มูลนิธิ IYF เดินสาย 14 จังหวัด จัดงานสัมมนา หลักสูตรเรื่อง ‘โลกของจิตใจ’ มุ่งนำไปปรับใช้แก้ไข-พัฒนาเยาวชน ‘ผู้ว่าฯ-บุคคลากรด้านศึกษา’ เข้าร่วมกว่า 3,152 คน

เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างวันที่ 19 มิ.ย. – 23 ส.ค. ที่ผ่านมา มูลนิธิเยาวชนสัมพันธ์นานาชาติ (International Youth Fellowship – IYF) ประจำประเทศไทย เดินสายจัดงานสัมมนา Education Leaders Forum ทั่วประเทศไทย จำนวน 14 จังหวัด คือ ปทุมธานี ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี อุดรธานี ขอนแก่น มหาสารคาม ตาก กำแพงเพชร นครสรรค์ ชัยภูมิ นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา และปราจีนบุรี

เพื่อแนะนำหลักสูตร Mind Education หรือหลักสูตรการศึกษาเรื่องโลกของจิตใจจากสาธารณรัฐเกาหลี ให้กับบุคลากรด้านการศึกษานำไปปรับใช้กับนักเรียน นักศึกษาในสังกัดที่ดูแล รวมผู้เข้าร่วมงานทั้งหมด 3,152 คน แบ่งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน 700 คน และบุคลากรด้านการศึกษาอื่นๆ 2,452 คน

นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจากแขกวีไอพีหลายคน อาทิ นายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ ผู้ว่าฯ มหาสารคาม, นางคณิตา ราษฎร์นุ้ย รองผู้ว่าฯ อุดรธานี, นางฉัฐพร งามเกลี้ยง พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดขอนแก่น (พมจ.), นางพรเพชร เขมวิรัตน์ รองผู้ว่าฯ นครสวรรค์, ดร.ศศิธร สุวรรณพูล รักษาการในตำแหน่งศึกษาธิการจังหวัดตาก,

นายกรณพงศ์ คงปาน รองนายกเทศมนตรีนครแม่สอด, ดร.สมศักดิ์ เอี่ยมดี ที่ปรึกษานายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) กำแพงเพชร, ดร.สุริยา หมาดทิ้ง ศึกษาธิการจังหวัดฉะเชิงเทรา และน.ส.ฐิติมา ฉายแสง ส.ส.ฉะเชิงเทรา เขต 1 พรรคเพื่อไทย

ในช่วงแรกของกิจกรรมเริ่มต้นด้วยกรณีศึกษาจากนักเรียนโรงเรียนลินคอล์น เฮาส์ ที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงจิตใจจากหลักสูตร Mind Education น.ส.ณัฐธิชา คำบัว หรือน้องปราย นักเรียนชั้นปีที่ 3 อายุ 19 ปี เล่าว่า ช่วงมัธยมเป็นเด็กเกเร ทะเลาะกับคนในครอบครัวบ่อยๆ รู้สึกไม่เข้าใจว่าทำไมถึงไม่ให้ไปเที่ยวกับเพื่อน ตอนนั้นแค่อยากจะทำตามใจของตัวเองเท่านั้น

มีเพื่อนชวนไปเสพยา ตอนแรกก็คิดว่าลองนิดหน่อยคงจะไม่เป็นอะไร แต่สุดท้ายก็ติด จากนั้นก็เสพมาเรื่อยๆ คิดว่าสิ่งนั้นคือความสุขมาตลอด เสพไปสักพักก็เริ่มกลายเป็นผู้ขาย พอคุณพ่อคุณแม่มารู้ทีหลัง ก็เสียใจมาก ตอนนั้นรู้สึกอยากออกจากยาเสพติด แต่มันก็เลิกเองไม่ได้เลย

“ตอนที่ได้เข้ามาเรียนที่โรงเรียนลินคอล์น เฮาส์ ได้เรียนรู้เรื่อง Mindset เกี่ยวกับจิตใจ วันนั้นผู้อำนวยการโรงเรียนได้บรรยายเรื่อง “เบรก” ท่านบรรยายว่า “รถที่ดูดี สวย และแพง แต่ไม่มีเบรก สุดท้ายก็จะเกิดอุบัติเหตุอย่างแน่นอน” ตัวหนูเองก็เหมือนกัน ถ้าไม่มีเบรกในใจ สุดท้ายก็ได้แต่ตามความคิดตัวเองไปเรื่อยๆ เสพยาไปเรื่อยๆ หนูก็ได้เห็นว่ายาเสพติดที่หนูคิดว่ามันคือความสุข ความจริงมันกลับทำลายชีวิตของหนู ทำลายความสัมพันธ์กับในครอบครัว

พอได้เรียนรู้เรื่องจิตใจ หนูก็ได้เปิดใจคุยกับครอบครัว ขอโทษคุณพ่อคุณแม่ จากนั้นหนูก็สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข จากที่หนูไม่เคยมีความฝัน ตอนนี้หนูก็มีความฝันที่อยากจะเป็นล่ามแปลภาษาจีน หนูรู้สึกขอบคุณโรงเรียนลินคอล์น เฮาส์ ที่ให้อนาคตกับหนู” น้องปราย กล่าว

ส่วนช่วงการบรรยาย Mind Education โดย ดร.ฮัก เชิล คิม ผู้ก่อตั้ง IYF ประจำประเทศไทย ได้พูดถึงชีวิตของโทมัส เอดิสัน นักประดิษฐ์ผู้ยิ่งใหญ่ ที่ริเริ่มคิดค้นหลอดไฟว่า ตอนที่เอดิสันอายุ 4 ขวบ เขายังพูดไม่ได้ หมอบอกว่าเขาเป็นออทิสติก พอเรียนชั้นประถมศึกษา ด้วยความที่คิดไม่เหมือนคนอื่น จึงถูกไล่ออกด้วยเหตุผลที่ว่าโง่เกินไป ตอนแรกคุณแม่ก็ท้อใจ แต่เมื่อกลับมาคิดอีกครั้ง ได้คิดว่า “ฉันกำลังมองด้วยสายตาแบบไหน ถ้าเชื่อว่าลูกโง่ ก็โง่ ถ้าเชื่อว่าเป็นอัจฉริยะก็อัจฉริยะ”

เพราะความเชื่อของคุณแม่ โทมัส เอดิสัน จึงผลิตหลอดไฟจากไม้ไผ่สำเร็จ เขาใช้เวลากับการคิดค้นหาวัสดุทำไส้หลอดไฟ 25,000 ครั้ง ในขณะที่คนทั่วไปมองว่า “ล้มเหลว” แต่เขากลับพูดได้ว่า “กำลังเข้าใกล้ความสำเร็จ” ตอนห้องทดลองไฟไหม้ ขณะที่คิดค้นแผ่นเสียงโบราณและแบตเตอรี่ เขาสามารถพูดได้ว่า “มาดูความมหัศจรรย์ของการเผาครั้งนี้ ความล้มเหลวของฉันถูกเผาหมดแล้ว” ความเชื่อและความหวังเช่นนี้ของเขา เริ่มต้นจากคุณแม่

“กรณีศึกษาผม มองนักศึกษาชายคนหนึ่งที่ชื่อกอล์ฟก็สิ้นหวัง เขาเป็นแค่เด็กเสพยา ขี้เหล้า แต่ตอนที่จัด World Camp อาจารย์อ็อก ซู พาร์ค ผู้ก่อตั้ง IYF บอกผมว่า “เขาเป็นดวงดาว” ตอนนั้นผมได้เห็นว่าผมมองกอล์ฟผิดไป และรับสายตาของอาจารย์อ็อก ซู พาร์ค เข้ามาแทนแม้พฤติกรรมเขาไม่เปลี่ยน

แต่เมื่อผมมีความเชื่อและความหวัง สุดท้ายทุกอย่างก็เป็นไปตามนั้น เพราะปัจจุบันกอล์ฟก็เป็นดวงดาวจริงๆ ตามความเชื่อนั้น สิ่งที่สำคัญในการให้การศึกษาขึ้นอยู่กับว่าผู้นำการศึกษามองเด็กๆ แบบไหน หากมีความเชื่อและความหวัง เยาวชนเหล่านี้ก็สามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้” ดร.ฮัก เชิล คิม กล่าว

จากนั้นเข้าสู่กรณีศึกษาการสอน Mind Education ให้กับนักเรียนลินคอล์น เฮาส์ (Students need life coach) เพื่อเห็นภาพการเปลี่ยนแปลงจิตใจของนักเรียนผ่านหลักสูตร Mind Education ต่อมาเป็นช่วงห้องเรียนจำลอง (Teach & Meet their hearts) ตัวอย่างกิจกรรมการเรียนการสอนในหลักสูตร Mind Education คือ กิจกรรมทลายกำแพง ที่ชื่อว่า “กิจกรรม 3.3.3.”

กิจกรรมนี้เป็นอีกหนึ่งอย่างที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับคนรอบข้างดีมากขึ้น เพราะโดยปกติคนทั่วไปในยุคปัจจุบันจะไม่ค่อยมีการสื่อสารพูดคุย และทำให้เกิดปัญหาความสัมพันธ์ในที่สุด ชั่วโมงนี้จะเริ่มต้นโดยให้ผู้เข้าร่วมได้นึกถึงคนหนึ่งที่อยากจะไหลเวียนจิตใจด้วย โดยมีโจทย์ให้ 3 หัวข้อ คือ 1.สิ่งที่อยากจะขอโทษ 3 อย่าง 2.สิ่งที่อยากจะขอบคุณ 3 อย่าง และ 3.เขาสำคัญกับเราอย่างไร 3 อย่าง

เมื่อตอนที่ทำกิจกรรมนี้ ผู้นำและบุคลากรทางการศึกษาหลายท่านได้มีโอกาสได้นึกถึงคนที่อยากจะพูดคุยสื่อสารมากที่สุด และได้โทรศัพท์ไปหาคนที่อยากจะบอก เพราะที่ผ่านมาไม่เคยได้พูดคำที่อยู่ในใจออกมาเลย ทำให้หลายครั้งไม่เข้าใจกัน และห่างเหินกัน แต่ผ่านทางกิจกรรมตรงนี้ ทั้งสองฝ่ายได้เห็นจิตใจและเข้าใจกัน ทำให้มีความสุขมากขึ้น

ช่วงสุดท้ายคือ การหารือถึงร่วมมือทางการศึกษา ระหว่าง IYF กับ หน่วยงานและสถาบันต่างๆ โดยมีสถาบันที่ลงนามสร้างความร่วมมือ (MOU) เพื่อทำกิจกรรมด้านการศึกษาต่อในอนาคต คือ นายภาคิน ติระพงศ์ไพบูลย์ นายกเทศมนตรีเมืองมหาสารคาม เพื่อต่อยอดทำกิจกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาเยาวชนตามที่ตั้งใจไว้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน