‘สงกรานต์’ ประเพณีขึ้นปีใหม่ไทย มรดกล้ำค่าสะท้อนวิถีชีวิต จากอดีตจนถึงปัจจุบัน

ประเพณีสงกรานต์ เป็นประเพณีที่สะท้อนถึงวิถีปฏิบัติอันงดงามของคนไทยในหลากหลายมิติ ทั้งด้านศาสนา สังคม วัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านวัฒนธรรมการแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ญาติผู้ใหญ่หรือบุคคลที่เราเคารพนับถือ

ซึ่งเป็นลักษณะนิสัยที่งดงามของคนไทย และเป็นอีกหนึ่งประเพณีของไทยที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยว จากทั่วทุกมุมโลกที่ต้องการมาสัมผัสวิถีชีวิต ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของประเพณีสงกรานต์ อันเต็มไปด้วยสีสัน ความรื่นเริง ความสนุกสนาน หากแฝงไว้ด้วยคุณค่า สาระ ธรรมเนียมปฏิบัติอันงดงามของแต่ละท้องถิ่นที่สืบทอดกันมา

สงกรานต์ ถือเป็นประเพณีขึ้นปีใหม่ของไทยมาตั้งแต่โบราณ แม้ว่าปัจจุบันไทยเราจะนับวันที่ 1 มกราคม ของทุกปีเป็นวันขึ้นปีใหม่ แบบสากลนิยม แต่ชาวไทยส่วนใหญ่ยังถือว่าประเพณีสงกรานต์เป็นวันขึ้น ปีใหม่แบบไทยๆ โดยในวันที่ 13 เมษายน เรียกว่า “วันมหาสงกรานต์” เป็นวันสิ้นปีเก่าเตรียมเข้าสู่วันขึ้นปีใหม่ ผู้คนก็จะปัดกวาด ทำความสะอาดบ้าน เพื่อชำระล้างสิ่งไม่ดีให้ออกไปจากบ้าน เป็นการต้อนรับปีใหม่ บางบ้านก็จะยิงปืน จุดประทัด หรือทำอะไรก็ได้ให้เกิดเสียงดัง เพื่อขับไล่สิ่งไม่ดีต่างๆ ออกไป

วันที่ 14 เมษายน เรียกว่า “วันเนาหรือวันเน่า” ตามวัดวาอารามต่างๆ จะมีการเตรียมงานทำบุญสงกรานต์ ตอนบ่ายๆ จะมีการขนทรายเข้าวัดเตรียมก่อเจดีย์ทราย ในวันนี้คนโบราณมีความเชื่อว่า ห้ามพูดจาไม่ดีต่อกัน ห้ามทะเลาะเบาะแว้ง เพราะจะทำให้โชคไม่ดีไปตลอดปี และวันที่ 15 เมษายน เรียกว่า “วันเถลิงศกหรือวันพญาวัน” เป็นวันที่ผู้คนพากันเข้าวัด ทำบุญอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลแก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว มีการรดน้ำดำหัว ขอพรจากผู้สูงอายุ ผู้อาวุโสในชุมชน มีการก่อเจดีย์ทราย การละเล่นสาดน้ำของหนุ่มสาว

สำหรับประเพณีสงกรานต์ในประเทศไทย แต่ละท้องถิ่นมีความเชื่อและวิธีปฏิบัติและเรียกขานแตกต่างกันออกไปตามแต่ภูมิภาค ดังนี้ ภาคเหนือ ประเพณีสงกรานต์ เรียกว่า ปเวณีปีใหม่ หรือ ปาเวณีปีใหม่ (อ่านว่า ป๋า -เว- นี- ปี๋- ใหม่ ) จัดขึ้น 3-5 วัน โดยเรียกวันที่ 13 เมษายนว่า “วันสงกรานต์ล่อง” (อ่านสังขานล่อง) เนื่องจากในภาษาถิ่นภาคเหนือนิยมออกเสียงควบ กร เป็น ข เช่น กราบ เป็น ขาบ โกรธ เป็น โขด

ดังนั้น คำว่า “สงกรานต์” จึงออกเสียงเป็น “สังขานต์” หมายถึง วันปีที่ผ่านไป หรือวันสังขารร่างกายแก่ไปอีกปี ซึ่งในวันนี้ตอนเช้าจะมีจุดประทัดเพื่อขับไล่เสนียดจัญไร จากนั้นก็จะพร้อมใจกันทำความสะอาดบ้านเรือนของตนเอง อีกทั้งยังนำพระพุทธรูปบูชาประจำบ้านมาชำระและสรงน้ำอบโดยใช้น้ำขมิ้นส้มป่อย ชำระร่างกายให้สะอาดสะอ้าน

รวมทั้งแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าใหม่เพื่อต้อนรับปีใหม่ วันที่ 14 เรียกว่า “วันเนา” หรือ “วันดา” ซึ่งเป็นวันเตรียมงานต่างๆ เช่น เครื่องสังฆทาน อาหารที่จะไปทำบุญและแจกญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน วันนี้บางที่เรียกว่า วันเน่า เพราะเป็นวันที่ห้ามพูดจาหยาบคาย เพราะเชื่อว่าจะทำให้ปากเน่า ไม่เจริญ

และวันที่ 15 เมษายน เรียกว่า “วันพยาวัน” หรือ “วันเถลิงศก” ถือเป็นวันเริ่มต้นปีใหม่ เป็นวันที่ชาวบ้านจะมาทำบุญที่วัดใกล้บ้าน เลี้ยงพระ ฟังธรรม อุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ สรงน้ำพระพุทธรูปและพระสงฆ์ นำไม้ค้ำต้นโพธิ์ และในวันนี้จะนิยมเล่นกีฬาพื้นบ้านต่างๆ อาทิ การเล่นบะกอน การเล่นม้าจกคอก การเล่นเชือกข้ามข่าว และการเล่นผีนางด้ง เป็นต้น

ถัดจากวันพยาวันเรียกว่า วันปากปีตรงกับวันที่ 16 เมษายน มีการทำพิธีสะเดาะเคราะห์ พิธีสืบชะตาและการทำบุญขึ้นท้าวทั้งสี่ (คือการไหว้เทวดาประจำทิศ) รวมถึงการจุดเทียนต่ออายุชะตาภายในบ้าน และวันสุดท้ายคือวัน ปากเดือน ถือเป็นวันเริ่มเดือนใหม่ ในวันนี้ยังคงมีการรดน้ำดำหัวผู้หลักผู้ใหญ่ และการเล่นสาดน้ำ

ภาคอีสานหรือตะวันออกเฉียงเหนือ ประเพณีสงกรานต์ เรียกว่าบุญเดือน 5 (บุญสงกรานต์) ซึ่งเป็นประเพณีหนึ่งใน ฮีต สิบสอง คำว่า ฮีต แปลว่าจารีต คือสิ่งที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลานาน ฮีตนี้มักมีการปฏิบัติกันเป็นประจำเดือน ครบสิบสองเดือนหรือหนึ่งปี จึงเรียกว่าฮีต 12 ซึ่ง บุญสงกรานต์ ก็เป็นหนึ่งในฮีต 12 การทำบุญในเดือนห้าที่ชาวอีสานถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่สมัยโบราณถือเป็นวันขึ้นปีใหม่และได้กำหนดวันมหาสงกราต์ไว้คือ

วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า “วันสังขารล่วง” (วันเน่า) วันที่ 14 เมษายน เรียกว่า วันเนา (อยู่ระหว่างปีเก่ากับปีใหม่) และวันที่ 15 เมษายน เรียกว่า วันสังขารขึ้น (วันขึ้นปีใหม่) เป็นวันทำบุญตักบาตร แล้วสรงน้ำพระภิกษุ ตลอดจนสรงน้ำผู้สูงอายุผู้หลักผู้ใหญ่ ในชุมชนต่างๆ เรียกว่า “หดน้ำ” หรือรดน้ำขอพรหรือสรงน้ำขอพร (ไม่เรียกว่ารดน้ำดำหัวเหมือนกับทางภาคเหนือ)

นอกจากนี้ จะนำน้ำอบน้ำหอมไปสรงน้ำพระพุทธรูปที่วัด ทางวัดจะจัดสถานที่อัญเชิญพระพุทธรูปมาประดิษฐานไว้ให้ชาวบ้านมาสรงน้ำพระพุทธรูป และตามบ้านเรือนต่างๆชาวบ้านก็จะนำพระพุทธรูปประจำบ้านตนเองลงมา

ตลอดทั้งเครื่องลางของขลัง และวัตถุมงคลต่างๆ มาสรงน้ำเหมือนกันและเอาไว้ถึงสามวันเต็ม คืออัญเชิญพระพุทธรูปลงบ่ายวันที่ 13 เมษายน และอัญเชิญขึ้นช่วงบ่ายวันที่ 16 จะนำขึ้นประดิษฐานไว้ที่เดิมประชาชนจะเล่นสงกรานต์ต่อได้ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์คนที่ไปทำงานยังต่างถิ่นจะเดินทางกลับภูมิลำเนา เพื่อเป็นการรวมญาติและทำบุญอัฐิบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว

ภาคใต้ เรียกประเพณีสงกรานต์ ว่า “ประเพณีวันว่าง” ถือเป็นวันละวางกายและใจจากการทำงานทุกชนิด อีกทั้งยังมีความเชื่อต่างๆ เช่น การห้ามตัดผม ห้ามตัดเล็บ ห้ามฆ่าสัตว์ โดยปกติจะจัดขึ้น 3 วัน คือ วันที่ 13-15 เมษายนของทุกปี นับเป็นโอกาสที่จะแสดงความกตัญญูต่อผู้ใหญ่ โดยการจัดหาผ้าใหม่ การอาบน้ำ ระหัว และขอพรจากผู้ใหญ่

โดยเริ่มวันแรกคือ วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า วันเจ้าเมืองเก่า เพราะเชื่อว่าเทวดารักษาบ้านเมืองกลับไปชุมนุมกันบนสวรรค์ ในวันนี้ทุกคนจะทำความสะอาดบ้านเรือนและเครื่องใช้ไม้สอยต่าง ๆ รวมทั้งทำพิธีสะเดาะเคราะห์ ที่เรียกว่า ลอยเคราะห์ หรือลอยแพ เพื่อให้เคราะห์กรรมต่าง ๆ ลอยไปกับเจ้าเมืองเก่าไปและมักจะมีการสรงน้ำพระพุทธรูปในวันนี้ วันที่ 14 เมษายน เรียกว่า “วันว่าง” คือวันที่ปราศจากเทวดาที่รักษาเมือง

ดังนั้น ชาวบ้านจะงดงานอาชีพต่าง ๆ ไม่กล่าวคำหยาบคาย แล้วไปทำบุญที่วัดและรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ และวันที่ 15 เมษายน เรียกว่า “วันรับเจ้าเมืองใหม่” คือวันรับเทวดาองค์ใหม่ที่ได้รับมอบหมายให้มาดูแลเมืองแทนองค์เดิม วันนี้ชาวเมืองมักจะแต่งตัวด้วยเสื้อผ้า เครื่องประดับใหม่แล้วพร้อมใจกันนำอาหารไปทำบุญที่วัดกัน

นอกจากกิจกรรมดังกล่าวแล้ว ยังมีการปล่อยนก ปล่อยปลา การก่อเจดีย์ทรายและการละเล่นสาดน้ำกันเหมือนกับภาคอื่นๆ และมีการละเล่นกีฬาพื้นบ้าน อาทิ แข่งพุ่งเรือ โนราดิบ และชักไม้แข่ง เป็นต้น ในสมัยก่อนแต่ละหมู่บ้านจะมีคณะเพลงบอกออกไปตระเวนร้องตามชุมชนหรือหมู่บ้านต่างๆ โดยจะมีการร้องเป็นตำนานนางสงกรานต์หรือเพลงอื่น ๆ ตามที่เจ้าของบ้านขอให้ร้องด้วย

ภาคกลาง ประเพณีสงกรานต์จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน ของทุกปี โดยวันที่ 12 เมษายน ถือว่าเป็นวันจ่าย สำหรับหาซื้อของสำหรับทำบุญในวันรุ่งขึ้น ในอดีตนั้นชาวบ้านนิยมทำขนมกวนจำพวกกวนข้าวเหนียวแดงและกาละแม เพื่อนำไปถวายพระและแจกจ่ายในช่วงเทศกาล ในช่วงสงกรานต์ในอดีตนั้นมีข้อปฏิบัติว่า ห้ามตักน้ำ ตำข้าว เก็บผัก หักฟื้น

ดังนั้นการงานเหล่านี้จึงต้องทำให้เสร็จก่อนจะถึงวันมหาสงกรานต์และในขณะเดียวกัน ตามวัดวาอารามต่างๆพระภิกษุสามเณรจะพากันกวาดลานวัดให้สะอาดเรียบร้อย โดยมีลูกศิษย์วัดคอยกวาดลานวัด ถอนหญ้า ถมและปรับพื้นที่ให้เรียบร้อยสำหรับมาทำบุญในวันรุ่งขึ้น ธรรมเนียมปฏิบัติในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของชาว

ภาคกลาง ได้แก่ กรทำบุญตักบาตรเลี้ยงพระ ก่อพระทราย ปล่อยนกปล่อยปลา สรงน้ำพระ สรงน้ำผู้ใหญ่ บังสุกุลอัฐิ แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลลับไปแล้ว มักทำในวันใดวันหนึ่งของช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งนิยมทำในวันเดียวกันกับวันสรงน้ำพระหรือวันสุดท้ายของวันสงกรานต์ และเล่นสาดน้ำ

นอกจากนี้ ในท้องถิ่นภาคกลางบางแห่งมีการจัดประเพณีสงกรานต์แตกต่างไปจากถิ่นอื่นๆ ได้แก่ ประเพณีวันไหล เป็นการทำบุญวันขึ้นปีใหม่ของชาวจังหวัดชลบุรี มีกำหนดจัดหลังวันมหาสงกรานต์ประมาณ 5-6 วัน ระหว่างวันที่ 17-18 เมษายนของทุกปี ซึ่งมีกิจกรรมหลายอย่าง อาทิ ทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระพุทธรูป การเล่นสาดน้ำ
การก่อพระเจดีย์ทราย เป็นต้น

สงกรานต์มอญ ในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดราชบุรี จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรสงคราม ฯลฯ ที่มีกลุ่มชาวมอญอาศัยอยู่ ซึ่งมีขนบธรรมเนียมปฏิบัติของชาวมอญที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน ประเพณีสงกรานต์ถือเป็นประเพณีหนึ่งที่แสดงอัตลักษณ์ของชาวมอญได้อย่างชัดเจน

สงกรานต์ของชาวมอญแบ่งออกเป็น 3 วัน ได้แก่ วันที่ 12 เมษายน เรียกว่า วันสุกดิบหรือวันเตรียมสงกรานต์ ถือเป็นวันเตรียมการสำหรับเทศกาลสงกรานต์โดยฝ่ายหญิงจะเตรียมทำอาหาร สำหรับถวายพระและจัดเลี้ยง เช่น ทำข้าวแช่ กวนกาละแม ส่วนฝ่ายชายจะเตรียมไม้และผ้าขาวมาปลูกศาลเพียงตาสำหรับวางเครื่องสังเวยถวายนางสงกรานต์ในวันรุ่งขึ้น

วันที่ 13 เมษายน วันมหาสงกรานต์ เรียกว่า “วันกรานต์ข้าวแช่” ช่วงเช้ามืดของวันนี้ชาวมอญจะนำข้าวแช่ไปวางไว้บนศาลเพียงตาที่จัดทำไว้เพื่อสังเวยรับนางสงกรานต์ เมื่อเสร็จพิธีรับนางสงกรานต์ จึงแบ่งคนแยกย้ายไปถวายข้าวแช่แด่พระภิกษุสามเณรตามวัดต่างๆ แล้วนำข้าวแช่ไปส่งเป็นการแสดงคารวะแด่ญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือและเชิญญาติมิตรเลี้ยงข้าวแช่สังสรรค์ตามประเพณี ในช่วงเวลาดังกล่าวจะมีการละเล่น ลูกช่วง เล่นสะบ้า ตลอดจนเล่นทรงเจ้าเข้าผี เช่น ผีนางด้ง ผีลิงลม เป็นต้น

วันที่ 14 เมษายน เรียกว่า “วันเนา” ในวันนี้มีกิจกรรมเช่นเดียวกับวันมหาสงกรานต์ และผู้อาวุโสจะไปถือศีลอุโบสถศีลที่วัด 1 วัน 1 คืน

ส่วนวันที่ 15 เมษายน เรียกวันเถลิงศก ธรรมเนียมที่ชาวมอญถือปฏิบัติกันในวันนี้คือ ชาวมอญจะประชุมสรงน้ำพระพุทธรูปและพระสงฆ์ที่วัด โดยสรงน้ำแบบอาบน้ำชำระทั้งตัว จากนั้นเป็นการบังสุกุลอุทิศส่วนกุศลแด่บรรพบุรุษ และในวันนี้จะมีการขนทรายเข้าวัดและขนทรายไปราดตามถนนหนทาง โดยมีความเชื่อว่าเพื่อให้อายุยืนยาวและเป็นศิริมงคลในวันปีใหม่ อีกทั้งยังมีการค้ำโพธิ์ ซึ่งเป็นการสะเดาะเคราะห์ คือการเอาไม้ไปค้ำต้นโพธิ์พร้อมกับอธิษฐานให้หมดเคราะห์หมดโศกและมีความร่มเย็นดุจต้นโพธิ์นั้นเอง

สำหรับปีนี้ นับเป็นการกลับมาจัดกิจกรรมประเพณีสงกรานต์ปีแรกนับตั้งแต่ที่หยุดไป 3 ปี เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนที่ได้เตรียมพร้อมในการจัดกิจกรรมประเพณีสงกรานต์ อาทิ จังหวัดเชียงใหม่ เตรียมจัดงานแบบย้อนยุคสงกรานต์วิถีล้านนา “ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองเจียงใหม่”12-16 เมษายน 2566 จังหวัดขอนแก่น จัดประเพณีสุดยอด สงกรานต์อีสานเทศกาลดอกคูนเสียงแคน และถนนข้าวเหนียว ประจำปี 2566 “สาดซิ่ง สาดศิลป์” ณ บริเวณบึงแก่นนคร

และศาลหลักเมืองขอนแก่นและถนนข้าวเหนียว ระหว่างวันที่ 8-15 เมษายน 2566 จังหวัดชลบุรี จัดงานวันไหลบางแสน ระหว่างวันที่ 16-21 เมษายน 2566 จังหวัดนครศรีธรรมราช จัดงานเทศกาลมหาสงกรานต์ แห่นางดานเมืองนคร (วิถีพุทธ-พราหมณ์) ระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน 2566 และ จังหวัดสมุทรปราการ จัดประเพณีสงกรานต์พระประแดง ระหว่างวันที่ 21-23 เมษายน 2566 เป็นต้น

โอกาสนี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ขอความร่วมมือภาคีเครือข่ายทางวัฒนธรรมทั้งภาครัฐและเอกชน ให้จัดกิจกรรมตามแนวทางและมาตรการการจัดงานประเพณีสงกรานต์ปี 2566 ภายใต้แนวคิด “สืบสานสงกรานต์วิถีไทย ร่วมสานใจ สู่สากล”

เพื่อเผยแพร่คุณค่าสาระ แสดงอัตลักษณ์ของประเพณีสงกรานต์ในท้องถิ่นต่างๆ และรักษามาตรการด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมถึงสุขอนามัย บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เป็นเจ้าบ้านที่ดีในการต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ

เพื่อให้สงกรานต์เป็นช่วงเวลาแห่งความสุของทุกคน พร้อมช่วยกันสืบสานอนุรักษ์และสืบทอดประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามให้คงอยู่เป็นที่ภาคภูมิใจแก่อนุชนรุ่นหลังสืบไป

 

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน