เมื่อวันที่ 31ก.ค.66 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรแห่งชาติ พร้อมด้วย ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน นายเสริมชัย เซียวศิริถาวร ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 10 ตลอดจนผู้อำนวยการโครงการชลประทาน/โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา ผู้อำนวยการส่วนและผู้เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมติดตามสถานการณ์น้ำและการเพาะปลูกพืช ตลอดจนมาตรการรับมือฤดูฝนปี66 รวมถึงแนวทางการบริหารจัดการน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญ ณ สำนักงานชลประทานที่10 จังหวัดลพบุรี พร้อมลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำและระบบส่งน้ำ ณ คลองชัยนาท-ป่าสักฯ

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (31 ก.ค.66) 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 9,617 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 39 ของความจุอ่างฯ เป็นปริมาณน้ำใช้การรวมกัน 2,921 ล้าน ลบ.ม. จนถึงขณะนี้มีการจัดสรรน้ำช่วงฤดูฝนไปแล้ว 4,339 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 79 ของแผนฯ (แผนจัดสรรน้ำ 5,500 ล้าน ลบ.ม.) โดยได้จัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ เป็นหลัก พร้อมส่งเสริมให้เกษตรกรใช้น้ำฝนในการเพาะปลูก จึงทำให้การจัดสรรน้ำเป็นไปตามแผนที่กำหนด และไม่มีพื้นที่ในเขตชลประทานประสบภัยแล้ง ด้านการเพาะปลูกข้าวนาปีในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ได้ทำการปรับปฏิทินการเพาะปลูก เพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่ได้เริ่มเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จก่อนที่ฤดูน้ำหลากจะมาถึงในเดือนกันยายน เพื่อช่วยลดความเสี่ยงผลผลิตเสียหาย

ปัจจุบันมีการเพาะปลูกแล้ว 7.02 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 87 ของแผนฯ (แผน 8.05 ล้านไร่) ซึ่งเป็นไปตามแผนที่กำหนดเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังได้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝน ตามมาตรการรับมือฤดูฝนปี66 ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำหนด ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำในช่วงปลายฤดูฝนไว้ให้ได้มากที่สุด พร้อมวางแผนบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และเพียงพอสำหรับการผลิตน้ำประปาเพื่ออุปโภคบริโภคในพื้นที่ได้อย่างไม่ขาดแคลน

ในการนี้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้กำชับให้กรมชลประทานและการประปาส่วนภูมิภาค เคร่งครัดการบริหารจัดการน้ำอย่างสมดุลในทุกภาคส่วน วิเคราะห์และวางแผนอย่างรัดกุมให้มีความสอดคล้องกับความผันแปรของสภาพภูมิอากาศ พร้อมวางแผนการจัดสรรน้ำให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอ่างฯ เพื่อเตรียมรับมือภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งวางแผนและควบคุมการใช้น้ำให้เพียงพอถึงฤดูแล้งปี 2567 พร้อมสนับสนุนข้อมูลในการนำไปประกอบการบูรณาการป้องกันและบริหารจัดการความเสี่ยง รวมทั้งเตรียมใช้เป็นพื้นที่รับน้ำหลากในช่วงฝนตกหนักนี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน