เปิดเส้นทางการเปลี่ยนแปลง ‘น้องซาร่าห์’ เมื่อตัดสินใจออกจากกรอบ ลุยทำงานอาสาสมัครที่ ‘รวันดา’ เผย ความยากลำบาก ทำให้เข้มแข็งขึ้น

เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2566 น.ส.อภิชญา มกรพฤกษ์ หรือ ซาร่าห์ นิสิตคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้นปีที่ 4 อาสาสมัครประเทศรวันดาระยะเวลา 11 เดือน โครงการ Good News Corps (GNC) ของมูลนิธิเยาวชนสัมพันธ์นานาชาติ (International Youth Fellowship – IYF) เปิดเผยถึงการตัดสินใจเป็นอาสาสมัคร ว่า เหตุผลหลักๆ ที่ตัดสินใจเอาตัวเองไปลำบาก เป็นเพราะว่าอยากมองหาความหมายของชีวิต

ถึงแม้ตอนนั้นจะมีคนรอบข้างห้ามปราม และสงสัยว่าทำไมต้องไป เพราะชีวิตที่กำลังไปได้สวย ได้เรียนในที่ดีๆ อนาคตกำลังสดใส แล้วทำไมถึงเลือกที่จะดรอปเรียนไป “รวันดา” ประเทศที่ครั้งหนึ่งเคยมีการ “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์”

ตนเป็นลูกสาวคนเดียวในครอบครัวที่มีทุกอย่างพร้อม ไม่ได้ขาดตกบกพร่องอะไรเลย แต่แปลกที่ไม่มีความสุข เพราะมีปมที่ซ่อนเอาไว้ลึกๆ ไม่กล้าบอกใคร เนื่องจากคุณพ่อคุณแม่มีตนตอนที่ชรามากแล้ว คุณพ่อเป็นคนขาพิการข้างหนึ่ง เดินไม่สะดวก ทำให้ตนรู้สึกหงุดหงิดท่านบ่อยๆ และเพราะท่านทั้งสองอายุมาก ทำให้รู้สึกว่าไม่มีความมั่นคงในชีวิต ไม่อยากน้อยหน้าใคร ตั้งเป้าหมายในชีวิตที่ชัดเจนว่าจะเป็นผู้พิพากษา จึงเริ่มต้นตั้งใจเรียน และสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ ได้

น.ส.อภิชญา กล่าวว่า แต่แล้ววันหนึ่ง ตนได้ข่าวรุ่นพี่มหาวิทยาลัยฆ่าตัวตาย จึงกลับมาย้อนมองชีวิตของตัวเอง เพราะตนเป็นคนที่ตั้งใจเรียนมากๆ ผลการเรียนดี แต่รู้สึกว่างเปล่า ใช้ชีวิตเหมือนม้าศึก ได้แต่ตั้งใจเรียน เรียน และเรียน ในหัวมีแต่การเรียน ทำให้ลบคนรอบข้างออกไปจากชีวิต กลายเป็นคนเย็นชา ไม่มีความสุข ได้แต่โดดเดี่ยว และนั่นเป็นครั้งแรกที่เห็นว่าตัวเองมีจิตใจที่อ่อนแอ หวังว่าผ่านความยากลำบากจะทำให้จิตใจเข้มแข็งขึ้น จึงตัดสินใจไปเป็นอาสาสมัครที่ประเทศรวันดา

เมื่อเอ่ยถึงประเทศรวันดา หลายคนคงนึกถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1994 เป็นเหตุการณ์เศร้าสะเทือนใจไปทั้งโลก ประชากรเสียชีวิตไปเกือบ 1 ใน 3 ของประเทศ แต่ในปัจจุบัน ประเทศแห่งนี้กลับได้รับการขนานนามว่า “เป็นสวิตเซอร์แลนด์แห่งแอฟริกา” คอยโอบรับนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกด้วยความสะอาดสะอ้าน ปราศจากขยะตามท้องถนน ท้องฟ้าปลอดโปร่ง

น.ส.อภิชญา กล่าวว่า เมื่อเดินทางถึงรวันดา ก็ได้พบกับอาสาสมัครจากประเทศอื่นๆ ที่เลือกมาที่นี่เหมือนกัน ส่วนใหญ่เป็นชาวเกาหลีใต้ อยู่ไปสักพักก็เริ่มพบกับความยากลำบากดังคาด อย่างแรกก็คงหนีไม่พ้นอาหารการกิน ที่เรียกกันว่า “อูกาลี” ซึ่งทำมาจากแป้งข้าวโพด กวนอย่างต่อเนื่องจนแน่นเป็นก้อน มักจะกินกับซุป สตู หรือผักปรุงรส สำหรับตนมันยากที่จะกิน เพราะใช้แค่เกลือในการปรุงรส แล้วยิ่งวันไหนกินกับผักรสชาติแปลก ยิ่งเข้าไปใหญ่

ต่อมา คงหนีไม่พ้นกิจกรรมอาสาฯ มากมายที่ต้องทำ ไม่ว่าเข้าไปให้ความรู้กับเด็กๆ เรื่องการล้างมือ ผ่านทางการเต้น อัพวิดีโอสอนวิชาต่างๆ ลงยูทูบ เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงโควิด-19 ร้องเพลงประสานเสียง ตัดต่อวิดีโอ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เหมือนกำลังฝึกชีวิตการทำงาน เพราะต้องทำงานกันเป็นทีม มีการวางแผน การแสดงความคิดเห็น หรือบางทีก็มีการทะเลาะกันบ้างระหว่างเหล่าอาสาสมัคร ด้วยความเห็นไม่ตรงกัน

แถมงานแต่ละงานเราก็เลือกไม่ได้ด้วย เหมือนได้ภารกิจมา แล้วต้องช่วยกันคิดช่วยกันทำกับเพื่อนๆ จนออกมาเป็นผลงาน แต่ก็ใช่ว่ามันจะเป็นผลงานชิ้นโบว์แดง มีดีบ้าง พลาดบ้าง ที่จำได้ดีคงจะไม่พ้นการถ่ายวิดีโอร้องเพลงประสานเสียง ในพวกเราไม่มีใครร้องเพลงดีเลย เป็นวิดีโอที่แย่มาก มันไม่ควรนำไปเผยแพร่ที่ไหนเลย แต่แปลกที่อาจารย์ที่ดูแลเรา เขาก็ให้เราลงยูทูบในนามขององค์กร ซึ่งมันเป็นอะไรที่ทึ่งมาก

เพราะที่ผ่านมาเวลาตนทำงาน จะเป็นพวกเพอร์เฟกต์ชันนิสต์มาก หากรู้ว่าออกมาไม่สมบูรณ์แบบหรือไม่เป็นที่น่าพอใจ ก็จะรู้สึกเฟล และกล่าวโทษตัวเอง แล้วก็จะไม่อยากทำสิ่งนี้แล้ว แต่การเป็นอาสาสมัครได้เรียนรู้ว่าหลังจากที่ทำเต็มที่แล้ว ถึงแม้จะผิดพลาดบ้าง ก็ไม่เป็นไร สิ่งสำคัญคือได้ลงมือทำสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่ถนัด และได้มีโอกาสเรียนรู้จากสิ่งนั้นต่างหาก

น.ส.อภิชญา กล่าวว่า นอกจากงานอาสาฯ แล้ว ยังได้มีโอกาสท่องเที่ยวเก็บความทรงจำที่สวยงามด้วย ตนได้ไปอุทยานแห่งชาติอะคาเกร่า ซึ่งเป็นที่รู้จักในด้านความหลากหลายทั้งทางชีวภาพและภูมิทัศน์ จึงสามารถพบเห็นสัตว์ป่าหลายประเภท ตนไปช่วงเดือนธ.ค. บรรยากาศดีมาก หน้าที่พักเห็นวิวท้องฟ้าบรรจบกับทะเลสาบ อากาศหนาวชื้น ตอนขับรถขึ้นภูเขาก็เห็นวิวข้างล่างสวยมาก

ตนได้เจอสิงโต จระเข้ ฮิปโป กวาง ยีราฟ ม้าลาย ลิง มีกล้องส่องทางไกลให้ใช้ส่องสัตว์ด้วย ริมทางก็มีดอกไม้ป่า อากาศก็บริสุทธิ์มากๆ ประสบการณ์นั่งรถจี๊ปครั้งแรกรู้สึกแอดเวนเจอร์มาก มันจะมีหลังคาเปิดประทุนได้ ตอนยืนบนเก้าอี้แล้วลมตีหน้าคือฟินมาก คิดแล้วก็อยากกลับไปอีกครั้ง

วันหนึ่ง ตนได้รับโทรศัพท์จากที่ประเทศไทย ว่าคุณพ่อต้องเข้าโรงพยาบาล ตอนนั้นรู้สึกกระวนกระวายใจมาก กลัวและกังวลว่าตัวเองจะไม่สามารถกลับไปเจอคุณพ่อได้อีก ภรรยาของอาจารย์เขาเห็นว่าตนซึมๆ ผิดปกติจึงเรียกคุย ถามไถ่ถึงจิตใจและสถานการณ์ดังกล่าว ตอนนั้นเป็นโอกาสให้ซาร่าห์ได้เล่าเรื่องราวที่อยู่ในใจ เรื่องปมด้อย เรื่องคุณพ่อ เรื่องทุกข์ใจ ท่านรับฟังอย่างตั้งใจและตอบกลับมาในสิ่งที่ทำให้ชีวิตของตนเปลี่ยนไปตลอดกาล

“ว้าว คุณพ่อเป็นฮีโร่ของเธอนะ” ตอนที่ได้ฟังคำนี้มันทึ่งจนพูดไม่ออกเลย มันเป็นคำที่ไม่เคยคิดมาก่อนว่าพ่อฉันเป็นฮีโร่เหรอ เพราะที่ผ่านมาตัดสินและมองพ่อในแง่ลบมาตลอด พอได้คิดลึกๆ กับคำนี้ ก็เห็นว่าคำนี้เป็นความจริง เพราะกับคนที่ร่างกายไม่สมบูรณ์ อายุมากแล้วกลับเลี้ยงดูตนได้ ให้เติบโต มีการศึกษา และมาถึงจุดนี้ได้ มันวิเศษมาก

ถ้าเทียบกับพ่อแม่คนอื่นแล้ว ก็มีหลายอย่างที่ไม่พร้อม ทั้งร่างกายหรือสถานะทางบ้าน แต่พ่อกลับเลี้ยงดูตนได้ให้เท่าเทียมกับคนอื่น ทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่าที่ผ่านมา ความคิดตนมันผิด ทำให้รู้สึกขอบคุณกับคุณพ่อและรักพ่อมากขึ้นไปอีก

น.ส.อภิชญา กล่าวว่า หลังจากได้รับจิตใจใหม่ตนก็ได้บอกเล่าเรื่องราวนี้ให้กับเด็กๆ ที่แอฟริกาถึงคำขอบคุณที่ได้รับ ได้เล่าเรื่องราวของคุณพ่อให้พวกเขาได้ฟัง ช่วงใกล้จะกลับประเทศไทย ตนได้รับจดหมายจากเด็กคนหนึ่ง น้องเขียนมายาวมาก แต่มีประโยคหนึ่งที่ทำให้ประทับใจ “Tell your parent that I love them” (ช่วยบอกคุณพ่อคุณแม่ของเธอด้วยนะ ว่าฉันรักพวกเขา)

ตอนที่ได้อ่านประโยคนี้มันอธิบายไม่ได้เลย บางคนอาจจะคิดว่ามันตลก แต่น่าแปลกที่ตนกลับเชื่อไปทั้งหัวใจเลย เพราะมันคือความจริง ได้เห็นว่าความรักที่ตนได้รับจากคุณพ่อ เด็กๆ เหล่านี้ได้รับไปทั้งหมด จึงเขียนประโยคนี้ในจดหมาย ตอนนั้นตนได้แต่ร้องไห้ออกมาเพราะความประทับใจ เป็น 1 ปีในรวันดาที่ไม่มีวันลืม รวันดาได้เติมเต็มจิตใจใหม่ ที่เต็มไปด้วยความสุขให้กับตน

“IYF บอกกับเราเสมอว่า การไปเป็นอาสาสมัคร คือการไปเป็นดวงดาว” หนูเห็นด้วยมากๆ เพราะก่อนไปเป็นอาสาฯ หนูใช้ชีวิตเหมือนดาวที่มอดไปแล้ว ไม่มีแสงอะไรเลย ได้แต่ใช้ชีวิตอยู่กับตัวเอง อยู่ในมุมมืดๆ แต่การได้ไปรวันดา ทำให้ได้สัมผัสกับความรัก ความสุข และมีโอกาสได้ส่งต่อความรัก ความสุขที่ได้รับมาให้กับผู้คนที่นั่น ได้เห็นคนที่ได้รับความรักความสุขนี้ หนูก็มีความสุขและความหวังว่าทุกคนก็จะมีโอกาสได้รับประสบการณ์ดีๆ แบบนี้เช่นกัน” น.ส.อภิชญา กล่าว

มูลนิธิเยาวชนสัมพันธ์นานาชาติ (International Youth Fellowship – IYF) เป็นองค์กรที่มิได้มุ่งหวังผลกำไร ก่อตั้งขึ้นที่สาธารณรัฐเกาหลี เมื่อปี พ.ศ.2544 โดยมีพื้นฐานจากความเป็นคริสเตียนและมีสาขาในประเทศต่างๆ มากกว่า 100 ประเทศทั่วโลก สำหรับประเทศไทย IYF จดทะเบียนจัดตั้งเป็นมูลนิธิฯ ในปี พ.ศ.2547

ตลอดเวลาเกือบ 20 ปี ในการดำเนินกิจกรรมกับเยาวชนในประเทศไทย IYF มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพความเป็นผู้นำและปลูกฝังโลกทัศน์สากลผ่านทางโครงการอาสาสมัครต่างประเทศ (Good News Corps) และยังมุ่งเน้นในการแก้ไขปัญหาและเปลี่ยนแปลงชีวิตเยาวชนให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้น อาทิ การติดยาเสพติด การติดเกม การขาดความใส่ใจในการศึกษาและขาดความยับยั้งชั่งใจ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของเยาวชนในอนาคต

IYF ได้รับความร่วมมือจากองค์กรต่างๆ ทั้งหน่วยงานจากภาครัฐและเอกชนในการทำกิจกรรมระดับนานาชาติ เช่น โครงการค่ายเยาวชนนานาชาติ IYF World Camp, โครงการอาสาสมัครต่างประเทศ (Good News Corps), Education Leaders Forum, Healing Mind, Mind Lecture และ Language Academy เป็นต้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน