สสส. จับมือ ภาคีเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง จัดเวทีเสียงเยาวชนเพื่อการเปลี่ยนแปลง จี้รัฐบาล ปกป้องเด็ก-เยาวชน ลดปัจจัยเสี่ยง ยาเสพติด-เหล้า-พนัน-อุบัติเหตุ

เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2566 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ภาคีเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง มูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัว เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในโอกาสวันเยาวชนแห่งชาติ ปี 2566 ตอน “Youth Voice For Change” เสียงเยาวชนเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส. มีจุดยืนในการป้องกันเยาวชนให้ห่างไกลจากปัจจัยเสี่ยง ทั้งบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาเสพติด การพนัน ที่นำมาซึ่งปัญหาอุบัติเหตุ ปัญหาความรุนแรง ทั้งนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจสูบบุหรี่และการดื่มสุราของประชากรไทย ปี 2564 พบเยาวชน อายุ 15-24 ปี สูบบุหรี่ 12.7% ลดจากปี 2560 ที่อยู่ที่ 15.4%

โดยมีนักสูบหน้าใหม่ที่สูบบุหรี่ไม่เกิน 1 ปี 211,474 คน ในจำนวนนี้ พบว่า 73.7% เริ่มสูบบุหรี่ช่วงอายุ 15-19 ปี ขณะเดียวกันมีอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าถึง 78,742 คน คิดเป็น 0.14% ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ที่มีจำนวน 57 ล้านคน

ส่วนการดื่มสุราในเยาวชนอายุ 15-24 ปี ปี 2547-2558 อัตราการดื่มอยู่ที่ 23.5%-29.5% ปี 2564 ลดเหลือ 20.9% หรือประมาณ 1.9 ล้านคน ทั้งยังพบการดื่มแล้วขับ 33.06% ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนถนน บาดเจ็บและเสียชีวิตกว่า 25.09% ก่อความรุนแรง 24.7% เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด 17.2%

ขณะที่ปัญหาการพนันในปี 2564 พบว่ามีคนไทยต้องอยู่ท่ามกลางคนเล่นพนัน 59.6% ประมาณ 32 ล้านคน ในคนอายุ 15 ปีขึ้นไป เล่นพนัน 4.3 ล้านคน มีพฤติกรรมเข้าข่ายเป็นปัญหา 6 แสนคน มีแนวโน้มเป็นนักพนันหน้าใหม่เพิ่มจาก 6.28 แสนคนในปี 2560 เป็น 7.95 แสนคน ในปี 2564 บางคนเป็นผู้ที่มีปัญหาครบทุกความเสี่ยง

“จากปัญหาสภาพปัญหาดังกล่าว สสส. จึงร่วมกับภาคีเครือข่ายวางยุทธศาสตร์ในการรณรงค์แก้ไขปัญหา ทั้งงานด้านวิชาการ และการทำงานเชิงพื้นที่ เพื่อทำให้เกิดสังคมที่ห่างไกล ปลอดภัยจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เพื่อสุขภาวะของเด็กและเยาวชน” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว

ด้าน น.ส.ศุภัทรา ภาแก้ว ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง กล่าวว่า ภาคีเครือข่ายด้านเด็ก และเยาวชน ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ข้อเสนอต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังนี้ 1.ขอให้รัฐบาลมีนโยบายที่ปกป้องและลดผลกระทบกับเด็กและเยาวชนจากปัจจัยเสี่ยง เหล้า พนัน บุหรี่ไฟฟ้า ยาเสพติด อุบัติเหตุและการคุกคามทางเพศ โดยประกาศจุดยืนไม่สนับสนุนนโยบายเพิ่มพื้นที่เสี่ยงและโอกาสในการเข้าถึงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนที่เติบโตเป็นอนาคตของชาติ

2.ขอให้รัฐบาลสนับสนุนพื้นที่และการรวมกลุ่มทำกิจกรรมสร้างสรรค์ของเด็กและเยาวชน ทั้งในและนอกระบบการศึกษา ให้สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ตามที่ตนเองสนใจ และพัฒนาความรู้ ความสามารถนำมาพัฒนาต่อยอดได้ในการดำเนินชีวิต และไม่ปิดกั้นความหลากหลายทางเพศ 3. ขอให้รัฐบาลเร่งดูแลมาตรการเชิงป้องกันเด็กและเยาวชนจากกัญชาและกระท่อมเป็นการด่วน

4.ขอให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับปัญหาสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชน เร่งจัดหาบุคลากรที่มีความเข้าใจในเรื่องสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นมาช่วยดูแล ป้องกันแก้ไขทั้งในระบบการศึกษาและนอกระบบ เนื่องจากปัญหาสุขภาพจิตเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และกำลังเป็นปัญหาใหญ่ของเด็ก เยาวชนในปัจจุบัน

ขณะที่ นายวรวุฒ อมะรึก เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา กล่าวว่า เด็กและเยาวชนเติบโตขึ้นทุกวัน สวนทางกับพื้นที่สร้างสรรค์ พื้นที่แสดงออกที่ลดน้อยลงเรื่อยๆ ในสังคม จากวิกฤตการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 4-5 ปี ที่ผ่านมา ทั้งวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ภัยพิบัติธรรมชาติ สื่อออนไลน์ วิกฤตการเมือง ความคิดเห็นต่างรุ่นต่าง gen ทำให้เด็กๆ เกิดภาวะ learning loss การเรียนรู้ที่ถดถอยเรื่อยๆ

เด็กเล็กหยุดอยู่บ้าน ติดจอติดมือถือ เพราะขาดการทำกิจกรรมนอกบ้าน มีภาวะน้ำหนักเกิน จากพฤติกรรมเนือยนิ่ง ภาวะเครียดสะสมจากการแข่งขันที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เป็นโรคซึมเศร้านำมาสู่อัตราการจบชีวิตที่สูงขึ้น

“เมื่อมีพื้นที่แสดงออก หรือพื้นที่สร้างสรรค์มีสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยจะช่วยปลุกพลัง ปลุกแสงในตัวเด็กเยาวชนให้ส่องประกายให้มีชีวิตชีวา ทำให้เด็กสามารถได้ลองทำ ลองเล่น เพื่อค้นหาตัวตนหรือความสามารถของตัวเอง รวมถึงได้แสดงความสามารถ เช่น การเล่นสเก็ตบอร์ด แม้จะมีลานสเก็ตบอร์ด แต่ไม่มีเงินซื้อ เด็กจะไม่สามารถค้นหาว่าตัวเองเก่งเรื่องนี้ ดังนั้นถ้ามีพื้นที่และมีอุปกรณ์ให้เด็กได้ลองใช้ในราคาที่สามารถเข้าถึงได้

รวมถึงพื้นที่สร้างสรรค์ ต้องกระจายให้เด็กเยาวชนครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย เด็กในเมืองและชนบทต้องเข้าถึงได้ง่าย และให้คุณค่าของคนในชุมชน ครูภูมิปัญญาเป็นผู้ออกแบบการเรียนรู้บนฐานชุมชนได้ เพราะเด็กเยาวชนไม่มีวันหยุดในการเรียนรู้ เด็กต้องได้เล่น ได้แสดงออก ได้ค้นหาประสบการณ์ใหม่ที่ท้าทายอยู่เสมอ ดังนั้น ทุกพื้นที่รอบตัวเด็กต้องเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ พื้นที่ฉายแสงลดพื้นที่เสี่ยง” นายวรวุฒิ กล่าว

ด้าน นายศุภวัฒน์ ไชยโกศ เยาวชนที่เคยก้าวพลาด อดีตเยาวชนศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย)บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า พ่อเป็นคนติดเหล้า กลับจากทำงานมาก็เมาตลอด เมาหนัก กลับมาบ้านก็ทะเลาะกับแม่ ทำร้ายแม่ ถ้าแม่ไม่อยู่ก็จะมาลงที่ตน พ่อใช้ความรุนแรงตลอด จึงกลายเป็นเด็กที่เก็บกดรับความรุนแรงที่เห็นทุกวันมาใช้ข้างนอกกับเพื่อน หรือคนอื่นๆ กลายเป็นเสพติดการใช้ความรุนแรง สร้างตัวตนการยอมรับจากเพื่อน

ทำทุกวิธีให้เพื่อนยอมรับ จึงต้องไล่ตี ฟันแทง กับคู่อริอยู่ตลอด เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อเดือนมี.ค. ปี 2559 ตอนนั้นอายุ 17 ปี ไล่ตามยิงคู่อริต่างสถาบัน โดนจับในคดีร่วมกันฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ต้องรับความผิดที่ตนเองก่อไว้ จากบ้านต้นทางมาจนถึงเข้าสู่บ้านกาญจนาภิเษก มีกิจกรรมการทำ Empower ดึงคนในครอบครัวมาช่วยกันคิดว่าสิ่งไหนที่เป็นปัจจัยผลักไสให้เด็กออกจากบ้าน

“พ่อแม่ต้องมาช่วยกันคิด วิเคราะห์ร่วมกัน เพราะครอบครัวมีพลังอำนาจเปลี่ยนแปลงเด็กได้ จากการแลกเปลี่ยนความคิดที่จะทำยังไงถึงจะรอดจากปัญหาเหล่านี้ จากนั้นก็นำไปสู่การแก้ปัญหา พ่อเลิกกินเหล้า แม่เลิกบ่น ใช้เวลาหลายเดือน เข้าร่วมกิจกรรมหลายครั้ง ผมก็เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น การกอบกู้ความคิดที่ผิดพลาดให้คิดใหม่

จุดเปลี่ยนนี้ทำให้ได้ครอบครัวที่อบอุ่นกลับคืนมา เกิดการเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อครอบครัว มีความสุขมากขึ้น สำหรับผมแล้วเหล้ามันเข้ามาทำร้ายผมและครอบครัวจริงๆ วันเยาวชนในปีนี้จึงอยากให้ภาครัฐหันมาฟังเสียงของพวกเราบ้าง” อดีตเยาวชนศูนย์ฝึกบ้านกาญจนาภิเษก กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน