โฆษก สพฐ.ตร. ห่วงประชาชนจากเหตุ ไฟไหม้ ยัน ป้องกันได้ วอน ตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าและเครื่องใช้ภายในบ้านให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานเสมอ

วันที่ 2 ส.ค.2565 ที่สำนักงานพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สพฐ.ตร.) พล.ต.ต.วาที อัศวุตมางกุร โฆษกสำนักงานพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (โฆษก สพฐ.ตร.) กล่าวว่า ในช่วงนี้มีเหตุเพลิงไหม้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง สร้างความเสียหายและความสูญเสีย อย่างเช่นเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.2565 เกิดเพลิงไหม้บ้านเรือนประชาชนภายในชุมชนบ่อนไก่ ถนนพระราม 4 กรุงเทพฯ มีบ้านเรือนได้รับความเสียหาย 30 หลัง ส่วนคอนโดบริเวณใกล้เคียงก็ได้รับผลกระทบจากความร้อน

พล.ต.ต.วาที กล่าวต่อว่า ซึ่งเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตปทุมวันและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้อำนวยความสะดวกให้กับผู้ได้รับความเสียหายในเบื้องต้น โดยการตั้งโต๊ะรับแจ้งความในพื้นที่เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อน หรือย้อนกลับไปกับเหตุสลดกลางดึกของคืนวันที่ 21 พ.ค.2565 เกิดเพลิงลุกไหม้บ้านหลังหนึ่ง ต.บ่อพลับ อ.เมือง จ.นครปฐม

โฆษก สพฐ.ตร. ห่วงประชาชนจากเหตุ ไฟไหม้ ยัน ป้องกันได้ วอน ตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้า

โฆษก สพฐ.ตร. ห่วงประชาชนจากเหตุ ไฟไหม้ ยัน ป้องกันได้ วอน ตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้า

ทำให้ นางกาณต์รวี (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 46 ปี เจ้าของบ้านเสียชีวิตพร้อมลูกหลานวัย 1, 5 และ 12 ปี รวม 4 ศพ นั้น หลาย ๆ เหตุการณ์จากการตรวจพิสูจน์ของตำรวจพิสูจน์หลักฐาน พบว่าสาเหตุมักเกิดจากอุปกรณ์ไฟฟ้าหรือสายไฟชำรุด จากการใช้งานมานาน และขาดการบำรุงรักษา

ด้าน พ.ต.อ.หญิง ศิริประภา รัตตัญญู นวท.(สบ๔) กสก.พฐก. กล่าวว่า เมื่อได้รับการร้องขอจากพนักงานสอบสวนให้ไปร่วมตรวจสถานที่เกิดเหตุ จะมีหลักในการทำงานด้วยการสอบถามข้อมูลเบื้องต้น ในหัวข้อหลัก ๆ คือ

  • 1.สถานการณ์เพลิงไหม้ขณะนั้น เพลิงสงบหรือยัง,ควันยังมีมากหรือไม่ เป็นต้น
  • 2.มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตหรือไม่
  • 3.สถานที่เกิดเหตุเป็นอะไร เช่น บ้าน ทาวน์เฮาส์ อาคารพาณิชย์ อาคารสูง ชุมชน โรงงาน ฯลฯ
  • 4.ความปลอดภัยของสถานที่เกิดเหตุก่อนเข้าตรวจ
  • 5.แจ้งพนักงานสอบสวนประสานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง(ถ้าจำเป็น) เช่น เจ้าหน้าที่โยธา วิศวกรรมสถาน หรือเจ้าของพื้นที่ที่เกิดเหตุเพื่อให้ข้อมูลเบื้องต้นกรณีหากเป็นโรงงาน หรืออาคารสูง

หลังจากพื้นที่เกิดเหตุได้รับการยืนยันความปลอดภัยจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายแล้ว จึงจะเข้าตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุทันที ขั้นตอนการตรวจมี 4 ขั้นตอน คือ

  • 1.การตรวจสภาพความเสียหายภายนอก
  • 2.การตรวจสภาพความเสียหายภายใน
  • 3.การตรวจหาจุดต้นเพลิง
  • 4.การตรวจหาสาเหตุของเพลิงไหม้

สำหรับสถิติเหตุเพลิงไหม้ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปี พ.ศ.2562 เกิดเหตุ 472 ครั้ง ปี 2563 จำนวน 430 ครั้ง ปี 2564 จำนวน 411 ครั้ง และปี 2565 (ม.ค.-มิ.ย.) 211 ครั้ง

พล.ต.ต.วาที เน้นย้ำอีก ว่าทุกคนสามารถช่วยกันป้องกันเหตุเพลิงไหม้ได้ ด้วยการตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าและเครื่องใช้ภายในบ้านให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานอยู่เสมอ สายไฟที่เก่าหรือชำรุดควรเปลี่ยนใหม่เพื่อความปลอดภัย จัดสภาพแวดล้อมให้ปลอดภัยจากเพลิงไหม้ ด้วยการกำจัดวัสดุที่เป็นเชื้อเพลิง เก็บแยกสารเคมีที่ติดไฟง่ายให้ห่างจากแหล่งความร้อน

ติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันและระงับเหตุเพลิงไหม้ เพิ่มความระมัดระวังในการใช้ก๊าซหุงต้ม และกิจกรรมที่เกี่ยวกับไฟ เช่น ไม่จุดยากันยุง หรือ ธูปเทียนทิ้งไว้โดยไม่มีคนดูแล, ดับไฟก้นบุหรี่ให้สนิททุกครั้งก่อนทิ้ง ไม่จุดไฟเผาขยะบริเวณพงหญ้าแห้งหรือวัสดุติดไฟง่าย รวมถึงการติดเหล็กดัดประตูหน้าต่าง เพื่อป้องกันโจร ผู้ร้ายเข้ามาภายในบ้าน ควรติดตั้งแบบที่สามารถเปิดปิดได้ อย่างน้อยห้องละ 1 บาน หากเกิดเหตุจะสามารถออกจากห้องได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน