ทส. แถลงบทบาท ‘กรมโลกร้อน’ พร้อมเปิดศูนย์ฯหลัก 15 ก.ค. นี้ เชื่อมพื้นที่มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์

เมื่อวันที่ 12 ก.ค. ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) ประกาศความพร้อม “การจัดตั้งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม” ร่วมกับ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) พร้อมหนุนเรื่องการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผนึกกำลังร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม

นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองปลัดทส. กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนชื่อ “กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม” เป็น “กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม” แล้วเมื่อวันที่ 5 ก.ค. 66 ที่ผ่านมา โดยมีการปรับบทบาทและโครงสร้าง หน่วยงาน มีการนำภารกิจของกองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ที่ดูด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศเป็นหลักมาทำงานร่วมกัน ร่วมทั้งองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ช่วยสนับสนุนเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น ซึ่งแต่ละหน่วยงานจะทำหน้าที่ไม่ซ้ำซ้อนกัน แต่จะเสริมกัน เพื่อร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศให้มีประสิทธิภาพ

รองปลัดทส. กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ทส. ได้ทำแบบสำรวจความเห็นของประชาชนในการจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะทางด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เมื่อเดือนพ.ค. ที่ผ่านมา โดย สส. , สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และนิด้าโพลล์ จำนวน 2,000 ตัวอย่างทั่วประเทศ พบร้อยละ 89.15 เห็นด้วยกับการจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะทางด้านดังกล่าว โดยในวันที่ 15 ก.ค. นี้ จะมีการเปิดศูนย์ประสานงานหลักขึ้นที่กรมฯ เพื่อประสานงานกลางและเชื่อมโยงข้อมูลกับศูนย์ประสานงานทั้ง 76 จังหวัดด้วย

ด้าน นายสมศักดิ์ สรรพโกศลกุล อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) กล่าวว่า กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ยังคงดำเนินการตามภารกิจเดิมด้านสิ่งแวดล้อมและมุ่งเน้นการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพิ่มเติมด้านการปรับตัว เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้กับทุกภาคส่วนและทุกระดับ ด้านการลดก๊าซเรือนกระจกและส่งเสริมการเติบโตที่ปล่อยคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน ด้านการสร้างขีดความสามารถด้านการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งเสริมกลไกการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมเมือง สร้างเครือข่ายความร่วมมือ การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน การให้บริการข้อมูลและข้อสนเทศ การจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกในระดับพื้นที่

“สุดท้ายนี้ ขอฝากให้ทุกท่านติดตามข้อมูลข่าวสารของกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม พร้อมร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 เพราะทุก ๆ ภารกิจของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะสำเร็จได้ หัวใจสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จนั้น ล้วนมาจากความร่วมมือจากประชาชนและทุกภาคส่วน” นายสมศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

นายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสผ. กล่าวเสริมว่า ขณะนี้เป็นไทม์มิ่งที่สำคัญในการขับเคลื่อนแบบก้าวกระโดดเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาโลกร้อน ซึ่งสผ.จะช่วยสนับสนุนพัฒนาศัยกภาพของบุคลากรของกรมการเปลี่ยนแปลงฯ การสนับสนุนเงินกองทุนสิ่งแวดล้อม รวมทั้งช่วยส่งเสริมงานด้านการสร้างจิตสำนึก การสร้างการมีส่วนร่วม และเพิ่มขีดความสามารถของประชาชน เพื่อให้เกิดจุดเปลี่ยนของประเทศไทยในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

ขณะที่นางณัฐริกา วายุภาพ นิติพน รองผอ.อบก. เผยว่า อบก. จะสนับสนุนการรับรองปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาโครงการและการตลาดซื้อขายปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับการรับรอง เป็นศูนย์กลางข้อมูลที่เกี่ยวกับสถานการณ์ดำเนินงานด้านก๊าซเรือนกระจก ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ ตลอดจนให้คำแนะนำแก่หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเกี่ยวกับการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก และพัฒนาโครงการตลาดซื้อ-ขายปริมาณก๊าซเรือนกระจก (Carbon Credit) ที่ได้รับการรับรองด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน