กระทรวง อว.ร่วมกับ สตง.ประเมินโครงการ U2T จากรายงาน อว. ชี้เป็นประโยชน์ในการช่วยเหลือชุมชนระดับตำบลของประเทศ เกิดการจ้างงาน กว่า 58,000 คน ใน 1 ปี ทั้งเกิดผลตอบแทนเฉลี่ย 4.75 เท่าของงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินการ หรือกว่า 50,000 ล้านบาท เผยมีแค่ 1 ตำบลใน 3 พันตำบลที่มีผลการประเมินด้านศักยภาพลดลง แต่ยังไม่ครบระยะเวลาการประเมิน ขณะที่การเบิกจ่ายงบประมาณส่วนใหญ่คือค่าจ้างงาน ยันไม่มีตกหล่น ที่เหลือจ่ายได้ดำเนินการส่งคืนกระทรวงการคลังแล้ว

เมื่อวันที่ 30 ต.ค. ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) ในฐานะโฆษกกระทรวง อว. เปิดเผยกรณีที่มีข่าวซึ่งอ้างถึงรายงานสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)ในโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ หรือ U2T ประจำปี 2564 ของกระทรวง อว.ไม่สัมฤทธิ์ผลและไม่มีประสิทธิภาพนั้น เป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อนและไม่ครบถ้วน เพราะในการตรวจสอบของ สตง. นั้นเป็นการประเมินประสิทธิภาพของโครงการ และได้ร่วมกับกระทรวง อว. ในการลงพื้นที่เพื่อประเมินและทำการตรวจสอบผลรายงานดังกล่าว ซึ่งทาง อว. ก็รับทราบและร่วมให้ความคิดเห็น

รองปลัดกระทรวง อว. กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ หากดูในรายงานการตรวจสอบอย่างละเอียด จะเห็นได้ว่า ในภาพรวม โครงการ U2T ได้มีผลการดำเนินการเป็นไปด้วยดี และบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการโดยส่วนใหญ่ เช่น ในส่วนตำบลที่พึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน ก็สามารถดำเนินการได้เกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้มาก มีเพียงบางส่วนที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย และมีเพียง 1 ตำบล จาก 3,000 ตำบล ที่มีผลการประเมินด้านศักยภาพลดลง ทั้งนี้โครงการ U2T ดำเนินการในปี 2564 และมหาวิทยาลัยที่ดำเนินการจะมีการติดตามต่อในระยะยาวต่อเนื่องไป 5 ปี ว่าโครงการมีผลกระทบต่อเนื่องอย่างไร ซึ่ง อว.ก็ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องโดยขณะที่จัดทำรายงาน สตง.ยังไม่ครบระยะเวลาในการรายงานผลประเมิน

“ส่วนกรณีที่ผู้เข้าร่วมโครงการเห็นว่า รายได้ไม่ได้เพิ่มขึ้นหรือเปลี่ยนแปลง ก็มีสัดส่วนไม่มากนัก เพราะเป็นที่ทราบดีว่าการเพิ่มขึ้นของรายได้ในช่วงปี 2564 นั้นมีปัจจัยต่างๆที่เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์ โควิด-19 ซึ่งในการดำเนินการ U2T จะมีส่วนช่วยในด้านพื้นฐาน การสร้างอาชีพ และรายได้ในระยะยาว และกรณีผู้ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการจำนวนหนึ่ง เห็นว่าโครงการอาจจะไม่สัมฤทธิ์ผลตามที่กำหนดนั้น ก็เป็นไปในบางตัวชี้วัดเท่านั้น”

ศ.ดร.ศุภชัย กล่าวอีกว่า ผลการเบิกจ่ายงบประมาณนั้นสูงถึง 88.18% ของกรอบวงเงิน โดยที่ส่วนไม่เป็นไปตามเป้านั้น โดยส่วนใหญ่คือค่าจ้างงาน ที่ผู้เข้าร่วมโครงการ มีการลาออกระหว่างดำเนินโครงการ เนื่องจากได้งานใหม่ หรือ ไปประกอบอาชีพใหม่ และ มหาวิทยาลัย ไม่สามารถจ้างคนใหม่ได้ทันในแต่ละเดือน ซึ่ง อว. มีนโยบายกำชับให้แต่ละมหาวิทยาลัย ดำเนินการอย่างโปร่งใส และ ได้มีการดำเนินการในการจัดคืนเงินส่วนที่ไม่ได้ใช้มายัง อว.และได้ดำเนินการในการคืนส่วนที่ไม่ได้ใช้แก่กระทรวงการคลังแล้ว

ในกรณีฐานข้อมูลชุมชนขนาดใหญ่ (Thailand Community Big Data) นั้น ขณะนี้มีการจัดเก็บครอบคลุมทุกตำบล มากกว่า 2 ล้านข้อมูล และได้มีหน่วยงานในพื้นที่ได้มีการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ ในการวางแผนการพัฒนาพื้นที่อย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากข้อมูลมีจำนวนมาก ขณะนี้ อว. กำลังดำเนินการในการจัดการข้อมูลให้มีความถูกต้อง แม่นยำ จึงจะมีการประชาสัมพันธ์และเปิดโอกาสให้ผู้สนใจใช้ข้อมูลได้อย่างสาธารณะ

“ขอยืนยันว่าผลการดำเนินงานของโครงการ U2T ในภาพรวม สัมฤทธิ์ผลเป็นอย่างดี และเป็นประโยชน์อย่างมาก ต่อการช่วยเหลือชุมชนในระดับตำบลของประเทศ ในช่วงที่เกิดวิกฤติ สถานการณ์โควิด-19 ของประเทศ ทำให้เกิดการจ้างงาน กว่า 58,000 คนต่อเดือนโดยเฉลี่ย ตลอดระยะเวลา 1 ปี มีผลกระทบเฉลี่ย 4.75 เท่าของงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินการ หรือ คิดเป็นกว่า 50,000 ล้านบาท นอกจากนี้ การดำเนินการ U2T ยังมีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงบริบทของสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ ที่ได้เข้าไปมีส่วนในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชุมชน โดยใช้องค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรมของสถาบันอุดมศึกษา รวมถึงการส่งเสริมให้นักศึกษา บัณฑิตจบใหม่ ได้กลับไปพัฒนาพื้นที่ชุมชนของตนเอง” รองปลัดกระทรวง อว.กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน