ผศ.ดร.ธมยันตี ประยูรพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและนวัตกรรม มนร. เปิดเผยว่า โครงการเริ่มจากนักศึกษามนร.ที่มาจากหมู่บ้านปูลาโต๊ะบีซู ไม่รู้จักร้านสะดวกซื้อ 7-11 ทำให้ตนเองและอาจารย์หลายคนสงสัยว่ามาจากไหน จึงเป็นที่มาที่ มนร.ได้รู้จักเกาะแห่งนี้ และพบว่าคนในจังหวัดจำนวนมากไม่รู้จักเกาะแห่งนี้

แม้จะห่างจากฝั่งอำเภอตากใบเพียง 500 เมตร เป็นเกาะเล็กระหว่างแม่น้ำตากใบและทะเล มีประมาณ 119 ครัวเรือน 800 คน ส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ไม่มีน้ำจืดและไฟฟ้าใช้ โดยไฟฟ้าเพิ่งมาติดตั้งเมื่อประมาณต้นเดือนมี.ค. 2567 ที่ผ่านมา

เมื่อนำเสนอ ผศ.ดร.ปรีชา สะแลแม อธิการบดีมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์(มนร.) ว่า น่าจะทำโครงการมาช่วยเหลือประชาชนในพื้นนี้ก็ได้รับการอนุมัติ โดยมีหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่(บพท.)ให้การสนับสนุนงบประมาณดำเนินโครงการ

“ทั้งนี้มนร.เข้าวิจัยปัญหาเชิงพื้นที่พบว่าชาวบ้านส่วนมากทำประมงปีละ 6 เดือน ในช่วงมรสุมไม่ได้ทำงานและบางส่วนไปขายแรงงานที่มาเลเซีย ส่วนใหญ่เป็นหนี้นายทุนแต่ละวันต้องนำสินค้าประมงที่จับได้ไปขายนายทุนราคาถูกเพื่อลดดอกและต้นกับนายทุนที่เป็นหนี้บุญคุณบนฝั่ง ทำให้รายได้แต่ละวันไม่เพียงพอ

ทางคณะจึงได้เข้าเจรจากับนายทุนซึ่งให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีโดยข้อตกลงคือให้ชาวประมงขายสินค้าประมงที่จับได้แต่ละวันให้ราคาที่นายทุนรับซื้อส่วนหนึ่ง และปลาอีกส่วนให้แต่ละคนนำไปจำหน่ายหรือแปรรูปกันเองเพื่อเพิ่มรายได้ให้ครัวเรือน ซึ่งทางโครงการได้ส่งเสริมให้ชาวบ้านรวมเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกาะหัวใจเกื้อกูล และนำมาเงินรายได้มาจัดสรรปันกัน

ซึ่งจากการดำเนินการมา 6 เดือนพบว่าชาวเกาะปูลาโต๊ะฯมีรายได้เพิ่มขึ้นครัวเรือนละ15% และสามารถลดหนี้ได้เดือนละ 5% ของหนี้ที่แต่ละครัวเรือนมีเฉลี่ย 14,406 บาท ซึ่งก็หวังว่าอีกไม่นานทุกคนจะไร้หนี้และคุณภาพชีวิตดีขึ้น“ผศ.ดร.ธมยันตีกล่าว








Advertisement

นางสาวรูฮานี ยูโซ๊ะ นักขายประจำกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกาะหัวใจเกื้อกูล กล่าวว่า ในกลุ่มจะแบ่งงานกันทำเป็นกลุ่มประมงพื้นบ้าน กลุ่มรวบรวมสินค้าประมงสด กลุ่มแปรรูป และกลุ่มขาย ซึ่งจากการแปรรูปทำให้กลุ่มมีรายได้เพิ่มมากกว่าที่จะขายเป็นอาหารสด โดยได้รับการสนับสนุนจากมนร.ในการสอนและทำรูปแบบธุรกิจ ผลิตภัณฑ์ที่ขายได้เช่นปลากุเลาเค็ม ปลากระบอกแดดเดียว และหมึกแห้ง กุ้งแห้ง

รายได้จากการจำหน่ายจะนำมาหักค่าใช้จ่ายในการลงทุนรายวันและแบ่งกัน ทำให้มีรายได้เพิ่มประมาณ 1,500 บาทต่อครัวเรือน จากเดิมที่มีรายได้ไม่กี่ร้อยบาท และผลจากมีวิสาหกิจทำให้มีการสต๊อกสินค้าประมงสำหรับในฤดูมรสุมมาแปรรูปขายจากเดิมที่จะไม่มีรายได้ในช่วงเวลาดังกล่าว

นางซูไบดะ บือราเฮง ชาวบ้านเกาะปูลาโต๊ะฯเล่าว่า มีอาชีพทำหน้าที่แปรรูปสินค้าประมงในกลุ่ม สามีและลูกชายจะไปขายแรงงานที่ร้านอาหารมาเลเซีย หลังจากมีกลุ่มวิสาหกิจนี้ขึ้นมารับซื้อสินค้าประมงและมีกลุ่มแปรรูปทำให้ครอบครัวมีรายได้เพิ่มทั้งลูกชายและสามีซึ่งกลับมาอยู่บ้านหลังจากโควิด ได้กลับมาออกเรือจับปลาขาย ไม่กลับไปขายแรงงานที่มาเลย์อีก ทำให้ชีวิตครอบครัวดีขึ้นและมีความสุขที่ได้อยู่ร่วมกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน