อว. – สธ. แถลงความสำเร็จ “โครงการคู่เครือข่ายดูแลจิตใจ ก้าวสู่คนไทยคุณภาพ” ช่วยแก้ปัญหาสุขภาพจิตนักศึกษา มรภ.38 แห่ง มทร.9 แห่ง หลังพบเสี่ยงซึมเศร้า-เครียดสูง คัดกรองนักศึกษากว่า 2 หมื่นคนพบเสี่ยง 399 คนส่งต่อให้แพทย์ดูแล ดีขึ้นแล้ว 232 คน อว.เตรียมขยายผล

เมื่อวันที่ 22 มี.ค. ที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) มีการแถงข่าวความสำเร็จ “โครงการคู่เครือข่ายดูแลจิตใจ ก้าวสู่คนไทยคุณภาพ” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวง อว.กับกระทรวงสาธารณสุข(สธ) มี ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว.และ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ.พร้อม พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต

ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ กล่าวว่า อว.มีสถาบันการศึกษา ที่ต้องดูแลประมาณ 150 แห่ง มีนักศึกษาประมาณ 2 ล้านคนในแต่ละปีจะมีนักศึกษาหนุนเวียนเข้าศึกษาในระดับริญญาตรีประมาณปีละ 4.5 แสนคน แน่นอนนักศึกษาที่อยู่ในช่วงวัยระหว่าง 18 – 22 ปีมีสภาวะความเครียดอยู่แล้ว ขณะที่ “โครงการคู่เครือข่ายดูแลจิตใจ ก้าวสู่คนไทยคุณภาพ” เริ่มดำเนินการในปี 2565 เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) 38 แห่ง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) 9 แห่ง กระทรวง อว.กับกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อขับเคลื่อนการดูแลช่วยเหลือทางด้านจิตใจแก่นักศึกษา พร้อมบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานในสังกัด สธ. และมหาวิทยาลัยในแต่ละเขตสุขภาพ

ทั้งนี้ นักศึกษาอยู่ในช่วงวัย 18 – 22 ปีเป็นวัยรุ่นและเป็นช่วงรอยต่อชีวิตนักศึกษากับการออกไปทำงานเมื่อจบการศึกษาทำให้มีความเครียดอยู่แล้วสำหรับการปรับตัวเพื่อออกสู่สังคม โดยการทำงานร่วมกันระหว่าง มรภ.38 แห่งและ มทร. 9 แห่งกับกรมสุขภาพจิตถือว่าได้ผลดีมาก มีการการคัดกรองและดูแลสุขภาพจิตนักศึกษากว่า 2 หมื่นคนและมีประมาณ 2พันคนที่สามารถช่วยให้สุขภาพจิตและจัดการกับปัญหาความเครียดได้ดีขี้นช่วยบำบัดดูแลสุขภาพจิต มีประมาณ 300 รายต้องส่งต่อให้แพทย์ดูแลและหลังจากนี้ อว.จะขยายผลไปยังสถาบันการศึกษาอื่นๆ ต่อไป

ด้านนพ.โอภาส กล่าวว่า สธ.สนับสนุนโครงการคู่เครือข่ายดูแลจิตใจฯ โดยกรมสุขภาพจิต ในการดูแลช่วยเหลือนักศึกษา มีผลสำเร็จของการดำเนินงานตามโครงการ พบว่ามรภ.ทั้ง 38 แห่ง มีโรงพยาบาลคู่เครือข่ายสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นคู่เครือข่าย จำนวน 51 แห่ง และมทร.ทั้ง 9 แห่ง มีโรงพยาบาลสังกัด สป.เป็นคู่เครือข่ายจำนวน 14 แห่ง ทั้งนี้มีแนวทางการส่งเสริมป้องกันและดูแลส่งต่อตามระบบสาธารณสุขที่สามารถเบิกจ่ายได้ตามสิทธิ พร้อมมีการจัดทำแผนเผชิญเหตุกรณี เหตุวิกฤตของนักศึกษาอีกด้วย

พญ.อัมพร กล่าวว่า จากผลการประเมินสุขภาพจิตด้วย Mental Health Check In (MHCI) ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2565 ถึงปัจจุบัน พบว่า เยาวชนกลุ่มมหาวิทยาลัย (อายุ 19 -24 ปี) จำนวน 26,887 ราย มีความเสี่ยงซึมเศร้าร้อยละ 25.68 และมีความเครียดสูงร้อยละ 19.21 ซึ่งนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเป็นกลุ่มเปราะบางที่มีความเฉพาะที่จะเกิดปัญหาสุขภาพจิต เช่น ภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล และเครียด มีเพิ่มขึ้นตลอดช่วงวัยรุ่น และสูงสุดในวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ภายหลังดำเนินโครงการฯ เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2565 เป็นต้นมา ได้คัดกรองและดูแลสุขภาพจิตนักศึกษาไปแล้ว จำนวน 23,740 ราย ในจำนวนนี้ไม่พบความเสี่ยงปัญหาสุขภาพจิต จำนวน 18,066 ราย

แต่ทว่าพบผู้มีความเสี่ยงปัญหาสุขภาพจิต จำนวน 5,235 ราย ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาที่ต้องได้รับการดูแลช่วยเหลือด้านสุขภาพจิต (กลุ่มสีเหลือง) จำนวน 1,630 ราย โดยขณะนี้มีจำนวนนักศึกษาที่ได้รับการดูแลช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตจนดีขึ้นแล้ว จำนวน 1,166 ราย อย่างไรก็ดีในกลุ่มนี้พบจำนวนนักศึกษาความเสี่ยงที่จำเป็นต้องส่งต่อให้แพทย์ดูแล (กลุ่มสีแดง) ทั้งสิ้น 399 ราย ซึ่งขณะนี้สุขภาพจิตดีขึ้นแล้ว จำนวน 232 ราย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน