บอร์ดสิ่งแวดล้อม เห็นชอบตั้งคกก. ขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ ‘การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง’ และ ‘มาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ปี 67’

เมื่อวันที่ 26 ต.ค. ที่กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ประชุมครั้งที่ 4/2566 มีมติเห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมการแห่งชาติด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า การเผาในที่โล่ง หมอกควัน และฝุ่นละออง เพื่อเป็นกลไกการบริหารจัดการทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่ ในการยกระดับมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาทั้งการเผาในพื้นที่ป่า พื้นที่โล่ง และพื้นที่การเกษตร และหมอกควันข้ามแดน และให้มีการประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านแก้ปัญหาหมอกควันให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน

โดยมี พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานกรรมการ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธานคนที่ 1 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นรองประธานคนที่ 2 ทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย แนวทาง มาตรการ อำนวยการ สั่งการ ควบคุม กำกับ ประสานงาน และติดตามการดำเนินงานของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และให้กรมควบคุมมลพิษ เป็นหน่วยประสานงานหลัก ซึ่งภายหลังจากการแต่งตั้งคณะกรรมการดังกล่าว กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะเสนอการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัด เพื่อแก้ไขปัญหาไฟป่า การเผาในที่โล่ง หมอกควัน และฝุ่นละออง ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ เชื่อมโยงนโยบายสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ต่อไป

นอกจากนี้ กก.วล. ยังได้เห็นชอบมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ปี 2567 ซึ่งมีแนวคิดจากการกำหนดพื้นที่แบบมุ่งเป้าโดยระบุพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ป่าสงวนแห่งชาติ และพื้นที่เกษตรที่ไฟไหม้ซ้ำซาก สร้างกลไกขับเคลื่อนภาคเอกชนร่วมลงทุนในการแก้ไขปัญหา จัดตั้งศูนย์อำนวยการเพื่อสั่งการระดับชาติลงสู่ศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัด แก้ไขปัญหาฝุ่นพิษแบบถาวร ปรับปรุงแก้ไขกฎ/ระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน ยกระดับความเข้มข้นในการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน จากระดับภูมิภาคอาเซียนไปสู่ระดับทวิภาคี ใช้การสื่อสารเชิงรุก ตรงจุด ต่อเนื่อง บ่อยครั้ง โดยมีเป้าหมายลดการเผาไหม้ในพื้นที่หลัก 17 จังหวัดภาคเหนือ รวมถึงพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และป่าสงวนแห่งชาติ และควบคุมการระบายฝุ่นในพื้นที่เกษตรกรรมอื่น

การดำเนินการ จะเป็นในลักษณะการรับมือภัย แบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะเตรียมการ ระยะเผชิญเหตุ และระยะบรรเทา และมาตรการภาพรวมที่ดำเนินงานตลอดทั้งปี ดังนี้

1.ระยะเตรียมการ กำหนดหลักเกณฑ์ในการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน แจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 จัดเตรียมห้องปลอดฝุ่น หน้ากากอนามัย ยารักษาโรค ใช้การสื่อสารเชิงรุก ตรงจุด ต่อเนื่อง บ่อยครั้ง รวมถึงมีการจัดการไฟในป่าในพื้นที่เกษตรกรรม การควบคุมฝุ่นละอองในเขตเมือง การสนับสนุนและการลงทุนให้ภาคเอกชนร่วมแก้ไขปัญหาไฟในป่า และพื้นที่เกษตรกรรม

2.ระยะเผชิญเหตุ เพิ่มประสิทธิภาพการบัญชาการสถานการณ์ไฟป่าระดับพื้นที่แบบมีส่วนร่วม รวมถึงจัดตั้งชุดปฏิบัติการประจำพื้นที่ ทำงานร่วมกับเครือข่ายอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน อีกทั้งการควบคุมฝุ่นละอองในเขตเมือง โดยเข้มงวดการตรวจสภาพรถยนต์ประจำปี และให้มีการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน

3.ระยะบรรเทา ติดตามประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และการยกระดับคุณภาพอากาศ

4.มาตรการการบริหารจัดการในภาพรวม พัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) การเผาในพื้นที่เกษตร และพื้นที่ป่า และนำระบบการรับรองผลผลิตทางเกษตรแบบไม่เผา (GAP PM2.5 Free) มาใช้เป็นเครื่องมือ รวมถึงเร่งรัดดำเนินการตามแผนปฏิบัติการร่วม ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนระหว่างประเทศไทย -.สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว – สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ภายใต้ยุทธศาสตร์ฟ้าใส (CLEAR Sky Strategy) และเร่งจัดทำระบบ Big Data ที่บูรณาการข้อมูลที่เกี่ยวข้องด้านคุณภาพอากาศ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน