กสศ. หารือร่วมกับ รมว.ศธ. จับมือสร้างการศึกษาที่มีคุณภาพและเสมอภาคร่วมกัน ให้ผู้เรียนเชื่อมั่นว่าการเรียนรู้คือการสร้างโอกาสสร้างทางเลือกที่เหมาะสม

พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) และคณะผู้บริหารระดับสูงของศธ. ได้ร่วมหารือและประสานการทำงานร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยมี ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหาร กสศ. รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ กรรมการบริหาร กสศ. ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. และคณะเข้าร่วมประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและกำหนดทิศทางการทำงานร่วมกันระหว่าง 2 หน่วยงาน

กสศ. หารือร่วมกับ รมว.ศธ. จับมือสร้างการศึกษาที่มีคุณภาพและเสมอภาคร่วมกัน

กสศ. หารือร่วมกับ รมว.ศธ. จับมือสร้างการศึกษาที่มีคุณภาพและเสมอภาคร่วมกัน

ผู้จัดการ กสศ. ได้รายงานข้อมูลสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในปีการศึกษา 2566 และผลการบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้แก่เด็กเยาวชนในสังกัด สพฐ. สอศ. และ สช. ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา

โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่ครัวเรือนมีรายได้อยู่ใต้เส้นความยากจนซึ่งถือเป็นกลุ่มเปราะบางที่เสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา ให้สามารถศึกษาต่อทั้งในและนอกระบบการศึกษาจนเต็มศักยภาพเพื่อเป็นกำลังคนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศในอนาคต

ดร.ไกรยส กล่าวว่า ที่ผ่านมา กสศ.ได้ทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 6 สังกัดดูแลนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษในระบบการศึกษาประมาณ 1.2 ล้านคน และพัฒนาการค้นหาและป้องกันเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา รวมทั้งช่วยให้เด็กกลุ่มเป้าหมายกลับเข้ามาสู่ระบบการศึกษาที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียนภายใต้เครือข่ายข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ

รวมทั้งสนับสนุนการผลิตพัฒนาครูให้แก่โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดารมากกว่า 1,500 แห่ง พร้อมทั้งส่งเสริมการระดมความร่วมมือจากชุมชนและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาอย่างยั่งยืน รวมทั้งการระดมทรัพยากรจากภาคเอกชน และการเสนอโครงการเพื่อออกสลากการกุศล เป็นต้น

ทั้งนี้ ภายหลังจากการรับฟังข้อมูล พล.ต.อ.เพิ่มพูน ได้มอบนโยบายแก่ผู้บริหาร ศธ. และ กสศ. ให้ร่วมกันบูรณาการทรัพยากรเพื่อสนับสนุนมาตรการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาร่วมกัน เช่น การสนับสนุนทุนการศึกษาให้แก่กลุ่มเป้าหมายในสถานศึกษาสังกัด ศธ.

โดยเฉพาะเยาวชนจากครัวเรือนยากจนที่ต้องการศึกษาต่อสายอาชีพในสังกัด สอศ. ทั้งหลักสูตร ปวช. ปวส. และหลักสูตรระยะสั้นที่เน้นจบการศึกษาในเวลาสั้น เพราะเห็นร่วมกันว่าเป็นรูปแบบการเรียนที่ตอบโจทย์ความต้องการของเด็กกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะผู้ที่มีความยากจนพิเศษเรียนเพื่อมีงานทำได้ และหาแนวทางสนับสนุนทุนการศึกษาเพื่อให้เยาวชนได้เข้าเรียนสายอาชีพให้มากขึ้นตามความต้องการของตลาดแรงงาน

พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวว่า ครูเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างคุณภาพทางการศึกษา จำเป็นที่จะต้องหามาตรการและแนวทางต่างๆ มาพัฒนาคุณภาพครู เช่น การนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามามีบทบาทช่วยเหลือครู ช่วยแบ่งเบาภาระงานด้านการดูแลนักเรียน
โดยกรณีนี้ ดร.ไกรยส ได้รายงานเพิ่มเติมว่า กสศ. ได้ทำงานร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาบูรณาการฐานข้อมูลความเสี่ยงของนักเรียน จัดทำ Data Catalogue แนวทางและกระบวนการ ดูแลช่วยเหลือนักเรียนอย่างครอบคลุมทุกมิติปัญหา ผ่านระบบ OBEC Care ให้สอดคล้องกับแนวทางการดูแลช่วยเหลือเด็กตามความต้องการเป็นรายบุคคล

ซึ่งได้ดำเนินการเป็นโครงการนำร่องแล้วใน 28 เขตพื้นที่การศึกษา ในปีการศึกษา 2566 มีสถานศึกษา 1,050 แห่งทั่วประเทศ โดย สพฐ และ กสศ มีแผนจะขยายผลระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน หรือ ระบบ OBEC Care ให้ครอบคลุม 245 เขตพื้นที่ทั่วประเทศในปีการศึกษา 2567

ด้าน พล.ต.อ.เพิ่มพูน จึงได้มอบหมายให้ สพฐ. สรุปตัวเลขจำนวนครูที่ใช้ระบบระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในการทำงานส่วนนี้เพื่อนำมาออกแบบ วางแผนและวางแนวทางการขยายผลเพิ่มเติมจากพพื้นที่นำร่องที่ได้ดำเนินการไปแล้วต่อไป

ขณะเดียวกัน ยังได้ร่วมกันหารือประเด็นอื่นๆ เช่น แนวทางการสร้างระบบแนะแนวของโรงเรียน ซึ่งนอกจากจะต้องมีครูแนะแนวที่ดีแล้ว ควรนำระบบรุ่นพี่มาช่วยแนะแนวและสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนและการทำงาน การผลิตและพัฒนาครูในโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น พิจารณานำโครงการคุรุทายาทที่เคยทำมาแล้ว 13 รุ่น

เพื่อให้มีรุ่นพี่คุรุทายาทช่วยสนับสนุนการทำงานต่อในโรงเรียนพื้นที่เป้าหมายหรือโรงเรียนปลายทาง ซึ่งอาจรวมเป็นโครงการเดียวกัน โดยควรหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใน ศธ. เพื่อทำงานร่วมกัน โดยมีข้อเสนอให้ใช้ชื่อคุรุทายาทเพื่อให้ครอบคลุมการผลิตครูในระบบปิด

ที่ประชุมยังได้หารือด้านการแก้ปัญหาต่างๆ ของโรงเรียนขนาดเล็กโดยเฉพาะการเดินทาง โดยเสนอให้ทดลองนำร่องการจัดการขนส่งให้นักเรียนโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งไม่ได้อยู่ในกลุ่มสถานศึกษาที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล (Stand Alone) เพื่อให้เด็กมีโอกาสไปเรียนในโรงเรียนคุณภาพ โดยสร้างแรงจูงใจในการทำงานของระบบขนส่งให้เพียงพอ เช่น เพิ่มเติมงบประมาณด้านการเดินทาง ฯลฯ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน