แอปเปิ้ล ประเทศไทย ร่วมหารือ มท. ผลักดันแผนขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดล BCG สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

วันที่ 20 ต.ค.65 ที่กระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมหารือในหัวข้อ เศรษฐกิจหมุนเวียน Bio-Circular-Green Economy (BCG) ในวาระแห่งชาติควบคู่กับประเทศไทย 4.0 โดยมีนายพรพจน์ เพ็ญพาส รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางนิศากร วิศิษฏ์สรอรรถ ที่ปรึกษาด้านการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ นายธนิศร์ วงศ์ปิยะสถิต รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายกฤษณะ พินิจ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและส่งเสริมการบริหารราชการจังหวัด สป. เข้าร่วมการประชุม ซึ่งการประชุมในวันนี้ได้หารือร่วมกับคณะผู้บริหารบริษัท แอปเปิ้ล เซาท์ เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด ประกอบด้วย Ms. Heather Grell – Director Government Affairs of Apple (ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารรัฐกิจ) นางสาววิสาข์ บุณยนิตย์ ที่ปรึกษาด้านหลักเกณฑ์และระเบียบ ของบริษัท บาวเวอร์กรุ๊ปเอเชีย (ประเทศไทย) โดยมีผู้ร่วมประชุมผ่านระบบออนไลน์ ได้แก่ Mrs.Priscilla Koh – Government Affairs of Apple (เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารรัฐกิจ) Miss Charmaine Chua – Trade Compliance of Apple (เจ้าหน้าที่ด้านการกำกับตรวจสอบการค้า) ซึ่งวัตถุประสงค์ของการหารือในวันนี้ คือ การทำความเข้าใจเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ นโยบาย และแผนการขับเคลื่อนของประเทศไทยเกี่ยวกับ BCG พร้อมแบ่งปันข้อมูล และประสบการณ์การทำงานของทางบริษัทฯ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อน และสนับสนุนนโยบาย BCG เพื่อจะเป็นประโยชน์กับในการดำเนินงานร่วมกันในอนาคต

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยดูแลเรื่องความมั่นคงภายใน และคุณภาพชีวิตของประชาชนตั้งแต่เกิดจนตาย ที่เรียกรวม ๆ ว่า ภารกิจบำบัดทุกข์ บำรุงสุข กระทรวงมหาดไทย มีกลไกการทำงานในส่วนภูมิภาค ทั้ง ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวมถึงกำกับ ดูแล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 7,850 แห่งทั่วประเทศ และทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ทั้งผู้นำท้องถิ่น ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้นำจิตอาสา ฯลฯ นอกจากนี้ ยังดูแลเรื่องสาธารณูปโภคให้บริการไฟฟ้า น้ำประปา และการจัดการน้ำเสีย โดยรัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย ขับเคลื่อนภารกิจต่าง ๆ ในพื้นที่ ซึ่งได้ดำเนินการโดยยึดหลักการเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ทั้ง 17 ข้อ ขององค์การสหประชาชาติ หรือ UN ซึ่งเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565 กระทรวงมหาดไทย โดยผู้บริหารกระทรวง และผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ได้ไปร่วมลงนามประกาศเจตนารมณ์เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน (Statement of Commitment to Sustainable Thailand) โดยมี คุณกีต้า ซับบระวาล (Gita Sabharwal) ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย ร่วมเป็นสักขีพยาน ขอให้บริษัท Apple เชื่อมั่นว่ารัฐบาลไทย โดยกระทรวงมหาดไทย มีการขับเคลื่อนเป้าหมาย SDGs เดียวกับบริษัท Apple เพื่อลูกหลานและโลกใบเดียวของเรา

Ms. Heather Grell – Director Government Affairs of Apple กล่าวว่า ขอบคุณที่มาร่วมพูดคุยกันในวันนี้ บริษัท แอปเปิ้ล เซาท์ เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด ก่อตั้งมาแล้วเป็นเวลา 35 ปีในประเทศไทย ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่พบกัน จึงขออนุญาตแนะนำวิธีการของ Apple ในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียน BCG Economy Model บริษัท Apple ตระหนักดีว่าภัยคุกคามที่เป็นปัญหาที่สำคัญที่สุดและน่ากลัวที่สุดต่อมวลมนุษยชาติคือ คือ ปัญหาภาวะโลกร้อน (Climate Change) ปัจจุบัน Apple มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ด้วยการมุ่งมั่นและคำนึงถึงกระบวนการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการผลิตบรรจุภัณฑ์จะเป็น Zero Waste นอกจากนี้ บริษัท Apple มีความมุ่งมั่นในการที่จะใช้ทรัพยากรโลกอย่างประหยัดใน Working Space ของ Apple ทุกแห่ง ด้วย Carbon Footprints ปัจจุบันสินค้าของ Apple สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ทั้งหมด 100% โดยในปี 2563 Apple จะไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ (ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 0%)

Ms. Heather Grell – Director Government Affairs of Apple กล่าวต่อว่า ผลิตภัณฑ์สินค้าของบริษัท Apple ได้รับการยอมรับว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่วนใหญ่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ โดยวัสดุที่เป็นสินแร่หายาก และมีมูลค่าสูง ที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้มากที่สุด คือ อลูมิเนียม มากถึงร้อยละ 59 ซึ่งบริษัท Apple มีเป้าหมายที่จะลดการใช้วัสดุต่าง ๆ ครั้งเดียว ในปี 2564 ร้อยละ 20 ของสินค้า Apple สามารถ Recycle ได้ 100% โดยสินค้าที่สามารถ Recycle ได้มากที่สุดคือ MacBook Air และมีความตั้งใจที่จะใช้วัสดุรีไซเคิลใน iPhone 14 ให้มากที่สุด ซึ่งเสาอากาศผลิตมาจากขวดน้ำที่เป็นการ Recycle 100% เพื่อตอกย้ำการออกแบบให้ผู้บริโภคสามารถใช้งานอุปกรณ์ได้อย่างยาวนาน โดยไม่ต้องเปลี่ยนอุปกรณ์บ่อย ที่เป็นการช่วยลดการใช้ทรัพยากร และไม่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม ส่วนตัวดิฉันยังใช้ iPhone 12 อยู่เลย นอกจากนี้ Apple มีแคมเปญ Trade in ในการแลกผลิตภัณฑ์เครื่องเก่าเป็นเครื่องใหม่ ทำให้ลดปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้ จำนวน 380,000 ตันต่อปี ในปี พ.ศ. 2568 บริษัท Apple จะลดการใช้พลาสติกเป็นบรรจุภัณฑ์ 100% ซึ่งที่ผ่านมาในปี พ.ศ. 2558 สามารถลดได้ 75% สิ่งนี้ทำให้ Apple มีรายได้ที่มากขึ้น ควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อม ในภาพรวมสามารถประหยัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้จำนวน 23 ล้านตัน ดังที่ Tim Cook ผู้บริหารบริษัท Apple กล่าวว่า “ไม่มีอะไรง่าย แต่แอปเปิ้ลลงทุนกับอนาคต และต้องการดูแลสิ่งแวดล้อมให้ดีที่สุด” ซึ่งในการมาพบปะหารือผู้บริหารกระทรวงมหาดไทยวันนี้ Apple ต้องการเข้าใจบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนหรือ BCG ว่ากระทรวงมหาดไทยมีเป้าหมายคืออะไร และมีการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยอย่างไร

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อว่า ขอบคุณที่แบ่งปันประสบการณ์ ผมดีใจที่เป็นส่วนหนึ่งในการใช้โทรศัพท์มือถือที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างกิจกรรมที่กระทรวงมหาดไทยได้ขับเคลื่อนในเศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มที่ทำจากผ้าไทย ซึ่งเป็นวัสดุธรรมชาติ มีการทอจากภูมิปัญญาท้องถิ่น ใช้สีธรรมชาติ วิธีการทางธรรมชาติ ไม่ใช้เครื่องจักรในการทอผ้า ซึ่งทั้งกระบวนการล้วนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ถ้าสนใจกระทรวงมหาดไทยมีความยินดีที่จะพาไปดูกระบวนการผลิต หรือ อุดหนุนสินค้าผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการผ้าไทย หัตถศิลป์ หัตถกรรม จากชุมชน เพื่อเติบโตไปสู่เป้าหมายเดียวกัน ในด้านการประกอบอาชีพ คนไทยร้อยละ 80% ทำอาชีพเกษตรกร ซึ่งส่วนหนึ่งได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช มหาราชบรมนารถบิตร มาใช้ เพื่อพัฒนาคนให้คนไปพัฒนาพื้นที่ สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ขณะนี้มีครัวเรือนประมาณ 100,000 ครัวเรือน ที่มีการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ ซึ่งในอนาคตอันใกล้จะขยายผลให้มีจำนวนมากขึ้นไปอีก ส่วนในเรื่องการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-Waste) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้รวบรวมขยะมลพิษ โดยส่งไปให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เป็นผู้กำจัด ซึ่งจะมีโรงงานที่ได้รับอนุญาตกำจัดขยะ ปัญหาที่ผ่านมา คือ แต่ก่อนไม่มีโรงงานที่ได้รับอนุญาต จะมีคนบางกลุ่มแอบเอาโลหะต่าง ๆ ไปหลอม ซึ่งโลหะก็มีแร่ธาตุมากมายผสมกัน จึงเป็นการกำจัดขยะอันตรายที่ผิดวิธี

“ในด้านการดำเนินกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยมีการดำเนินการต่าง ๆ ดังนี้ กรมการพัฒนาชุมชน เป็นผู้รับผิดชอบหลัก ในการเสริมสร้างองค์ความรู้ให้ประชาชนมีการพึ่งพาตนเอง สร้างความมั่นคงทางอาหาร ปัจจุบันได้ส่งเสริมกิจกรรม บ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง โดยน้อมนำพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีมาใช้ ซึ่งจะขยายผลให้ครบ 100% ในปีนี้ ต่อมากรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นผู้รับผิดชอบหลัก ในเรื่องการคัดแยกขยะ และการจัดการขยะทั้ง 4 ประเภท ขยะทั่วไป ขยะเปียก ขยะรีไซเคิล และขยะอันตราย โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเป็นผู้ดำเนินการ ภายใต้มาตรฐานของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เพื่อให้มั่นใจได้ว่าทุกท้องถิ่นจะทำแบบเดียวกัน โดยขยะส่วนใหญ่ล้วนเป็นขยะเปียก ซึ่งกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นมีเป้าหมายทำให้ประชาชนจัดการขยะเปียกได้ด้วยตนเอง ด้วยการจัดทำขยะเปียกลดโลกร้อน ซึ่งจะทำให้ขยะเปียกหรือขยะอินทรีย์กลายเป็นปุ๋ยหมัก เป็นส่วนหนึ่งของดิน เป็นการเพิ่มแร่ธาตุในดินอีกด้วย ทั้งนี้ นักวิชาการชี้ข้อมูลว่าในประเทศไทย 1 คนจะผลิตขยะเปียกประมาณ 6 ขีด ซึ่งภาคใต้มากที่สุด และน้อยที่สุด คือ ภาคตะวันออกฉียงเหนือ ในสิ้นปีนี้กระทรวงมหาดไทยตั้งใจว่าจะขยายการทำขยะเปียกลดโลกร้อนให้ได้ 100% ในด้านงานก่อสร้าง กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ออกระเบียบให้ทุกส่วนราชการที่มีการก่อสร้างใช้ปูนซีเมนต์ลดโลกร้อน (Hydraulic Cement) พร้อมทั้งรณรงค์ให้ครัวเรือนแต่ละครัวเรือนมีระบบบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยไปสู่ธรรมชาติ ซึ่งองค์การจัดการน้ำเสีย (อจน.) ได้ร่วมกับ อปท. ดำเนินการแล้ว ในด้านการลงทุน รัฐบาลไทย ได้เชิญชวนภาคอุตสาหกรรมให้มาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ Eastern Economic Corridor (EEC) ได้มีการกระตุ้นให้ภาคอุตสาหกรรมใช้พลังงานหมุนเวียน 100% อีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีโครงการดี ๆ อีกมากมาย จึงขอให้ผู้บริหารบริษัท Apple เชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะดำเนินการไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ทั้ง 17 ข้อ เพื่อโลกและเพื่อคนทั้งโลกได้อย่างแน่นอน นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทย โดยผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เป็นประธานกรรมการศึกษาธิการจังหวัด ซึ่งได้สนับสนุนให้เด็กนักเรียนปลูกต้นไม้คนละ 1 ต้น เพื่อเป็นการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและให้กลับบ้านเมือง ในด้านการให้บริการสาธารณูปโภค (ไฟฟ้า) คณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย ส่งเสริมให้ครัวเรือนผลิตไฟฟ้าหมุนเวียน โดยการติดตั้ง Solar Rooftop แนะนำหน่วยไฟฟ้าในกลางวันไปลดหน่วยไฟฟ้าในกลางคืน สามารถลดรายจ่ายและประหยัดพลังงานจากการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นให้แต่ละครัวเรือน มีการติดตั้ง Solar Rooftop เพิ่มขึ้น ส่วนตัวผมอยากเห็นบ้านเรือนของคนไทยเป็นแบบออฟฟิศของ Apple ที่เต็มไปด้วยความรักความห่วงใยต่อโลกและสามารถลดมลพิษได้ 100% ดังนั้น กระทรวงมหาดไทยพร้อมให้ความร่วมมือสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกับบริษัท Apple” ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าว

Ms. Heather Grell – Director Government Affairs of Apple กล่าวทิ้งท้ายว่า ขอขอบคุณคณะผู้บริหารกระทรวงมหาดไทยเป็นอย่างมากที่ให้การต้อนรับด้วยความอบอุ่นในวันนี้ ซึ่งการนำเสนอในวันนี้ทำให้เห็นภาพรวมและเป้าหมายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนในระดับพื้นที่ ซึ่งในวันนี้ได้ความคิดดี ๆ จำนวนมาก และจะขอนำข้อมูลเหล่านี้ ไปพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญ และคณะผู้บริหารบริษัท Apple โดยเฉพาะการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Waste ซึ่งคาดว่าคงได้ข้อสรุปในปลายปีนี้ และจะขอเข้าพบเพื่อหารือถึงแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนร่วมกับกระทรวงมหาดไทยอีกครั้ง หากผู้บริหารกระทรวงไทยได้มีโอกาสไปที่สหรัฐอเมริกา พวกเรามีความยินดีอย่างยิ่งที่จะให้การต้อนรับและจะพาไปชม Apple Park ให้ไปดูว่าที่นั่นพวกเรามีการดำเนินการที่เกี่ยวข้องอย่างไร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน