ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในกิจการประมงทะเล ในอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรและอาหารเพื่อการส่งออก อุตสาหกรรมก่อสร้าง และท่องเที่ยวและบริการ

เป็นปัญหาที่หลายหน่วยงานได้รับผลกระทบ เช่น สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย

ได้ออกมาเรียกร้องให้ภาครัฐเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยให้ข้อมูลว่าหลังจากที่รัฐบาลได้มีนโยบายเปิดประเทศเต็มรูปแบบ ควบคู่ไปกับการส่งเสริม “กิจกรรมทางเศรษฐกิจ” ส่งผลให้มีความต้องการใช้แรงงานต่างด้าวประมาณ 3 ล้านคน ซึ่งปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวทำงานถูกต้องอยู่ในราชอาณาจักรประมาณ 2.5 ล้านคน ยังขาดแคลนแรงงานกว่า 5 แสนคน

รัฐบาลโดยการนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน มีนโยบายนำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ลาว กัมพูชา เมียนมา และเวียดนาม เข้ามาทำงานในราชอาณาจักร

ซึ่งเป็นงานที่คนไทยไม่นิยมทำ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และลดปัจจัยการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย โดยเมื่อวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา ครม. ได้เห็นชอบเรื่องการนำเข้าแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนามแล้ว

เพื่อรองรับการฟื้นฟูประเทศ สอดรับกับก่อนหน้านี้ ที่ประชุม ศบค. เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2565 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเห็นชอบปรับมาตรการเดินทางเข้าประเทศโดยยกเลิกการกักตัวทุกรูปแบบเพื่อรองรับการเปิดประเทศและการฟื้นฟูเศรษฐกิจ

และกระทรวงแรงงานได้เปิดให้แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ลาว กัมพูชา เมียนมา ที่เข้ามาทำงานตาม MOU ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ รวมทั้งแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานแบบไปกลับหรือตามฤดูกาล (มาตรา 64) เข้ามาทำงานในประเทศไทยโดยไม่ต้องกักตัว
ตามแนวทางของ ศบค.

ทั้งนี้ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ออกมาชี้แจงว่า รัฐบาลมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อฟื้นฟูประเทศไทยอย่างเร่งด่วน แรงงานต่างด้าวกลายเป็นแรงงานที่มีความสำคัญเข้ามาทำงานทดแทนในตำแหน่งที่ขาดแคลนสำหรับอุตสาหกรรมการผลิต และแปรรูปสินค้าเกษตร อาหารแช่แข็งเพื่อการส่งออก อุตสาหกรรมก่อสร้าง และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ

จึงจำเป็นต้องมีมาตรการยกเว้นและปรับแก้ไขกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้แรงงานประเทศเพื่อนบ้านที่ประสงค์จะทำงานสามารถทำงานอยู่ในราชอาณาจักร เพื่อให้ภาคธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศขับเคลื่อนต่อไปได้ จากมติ ครม. เมื่อวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา เป็นการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว โดยให้นายจ้างที่จ้างแรงงานข้ามชาติ 4 สัญชาติ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม

ที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ยื่นบัญชีรายชื่อแจ้งความต้องการแรงงานฯ ต่อกรมการจัดหางาน ผ่านระบบออนไลน์ หลังดำเนินการตามขั้นตอนเสร็จสิ้นจะทำงานและอยู่ทำงานได้ถึง วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 หากต้องการทำงานต่อไป ให้ยื่นขอต่อใบอนุญาตทำงานและดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนด ก่อนใบอนุญาตเดิมสิ้นอายุ โดยนายทะเบียนจะอนุญาตให้ทำงานคราวละ 1 ปี รวม 2 ครั้ง ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568

สำหรับการยื่นขอต่อใบอนุญาตทำงานแรงงานต่างด้าวภายหลังวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 แบ่งแรงงานข้ามชาติที่ใบอนุญาตทำงานหมดอายุวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 เป็น 2 กลุ่ม

1. กลุ่มที่รับการตรวจลงตราหรือตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรฯ ภายในวันที่ 1 สิงหาคม 2565 หากต้องการทำงานต่อไป ให้ยื่นขอต่อใบอนุญาตทำงานและดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนด ก่อนใบอนุญาตเดิมสิ้นอายุ เพื่อทำงานได้อีก 2 ปี ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568

2. กลุ่มที่รับการตรวจลงตราหรือตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรฯ ภายหลังวันที่ 1 สิงหาคม 2565 หากต้องการทำงานต่อไป ให้ยื่นขอต่อใบอนุญาตทำงานและดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนด ก่อนใบอนุญาตเดิมสิ้นอายุ โดยนายทะเบียนจะอนุญาตให้ทำงานคราวละ 1 ปี รวม 2 ครั้ง ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568

จะเห็นได้ว่ามติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 เป็นการแก้ไขปัญหาได้หลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ปัญหาการลักลอบเข้าเมืองของคนต่างด้าว นายจ้างสามารถจ้างงานคนต่างด้าวทำงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนคนต่างด้าวสามารถอยู่ในราชอาณาจักรเพื่อการทำงานได้อย่างถูกต้อง และได้รับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์และสวัสดิการตามที่กฎหมายกำหนด

ซึ่งส่งผลให้ศักยภาพในการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกเป็นไปในทางที่ดีกระบวนการผลิตเดินหน้าต่อไปได้ การพัฒนาฟื้นฟูประเทศในด้านโครงสร้างพื้นฐานสำหรับกิจการก่อสร้างขนาดใหญ่ไม่หยุดชะงัก ส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ และสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน