ความเท่าเทียมด้านสุขภาพ เริ่มได้ใน พื้นที่สุขภาวะใกล้ตัว

พื้นที่ที่มีมูลค่ามหาศาลในกรุงเทพฯ อย่างย่านสีลม ภาพที่เห็นจนชินตาคือความแออัดของตึกราม อาคารพาณิชย์และร้านรวงต่างๆ จนบางครั้งก็ทำให้ผู้คนที่สัญจรผ่านไปมา หรือแม้กระทั่งผู้คนที่อาศัยในพื้นที่และใช้ชีวิตมาหลายชั่วอายุคนรู้สึกอึดอัด

ทว่ากลับมีพื้นที่โล่งกว้างหน้าอาคารสำนักงานแห่งหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นจากหลายๆ องค์ประกอบ ทั้งต้นไม้เขียวขจีที่ให้ร่มเงา สนามหญ้าให้ผู้คนได้ทอดสายตามอง สระน้ำเล็กๆ สร้างความรู้สึกผ่อนคลาย พื้นที่นั่งใต้ร่มไม้ให้ผู้คนได้ผ่อนคลาย และทางเดินให้ผู้คนได้ยืดเส้นยืดสาย ละลายความเครียดที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน

พื้นที่นั้นคือลานหน้าตึก Park Silom ซึ่งถือเป็น “พื้นที่สุขภาวะ” แห่งใหม่ใจกลางเมือง ให้ “ทุกคน” ไม่ว่าจะเป็นเหล่าคนทำงาน พนักงานออฟฟิส พ่อค้าแม่ขาย หรือแม้แต่ผู้แก่แม่เฒ่า ได้เข้ามาใช้ประโยชน์พื้นที่ร่วมกัน

ซึ่งตรงกับความต้องการของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการทำงานของ สำนักสร้างเสริมสุขภาวะ (สำนัก 5) ที่ต้องการส่งเสริมให้ทุกคนได้มีพื้นที่ใกล้ตัว ได้ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน ทั้

งยังเป็นพื้นที่จัดงาน “Healthy Space for all Vol.1 Hello! ยินดีที่ได้รู้จัก” อันเกิดจากความร่วมมือกับ ศูนย์สร้างเสริมสุขภาวะเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคีเครือข่าย เพื่อเป็นอีกช่องทางในการสร้างความตระหนักรู้เรื่องสุขภาวะให้กับคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาพื้นที่สาธารณะส่งเสริมกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวันทั่วประเทศ

นิรมล ราศี ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีสุขภาวะ (สำนัก 5) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เผยว่า ได้รณรงค์ ส่งเสริม ทำงานกับภาคีหลายภาคส่วน และให้ความรู้เรื่องพื้นที่สุขภาวะมานับ 10 ปี ความเปลี่ยนแปลงหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือเรื่อง Mind set ของประชาชน

จากเดิมเขาจะมองว่าการออกกำลังกายจะต้องไปที่สวนขนาดใหญ่ หรือเข้ายิม แต่ปัจจุบันมีการปรับพื้นที่ใกล้ตัว ทั้งบริเวณบ้าน ในชุมชนที่อยู่อาศัย หรือแม้แต่ในโรงเรียน ให้เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกายมากขึ้น ผอ.นิรมล กล่าว

ก่อนจะยกตัวอย่าง “สวนป่าสัก” บริเวณวิภาวดีซอย 5 ว่าเป็นพื้นที่หนึ่งที่น่าชื่นชม เนื่องจากเป็นพื้นที่สุขภาวะที่ออกแบบตามความต้องการของชุมชน ว่าในพื้นที่นั้นควรมีอะไรบ้าง ที่จะสามารถให้ทุกคนในชุมชน รวมทั้งผู้ที่สัญจรผ่านไปมาได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน

พื้นที่สุขภาวะ หรือ Healthy Space ก็คือพื้นที่รอบๆ ตัว ที่เอื้อให้ทุกคนได้เข้าถึงและใช้ประโยชน์เพื่อมีสุขภาพที่ได้ ไม่ว่าจะเป็นบ้าน เส้นทางสัญจร โรงเรียน หรือแม้แต่ที่ทำงาน

ผอ.นิรมล ทิ้งท้ายว่า หากเรามีพื้นที่เหล่านี้กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ ก็จะทำให้ประเทศไทยที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เต็มไปด้วยผู้สูงอายุที่มีสุขภาพแข็งแรง สามารถใช้ชีวิตบั้นปลายได้อย่างมีคุณภาพและมีความสุข

ซึ่งการใช้ชีวิตอย่างกระฉับกระเฉงของผู้คนทุกช่วงวัย ตั้งแต่เด็ก วัยทำงาน ไปจนถึงวัยชรา ก็เป็นหนทางหนึ่งในการป้องกันการป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) อย่างโรคเบาหวาน ความดัน หลอดเลือด มะเร็ง และโรคไต ที่คนไทยกว่า 4 แสนคนกำลังเผชิญ

สุธี ลิมปนชัยพรกุล ประธานอำนวยการบริษัท นายณ์ เอสเตท จำกัด เจ้าของโครงการอสังหาริมทรัพย์หลายโครงการ รวมถึง Park Silom เปิดเผยว่า ในแต่ละวันมีผู้คนผ่าน-เข้าออกอาคารและพื้นที่ลานหน้าตึกนับหมื่นคน ส่วนหนึ่งคือผู้คนที่อาศัยในละแวกสีลมนั่นเอง

“ผมได้พูดคุยกับผู้สูงอายุที่อยู่ในพื้นที่ บางท่านอาศัยอยู่ในย่านนั้นมาหลายสิบปีแต่ก็บอกว่าการเดินไปสวนลุมนั้นไกลเกินไป แต่การมีสวนเล็กๆ อย่างบริเวณหน้าตึกพาร์คสีลมนั้นตอบโจทย์มากกว่า เพราะใกล้บ้านและออกกำลังกายง่ายๆ ได้”

“แรกๆ ก็เป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย แต่ก็สังเกตเห็นความใส่ใจดูแลรักษาพื้นที่จากคนในชุมชน ทำให้เห็นว่าตึกใหญ่ๆ ก็สามารถเป็นมิตรกับชุมชน หากการก่อสร้างนั้นใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมและผู้คนในพื้นที่ ความสุขเล็กๆ เหล่านี้เองทำให้เราอยากทำจุดนี้ต่อไป”

ด้าน รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา หัวหน้าภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าศูนย์สร้างเสริมสุขภาวะ Healthy Space Forum กล่าวในงานว่า ลานกว้างหน้าอาคาร Park Silom เป็นตัวอย่างหนึ่งของการจัดสรรพื้นที่โดยใช้ความรู้ทางด้านสถาปัตยกรรม ให้พื้นที่นั้นมีความเหมาะสมกับการใช้ชีวิต ให้คนทุกช่วงวัย ได้ออกมาทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน

นอกจากช่วยให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวแน่นแฟ้นขึ้นแล้ว ยังส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรง และเกิดการพัฒนาในด้านอื่นๆ ตามมา ทั้งการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม

สำหรับการจัดกิจกรรม “Healthy Space for all Vol.1 Hello! ยินดีที่ได้รู้จัก ในครั้งนี้ ได้เชิญ ภาคีเครือข่าย มาร่วมเสวนาพูดคุยถึงการทำงาน และการผลักดันองค์ความรู้สู่สาธารณะชน ,การสื่อสารในยุคปัจจุบันนิทรรศการพร้อมเปิดตัวนิตยสาร ในงานเดียวกันนี้ด้วย

หากใครมีโอกาสผ่านมาที่หน้าตึก Park Silom ลองนั่งพัก แล้วทอดสายสังเกตผู้คนที่กำลังดำเนินชีวิตในพื้นที่แห่งนั้น อาจจะค้นพบคำตอบได้ว่า นี่แหละ พื้นที่ในเมืองที่เราต้องการ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน