เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2566 มีรายงานว่า นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือรฟม. เปิดเผยถึงกรณีที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ตั้งข้อสังเกตต่อการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ผ่านระบบซูม ว่า จากกรณีดังกล่าว ทาง รฟม.ขอชี้แจงแบ่งออกเป็น 5 ประเด็น ประกอบด้วย 1.ประเด็นการปรับปรุงเกณฑ์การประเมินข้อเสนอในการคัดเลือกเอกชนครั้งที่ 1 รฟม. ได้ปรับปรุงเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (อาร์เอฟพี) เฉพาะวิธีการประเมินข้อเสนอ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงการเสนอผลตอบแทนให้แก่ภาครัฐตามที่นายชูวิทย์ กล่าวอ้างแต่อย่างใด และได้ขยายระยะเวลาการยื่นซองข้อเสนอออกไปอีก 45 วัน

นายภคพงศ์ ระบุต่อไปว่า ประเด็นดังกล่าวมีคดีฟ้องร้องในศาลปกครอง โดยมีความคืบหน้าล่าสุด เมื่อ 15 กันยายน 2565 ศาลปกครองสูงสุดได้นั่งพิจารณาคดีครั้งแรก โดยตุลาการผู้แถลงคดีมีความเห็นว่า คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) (คณะกรรมการคัดเลือก) และ รฟม. ดำเนินการแก้ไขเอกสารอาร์เอฟพีเพิ่มเติมครั้งที่ 1 โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว และไม่ทำให้ผู้ยื่นข้อเสนอได้รับความเสียหาย และไม่เอื้อประโยชน์ให้กับผู้ใด ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างรอศาลปกครองสูงสุดพิพากษา และสำหรับประเด็นที่นายชูวิทย์ ได้พูดพาดพิงถึงมติที่ประชุมศาลปกครองสูงสุดนั้น ถือเป็นกระบวนการภายในของศาลปกครองที่ไม่เปิดเผยแก่บุคคลภายนอก ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรต้องรอให้ปรากฏในคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดต่อไป

2.ประเด็นการยกเลิกการคัดเลือกเอกชนครั้งแรก ซึ่งประเด็นนี้มีคดีฟ้องร้องในศาลปกครอง โดยมีความคืบหน้าล่าสุดเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 ตุลาการผู้แถลงคดี ศาลปกครองสูงสุด ได้แถลงสรุปว่า การยกเลิกการคัดเลือกเอกชน ครั้งแรก ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว และเป็นการแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นอันเป็นไปเพื่อประโยชน์ของรัฐและประชาชน โดยเห็นควรให้ยกฟ้อง อย่างไรก็ตาม คดีดังกล่าวยังอยู่ระหว่างรอคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด

3.ประเด็นคัดเลือกเอกชนครั้งใหม่มีการล็อกสเปก ประเด็นนี้มีคดีฟ้องร้องในศาลปกครอง โดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการ ศาลปกครองกลาง พิจารณาแล้วมีความเห็นว่า การดำเนินการคัดเลือกดำเนินการตามกฎหมาย มีการเปิดกว้างให้เอกชนเข้าร่วมในการคัดเลือกมากขึ้น ทำให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น และไม่มีลักษณะเป็นการตัดสิทธิหรือกีดกันผู้ใดมิให้เข้าร่วมยื่นข้อเสนอ จึงมีคำสั่งยกคำร้องคุ้มครองชั่วคราว

4.ประเด็นการดำเนินการของ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือก ถือเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ใดผู้หนึ่ง และเป็นการปฏิบัติโดยไม่ชอบหรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้มีคดีฟ้องร้องในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง โดยศาลได้ไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า ผู้ว่าการ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือก ได้แก้ไขหลักเกณฑ์การประเมินข้อเสนอ ฉบับเดือนกรกฎาคม 2563 ตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด ไม่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ยื่นข้อเสนอรายใด และกรณีที่มีการยกเลิก การคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวน ฉบับเดือนกรกฎาคม 2563 ไม่มีการกลั่นแกล้งผู้ใดหรือกระทำนอกขอบเขตของกฎหมาย ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต จึงไม่มีมูลความผิดตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง

5.ประเด็นมีเงินทอน 3 หมื่นล้านบาท ผ่านบัญชีธนาคาร รฟม. ขอเรียนว่า หากนายชูวิทย์ มีหลักฐานเอกสารตามที่กล่าวอ้าง ก็ขอให้นำมาแสดงให้สาธารณชน และส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบเพื่อเป็นที่ประจักษ์ด้วย ว่าเป็นการทำธุรกรรมที่ผิดกฎหมายหรือไม่

ทั้งนี้ การดำเนินการประกาศเชิญชวน และคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เป็นการดำเนินการโดยคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน และ รฟม. ตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดในมาตรา 35 ถึงมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 และสำนักงานอัยการสูงสุดได้ตรวจพิจารณาร่างสัญญาร่วมลงทุนตามาตรา 41 เรียบร้อยแล้ว สำหรับในขั้นตอนต่อไป รฟม. จะรอคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีที่ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือก ถูกฟ้องคดี มาประกอบเรื่องเพื่อเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัด และคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน ตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ต่อไป

ในส่วนของประเด็นที่นายชูวิทย์ แถลงว่าจะเสนอเรื่องนี้ไปในที่ปะชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดสุดท้าย ในช่วงต้นเดือนมีนาคม ยืนยันว่าเรายังไม่ได้มีการเสนอเรื่องไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เรื่องดังกล่าวจึงถือว่าเป็นการคาดเดาโดยไม่มีมูลความจริง เพราะตอนนี้ รฟม. ยังอยู่ระหว่างรอคำตัดสินของศาลปกครอง ก่อนที่จะเสนอเรื่องไปที่กระทรวงคมนาคม และครม.ให้รับทราบต่อไป

นายภคพงศ์ กล่าวว่า กรณีนายชูวิทย์​กล่าวหาเรื่องเงินทอน 3 หมื่นล้านบาท ทางรฟม.ยืนยันว่าไม่มี จึงขอให้นายชูวิทย์ส่งหลักฐานมาดู หรือส่งไปที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ส่วนจะมีการฟ้องร้องนายชูวิทย์ในประเด็นนี้หรือไม่นั้น ตอนนี้ให้ฝ่ายกฎหมาย พิจารณาอยู่ หากข้อมูลเป็นเท็จ หรือนายชูวิทย์ไม่สามารถนำหลักฐานมาชี้แจงได้ จะเข้าข่ายทำ รฟม.เสื่อมเสีย คงจะมีการดำเนินคดีตามกฎหมายกันต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน