ชาวบ้านวิจารณ์ ท้องถิ่นนครศรีฯ ขนหินถมชายหาดแหลมตะลุมพุก อ.ปากพนัง อ้างกัดเซาะ นักวิชาการ ระบุแก้ปัญหาไม่เหมาะสม ไม่ยั่งยืน ย้ำชายหาดมีชีวิต อย่าเพิ่งไปฆ่าให้ตาย

12 ก.ย. 65 – ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริเวณชายหาดแหลมตะลุมพุก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ทางท้องถิ่นได้นำก้อนหินขนาดใหญ่จำนวนมาก มาถมเป็นแนวยาวตามชายหาดเป็นระยะทางหลายสิบกิโลเมตร โดยอ้างเพื่อเป็นการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง

ซึ่งวิธีการดังกล่าวได้รับการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความไม่เหมาะสม เพราะทำให้ทัศนียภาพชายหาดที่เคยสวยงามถูกบดบังด้วยก้อนหินขรุขระ

ดร.เพชร มโนปวิตร เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เราระเบิดภูเขามาทำลายชายหาด ช่างเป็นตัวอย่างการแก้ปัญหาการกัดเซาะที่ทำลายหาดทรายอย่างยั่งยืนจริงๆ

อย่างที่ ดร.ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เคยอธิบายไว้ว่า ชายหาดสงขลาทอดยาวไปถึงปากพนัง เป็นพื้นที่ ที่คลื่นลมได้พัดพาเอาทรายมาทับถมจนเกิดเป็นคาบสมุทรสทิงพระ ต่อเนื่องยาวไปสุดที่ปลายแหลมตะลุมพุก เป็นตัวอย่างการกำเนิดหาดทราย และแผ่นดินคาบสมุทรอันเป็นผลจากคลื่นลมที่มีความแรงกว่าบริเวณอื่นๆ

ดร.เพชร กล่าวว่า ในฤดูมรสุมเป็นธรรมดาที่คลื่นลมจะแรง แต่คลื่นไม่ได้ทำให้หาดทรายหายไปทั้งหมด เพราะคลื่นพาทรายจากทะเลเข้ามาเติมตลอดเวลา และเมื่อกระแทกกับชายหาด ก็เกิดการปะทะลดความแรงได้อย่างสมดุล ทรายส่วนหนึ่งล้นสันทรายไปสะสมด้านบนของหาด เกิดเป็นเนินทรายเกิดสังคมพืชชายหาด แต่ถ้าไม่มีแนวถอยร่น (setback) เช่น พื้นที่กลายเป็นถนน เป็นบ้านเรือนก็จะกลายเป็นปัญหาทันที

“เมื่อคลื่นปะทะชายหาดทรายบางส่วนก็ไหลลงไปกองเป็นสันทรายใต้น้ำข้างหน้าชายหาด ทำหน้าที่ลดความแรงของคลื่นลูกใหม่ เป็นพลวัตรของชายหาดที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การแก้ปัญหาด้วยแนวคิดทางวิศวกรรมด้วยการเอาของแข็งไปสู้กับคลื่น

เช่นเอาหินไปถมหาด ก็ยิ่งทำให้ทรายถูกพัดหายไปเร็วขึ้น สักพักด้านล่างก็ทรุด ต้องเอาหินมาถมใหม่ ไม่รู้จบ ที่สำคัญชายหาดก็จะหายไป ส่วนจะไปงอกใหม่ที่ไหนก็ต้องติดตามดูผลกระทบต่อไป เรามีบทเรียนมากมายถึงการแก้ปัญหาที่ผิดพลาด น่าจะหมดเวลาสำหรับการแก้ปัญหาที่ไม่ยั่งยืนแบบนี้ได้แล้ว”ดร.เพชร กล่าว

เมื่อถามว่า หากเป็นเช่นนั้นแล้ว วิธีการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งพื้นที่นี้จะต้องทำอย่างไร ดร.เพชร กล่าวว่า ต้องไปดูก่อนว่าสาเหตุการกัดเซาะ ถ้ามีการกัดเซาะจริง ว่ามาจากอะไร มีสิ่งก่อสร้างตรงไหนที่รุกล้ำ หรือทำให้สมดุลหาดเปลี่ยนไปหรือไม่ แล้วค่อยพิจารณาทางเลือกอื่นๆ รื้อสิ่งรุกเร้า เติมทราย ทำรั้วดักทราย แต่ควรต้องมองก่อนว่า ชายหาดมันมีชีวิต อย่าเพิ่งไปฆ่าให้ตาย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน