุ้มค่ามากขึ้น เกิดประโยชน์กับส่วนรวม 3.การแข่งขันทางธุรกิจทำให้พนักงานหรือแรงงานในอุตสาหกรรมได้ค่าจ้างที่ดีขึ้น เพราะทุกธุรกิจต้องดึงดูดแรงงานคุณภาพสูง นี่คือประโยชน์ที่เกิดจากการแข่งขัน

ดร.สิทธิพล ระบุถึงผลกระทบจากการควบรวมกิจการว่า อุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยนั้นที่มีอยู่น้อยรายอยู่แล้ว หากเหลือ 2 เจ้าจะทำให้การแข่งขันน้อยลง มีการประเมินโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) วัดการกระจุกตัวของอุตสาหกรรม พบว่า ถ้ามีการควบรวมแล้วทำให้อุตสาหกรรมกระจุกตัวและผูกขาดมากขึ้น ทำให้เกิดผลเสียต่อผู้บริโภคอย่างน้อย 4- 5 เรื่อง คือ มีแนวโน้มที่คุณภาพบริการจะแย่ลง ราคาจะพุ่งสูงขึ้น การใช้ทรัพยากรไม่คุ้มค่าไม่มีประสิทธิภาพ ผู้ผลิตขาดแรงจูงใจที่จะพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ๆ เพราะไม่จำเป็นต้องแข่งขันกัน แรงงานในอุตสาหกรรมขาดแรงจูงใจที่จะพัฒนาตัวเอง เสียโอกาสที่จะได้ค่าจ้างที่ดีขึ้น เพราะธุรกิจไม่ได้แข่งขันกัน ดังนั้น การควบรวมของทรูและดีแทคจะเกิดผลเสียกับทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิต ยังไม่รวมคู่ค้ากับค่ายมือถือก็มีโอกาสถูกบีบมากขึ้น เพราะมีอำนาจต่อรองต่ำลง เรียกว่าการควบรวมเกิดผลกระทบกับทั้งผู้บริโภคสังคมส่วนรวม รวมถึงคู่ค้าที่เกี่ยวข้องกระทบทั้งอุตสาหกรรม

@ ผลกระทบระยะยาวต่ออุตสาหกรรม

ดร.สิทธิพล ชี้ว่า ส่วนผลกระทบที่จะเห็นระยะยาว กล่าวคือ ในอนาคตจะมีการประมูลคลื่นความถี่ เช่น 6G ก็มีแนวโน้มสูงที่ภาครัฐจะได้ค่าประมูลที่ต่ำลง เพราะเอกชนไม่มีแรงจูงใจแข่งขันกัน ขณะเดียวกัน เรากำลังก้าวสู่อุตสาหกรรมดิจิทัล ทุกธุรกิจต้องใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมและคลื่นความถี่ การที่ผู้แข่งขันมีแนวโน้มแข่งขันกันน้อยลงค่าบริการแพงขึ้น ทำให้ทุกธุรกิจทุกอุตสาหกรรมมีต้นทุนสูงขึ้นในการเข้าสู่ยุคดิจิทัล ที่สำคัญเราอยู่ในยุคข้อมูลข่าวสารใครมีข้อมูลมากคนนั้นได้เปรียบที่มีแต้มต่อในการแข่งขันการผูกขาดที่มากขึ้นและเป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับข้อมูล เมื่อข้อมูลของผู้บริโภคอยู่กับผู้ให้บริการน้อยเจ้าก็มีแนวโน้มสูงที่ผู้ให้บริการจะผูกขาดได้มากผู้บริโภคมีอำนาจต่อรองต่อรองได้น้อยและการผูกขาดในเชิงข้อมูลก็ทำให้เกิดการผูกขาดในอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องไปอีกไม่ใช่แค่อุตสาหกรรมมือถือเท่านั้น

@ กรณีควบรวม “ค่ายมือถือสหรัฐ” ที่ภาครัฐไทยควรศึกษา

นักวิชาการเศรษฐศาสตร์อิสระ ระบุด้วยว่า เรามีกรณีตัวอย่างเมื่อ 10 ปีที่แล้วในสหรัฐอเมริกา ซึ่งภาครัฐเคยระงับคำขอควบรวมระหว่างบริษัท AT&T และ T-Mobile เนื่องจากเห็นว่าการควบรวมมีแนวโน้มสูงที่ผู้บริโภคจะได้รับผลกระทบราคาจะแพงขึ้น เทคโนโลยีจะไม่ได้รับการแข่งขันหรือพัฒนา สุดท้ายถูกเบรกไป นอกจากนี้ อยากแชร์ข้อมูลว่าการควบรวมแย่ไปทั้่งหมดหรือไม่ จริงๆในแง่ธุรกิจการควบรวมสามารถก่อให้เกิดประสิทธิภาพที่ดีขึ้นได้ หรือแข่งขันมากขึ้นเกิดประโยชน์กับผู้บริโภคได้ เพียงแต่การควบรวมในลักษณะที่คู่แข่งมีน้อย การควบรวมลักษณะนี้ทำให้คู่แข่งรายใหม่เข้าสู่อุตสาหกรรมลำบากจาก 3 เหลือ 2 เจ้า ในธุรกิจเทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคมที่เข้ามาสู่ตลาดยากอยู่แล้ว สำหรับผู้แข่งรายใหม่การผูกขาดยิ่งมีโอกาสต่ำมาก ที่ผู้แข่งรายใหม่เข้าสู่ตลาด ฉะนั้นการควบรวมถ้าเกิดจากการทำให้เทคโนโลยีดีขึ้นเราก็สนับสนุนให้เกิดขึ้น แต่ในแง่ของการกำกับดูแลถ้าจำเป็นต้องมีการควบรวมกติกาชัดเจน

@ แนะภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดูผลกระทบผู้บริโภคเป็นที่ตั้ง

“ในฐานะรัฐบาล หรือ กสทช.ที่มีหน้าที่ในการกำกับดูแลอยากให้ยึดหลักให้มั่นว่าต้องเป็นประโยชน์ คือ ผู้บริโภคต้องมั่นใจว่าการควบรวมผู้บริโภคไม่ได้รับผลกระทบ ในเชิงราคาในเชิงคุณภาพในเชิงเทคโนโลยีที่จะได้รับและในเชิงสังคมส่วนรวม ภาครัฐต้องรับประกันว่าถ้ามีการประมูลในยุคถัดไปจะได้เงินนำส่งรัฐไม่ต่ำกว่าเดิม อันนี้เป็นสิ่งที่ กสทช.ต้องกำกับ นอกจากนี้สำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ก็ควรมีบทบาทเข้ามาดูว่าการควบรวมนี้มีโอกาสที่จะส่งผลลบต่อผู้บริโภคหรือไม่ เป็นหน้าที่ของภาครัฐทุกส่วนที่ต้องเกี่ยวข้อง” ดร.สิทธิพล กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน