พัชรวาท เปิดโครงการนักเรียน นักศึกษา ช่วยปฏิบัติงานอุทยานแห่งชาติ อธิบดีกรมอุทยานฯ เปิดรับเยาวชน 1,814 คน ทำงาน 30 วัน จุฬาฯ แจ้ง ปี2030 เทรนกรีนจ๊อบพุ่งกว่า 66%

6 มี.ค. 67 – ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ทส. เป็นประธานการแถลงข่าว “การดำเนินโครงการนักเรียน นักศึกษา ช่วยปฏิบัติงานอุทยานแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2567”

พร้อมด้วย ร.อ.รชฏ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วยรมว.ทส. นายนพดล พลเสน เลขานุการรมว.ทส. นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญทางด้านการศึกษา รวมทั้งมุ่งเน้นให้เกิดจิตสำนึกในการรักสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ ดูแลรักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ พร้อมทั้งรับมือและป้องกันวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต

ดังนั้น ในช่วงที่นักเรียน นักศึกษา ปิดภาคเรียน จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมให้เยาวชนใช้เวลาว่างช่วงปิดเทอมให้เป็นประโยชน์ ด้วยการสนับสนุนและส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษา ปฏิบัติงานนอกเวลาเรียน เพื่อสร้างรายได้เป็นของตัวเอง สามารถแบ่งเบาภาระของผู้ปกครอง และยังได้เรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติในอุทยานแห่งชาติไปพร้อมกัน

ด้านนายอรรถพล เปิดเผยว่า โครงการนี้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2547 แล้ว สำหรับปี 2567 จะมีการรับสมัครนักเรียน นักศึกษา เพื่อช่วยปฏิบัติงานอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ รวม 152 แห่ง จำนวน 1,814 คน ปฏิบัติงานคนละ 30 วัน โดยให้ค่าตอบแทนวันละ 300 บาท ในเดือนมี.ค.-พ.ค. นี้

ด้านคุณสมบัติของนักเรียน นักศึกษา ที่รับสมัคร จะต้องมีอายุระหว่าง 15 – 21 ปี มีวุฒิการศึกษาไม่ต่ำกว่ามัธยมศึกษาตอนต้น (จบมัธยมศึกษาปีที่ 3) หรือที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายขึ้นไป กำลังศึกษาอยู่ในโรงเรียน หรือสถาบันการศึกษารอบแนวเขตอุทยานแห่งชาติ ต้องมีหนังสือรับรองยืนยันจากสถานศึกษา และเป็นผู้ที่ผู้ปกครองให้การยินยอมให้ปฏิบัติงานได้








Advertisement

โดยสอบถามข้อมูลได้ที่อุทยานแห่งชาติใกล้บ้าน และที่เพจเฟซบุ๊กของอุทยานแห่งชาตินั้นๆ หรือโทร. 0 2561 0777 ต่อ 1732 ในวันและเวลาราชการ และขอเน้นย้ำว่า การสมัครไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

ศ.ดร.พิสุทธิ์ กล่าวอีกว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รู้สึกดีใจที่ได้ร่วมงานกับทางกระทรวงทรัพยากรฯ ซึ่งในจำนวน 1,814 คนนี้ จะมีส่วนช่วยในการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมได้ในระยะยาว โดยเฉพาะเรื่องกรีนมายเช็ทที่ต้องปลูกฝังตั้งแต่เยาวชน และเป็นทักษะงานที่ในอนาคตต้องการ โดยเทรนงานในปี ค.ศ.2030 งานในเชิงกรีนจ๊อบจะมีความต้องการมากขึ้นถึง 66 %

รวมทั้งรายได้ที่เยอะขึ้นด้วย โดยในโครงการนี้ จะมีกิจกรรมพิเศษ เลิร์น-ดู-แชร์ (Learn-Do-Share) เพื่อให้เยาวชนได้เรียนรู้ ลงมือปฏิบัติ และถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับคาร์บอนฟุตพริ้นท์และการลดภาวะโลกเดือด สามารถเป็นสื่อกลางที่เผยแพร่เรื่องนี้ ไปสู่ภาคสังคมโดยรอบ ทั้งครอบครัว โรงเรียน ชุมชน และนักท่องเที่ยวทั่วไป ให้ทุกคนได้มีความรู้ เกิดความตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อจะได้ช่วยกันรักษาและสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีของประเทศไทย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน