เปิดมุมมอง นักคิด นักเขียน นักถ่ายทอดที่ดี มีแนวคิดสร้างสรรค์กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เมื่อโลกเปลี่ยน นักเขียน (บท) ต้องปรับ

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พร้อมด้วย ศัลยา สุขะนิวัตติ์ นายกสมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์ รวมทั้งเครือข่ายภาคี นักเขียนบทละครโทรทัศน์มืออาชีพ และบุคคลที่สนใจ จัดเวทีร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ สำหรับนักเขียนบทละครโทรทัศน์มืออาชีพ เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตสื่อโดยเฉพาะผู้ผลิตสื่อในระดับมืออาชีพให้มี มุมมองใหม่ๆ เป็นนักคิด นักเขียน และนักถ่ายทอดที่ดี มีกรอบแนวความคิดสร้างสรรค์กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม

ศ.ดร. อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับวิทยากรรับเชิญ ศิริลักษ์ ศรีสุคนธ์ พูดคุย ในหัวข้อ “Update ประเทศไทย การเปลี่ยนแปลงสังคมไทย ความท้าทายที่ต้องเผชิญ” ซึ่งได้ให้ความเห็นว่า เราต้องเข้าใจและมองเห็นความเปลี่ยนแปลงของสังคม ที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ความรู้กับความรู้สึกเกี่ยวกับสังคมไทย เป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจ กระบวนการคิดหลัก และการทำให้ชะตากรรมเป็นเรื่องของปัจเจกชน เราต้องสร้าง “Social Empathy” (ความเห็นอกเห็นใจร่วมทางสังคม) ให้มากขึ้น

อาชีพคนเขียนบทมีอำนาจในการขับเคลื่อนสังคม สามารถสร้างเนื้อหาให้เกิดความเข้าใจที่ดีของคนในสังคมด้วย ดังนั้น “เราควรทำงานให้ดีไว้ก่อน แล้วถ้าดีสำเร็จก็จะเป็นเรื่องดี” และการสร้างงานเขียนและละครให้ถูกใจคนรุ่นใหม่ ต้องเปิดทางให้ผู้ชม ตีความได้เอง เน้นความกระชับของเนื้อหา เป็นเนื้อเรื่องที่ทำให้เขาสามารถนำประสบการณ์ของตนเองมาทาบได้

ศ.พรรัตน์ ดำรุง อาจารย์ภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า อย่ามุ่งเรื่องส่งออกทางวัฒนธรรมเพียงอย่างเดียว ต้องเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่มีพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมและแสดงออก หรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้ วัฒนธรรมใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองตนเองและทุน เช่น วัฒนธรรมการทอดกฐิน เป็นการสร้างกิจกรรมเพื่อให้คนมารวมตัวกันและร่วมแรงร่วมใจในการหาเงินเข้าวัด หรือวัฒนธรรมการผูกเสี่ยว ที่ทำให้เกิดการบวงสรวงและทำให้ผู้เข้าร่วมได้แต่งตัวสวยงาม เป็นการประดิษฐ์ที่กระตุ้นให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจของชุมชน และการเล่าเรื่องวัฒนธรรม

เราเลือกมาขายได้แต่ต้องรู้ว่าต้องขายแบบไหน และต้องเป็นสากล มีสาระที่สะเทือนใจคนทั่วโลก เช่น โนรายูเนสโกรับขึ้นทะเบียนโนราเป็นพิธีกรรมในการดูแลบรรพชนของภาคใต้ และเป็นวัฒนธรรมร่วมของคนทั้งโลกในเรื่องการดูแลบรรพชน

ชัยรัตน์ พิพิธพัฒนาปราปต์ เล่าว่าการเขียนนิยายส่วนตัวไม่ได้ผูกโยงกับศีลธรรม จริยธรรม หรือบรรทัดฐานทางสังคมมากนัก เพราะมองว่าเรื่องเหล่านี้ไม่ได้มีมาตรฐานเดียว และเรื่องที่เขียน ส่วนใหญ่จะเกิดจากการ “ตั้งคำถาม” กับสิ่งต่างๆ ที่เห็นในสังคม เช่น ปัญหาผู้ลี้ภัย ความเหลื่อมล้ำ ความเท่าเทียมกันทางเพศหลักคิดในการเป็นนักเขียนของตัวเองคือ

อย่ามัวแต่ทำงานเขียนและอ่านงานตัวเองจนไม่มีเวลาอ่านงานคนอื่นหรือเยียวยาตนเอง ไม่ยึดติดกับศีลธรรม (moral) แบบเดิม ๆ เพราะมองว่า “ศีลธรรม” จะขึ้นอยู่กับบริบทของเรื่องราวมากกว่า งานที่เขียนออกมา และการเขียนบทต้องทำให้ลูกค้า (audience) มีความสนุกก่อนแล้วเราได้พูดในสิ่งที่เราอยากพูดด้วยเช่นกัน และเชื่อว่าการ“ข่มขืน” ในละครทำได้ หากเป็นการสะท้อนปัญหาสังคม แต่ควรหลีกเลี่ยงภาพที่รุนแรงและไม่ควร romanticize (ข่มขืนแล้วมารักกันในตอนจบ) fact ก็สามารถนำมาร้อยเรียงให้สนุกได้ เช่นกัน

ธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย กล่าวว่า นักเขียนบทต้องเป็นคนสร้างแบรนด์ ต้องเขียนอะไรก็ได้ ไม่ยึดติดกับแนวทางเดิม เน้นสร้างตัวตนของตัวเองขึ้นมาให้ได้ ทักษะของนักเขียนบทในปัจจุบันคือ “critical thinking” หรือทักษะการคิดวิเคราะห์ เราต้องรู้ว่าเราต้องทำอะไรจึงจะอยู่รอดได้ อีกทักษะที่สำคัญคือ “adaptability” หรือทักษะในการปรับตัว และ “resilience” ทักษะการรับมือ

การเป็นนักเขียนที่ดี ต้องยอมรับ feedback จากคนอื่น เพื่อจะได้ปรับตัวให้ได้เร็วที่สุด ถ้าเราไม่สามารถยอมรับคำวิจารณ์และปรับตัวได้ เราก็จะค่อยๆ ตายไป นักเขียนบทที่ดีต้องไม่ทำตัวเป็นกบต้ม ที่รอให้น้ำร้อนก็ตายไปแล้ว ปัจจุบันค่านิยมในสื่อต่างๆ มีขึ้น – ลง และเสื่อมเร็วมาก เห็นได้จาก club house ดังนั้น คนเราต้องสร้าง “S curve” อยู่ตลอดเวลา ส่วน Price ก็จะลดลง ถ้ารายได้หรือค่าบริการในการเขียนของเรายังคงเท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้น

นที เอกวิจิตร (อุ๋ย บุดด้าเบลส) มองว่า ศาสนาเป็นเรื่องของเหตุผล การทำเพลงของตัวเองก็ชอบจะให้มีมุมมองทางบวก อยากให้มันมีความสนุกก่อนแล้วเอาสาระมาใส่ทีหลัง บางทีเราก็ต้องปรับเนื้อหา และหาวิธีใส่สาระลงไปให้อร่อย ไม่ได้ปรุงยาขมแต่เป็นการปรุงยาหวาน การสื่อสารเรื่องธรรมะกับคนรุ่นใหม่ ก็เช่นกัน ต้องมองอย่างเข้าใจและพยายามตอบเขาแบบที่เราเข้าใจ ละครที่ให้ข้อคิด ให้ประโยชน์กับคนดู ควรให้คนดูคิดและตกตะกอนด้วยตัวเอง มากกว่าจะมาบอกคนดูว่าต้องทำอะไรหรือไม่ทำอะไร ไม่อยากให้ทำเนื้อหาที่มี ทำ hate speech หรือไม่อยากให้มี fake news

เช่น ถ้าเราจะพูดเรื่องพระไม่ดีอย่างเดียว (ในสื่อ) จะเหมือนเป็นการประจาน เห็นว่าเราควรนำเสนอทั้งสองด้าน ทั้งพระดีและไม่ดี เพราะศาสนาพุทธเองก็ไม่เคยสอนให้เรามองโลกในแง่ดีเพียงอย่างเดียว ในอนาคตสื่อออนไลน์จะเป็นสิ่งที่ปิดกั้นไม่ได้แล้ว คนรุ่นใหม่จะรู้ได้เองว่ายังมีเรื่องราวเหล่านี้อยู่ในสังคม

ซึ่ง “บท” คือสิ่งที่มีผลมากที่สุดในการทำละคร ต่อให้โปรดักชันดี นักแสดงดี บทไม่ดี ละครก็ประสบผลสำเร็จได้ยาก แต่ถ้าบทดี การที่จะประสบผลสำเร็จก็มีมากกว่า คนทำบทก็ได้รับผลประโยชน์สมน้ำสมเนื้อ จะมีคนสนใจในอาชีพนักเขียนบทมากขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน