ผบ. เหล่าทัพ สนับสนุนงานรัฐบาล ดูแลความมั่นคงในทุกมิติ พร้อมให้ทุกเหล่าทัพพัฒนา อากาศยานไร้คนขับ (โดรน) เพิ่มประสิทธิภาพ การปฏิบัติภารกิจ

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 29 เม.ย.67 ที่หอประชุมกองทัพเรือ กองบัญชาการกองทัพเรือ (บก.ทร.) ได้จัดการประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพ ครั้งที่ 3 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 โดยมี พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) เป็นประธาน พร้อมด้วย ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เข้าร่วมประชุม

โดยผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้กล่าวขอบคุณเหล่าทัพ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ได้ร่วมปฏิบัติภารกิจในการสนับสนุนรัฐบาลเป็นอย่างดี ตลอดจนร่วมกันดูแลงานด้านความมั่นคงในทุกมิติ ซึ่งวันนี้ที่ประชุมฯ ได้รับทราบแนวทางการพัฒนาศักยภาพของอากาศยานไร้คนขับ และระบบต่อต้านอากาศยานไร้คนขับ เพื่อใช้ในการพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อันจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ และประชาชน โดยมีสาระสำคัญดังนี้

กองบัญชาการกองทัพไทย บูรณาการการใช้ระบบอากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aircraft System: UAS) และระบบต่อต้านอากาศยานไร้คนขับ (Counter-Unmanned Aircraft System: CUAS) ของกองทัพไทย ให้มีขีดความสามารถในการสนับสนุนงานด้านการทหารและด้านความมั่นคง สามารถรับมือภัยคุกคามซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยให้ความสำคัญกับการเตรียมกำลัง อาทิ การจัดทำหลักนิยม การฝึกอบรมกำลังพล การปรับปรุงโครงสร้างการจัดหน่วย และการเสริมสร้างยุทโธปกรณ์ สำหรับการใช้กำลัง ในระยะสั้น กองบัญชาการกองทัพไทย ได้มอบให้ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายสากล รับผิดชอบภารกิจต่อต้าน UAS โดยมุ่งเน้นรองรับการก่อเหตุที่มาจาก UAS ที่เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงภายใน

รวมถึงพัฒนาขีดความสามารถการใช้ UAS เชิงรุก ในระยะยาว มุ่งเน้นการบูรณาการการป้องกันภัยทางอากาศในภาพรวมของกองทัพไทย ให้มีขีดความสามารถในการต่อต้าน UAS ทางทหารที่มีขนาดใหญ่ รวมถึงอาวุธยิงระยะไกล โดยจะประสานความร่วมมือกับเหล่าทัพ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการบูรณาการอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

กองทัพบก พัฒนาอากาศยานไร้คนขับ และระบบต่อต้านอากาศยานไร้คนขับ เพื่อใช้ในการปฏิบัติภารกิจทั้งการป้องกันประเทศ การปฏิบัติการทางทหารนอกเหนือจากสงคราม และการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาความมั่นคงตามนโยบายรัฐบาล โดยนำมาใช้ในการลาดตระเวน/เฝ้าตรวจ การระวังป้องกัน และรักษาความปลอดภัย การค้นหาเป้าหมายและการปรับการยิงอาวุธสนับสนุน ตลอดจนการควบคุมและอำนวยการยุทธ์ในสถานการณ์ต่าง ๆ โดยมุ่งเน้นการปรับปรุงโครงสร้างกำลังของกองทัพ และเสริมสร้างขีดความสามารถของกำลังทางบกให้มีความทันสมัย และเชื่อมโยงกับระบบปฏิบัติการร่วมของกองทัพไทย เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างเป็นระบบ มุ่งสู่การปฏิบัติการร่วมของกองทัพไทยที่มีประสิทธิภาพต่อไป

กองทัพเรือ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดหาระบบอากาศยานไร้คนขับประจำฐานบินชายฝั่งแบบ Hermes-900 จำนวน 2 ระบบ (อากาศยาน จำนวน 7 เครื่อง) โดยได้จัดทำร่างแนวทางบริหารจัดการระบบอากาศยานไร้คนขับ พ.ศ. 2566 เพื่อใช้เป็นแนวทางบริหารจัดการระบบอากาศยานไร้คนขับของกองทัพเรือ ซึ่งครอบคลุมในด้านยุทธการและการฝึก การกำลังพล การส่งกำลังบำรุงและโครงสร้างพื้นฐาน การสื่อสารและควบคุมบังคับบัญชา การวิจัยและพัฒนาเพื่อให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์กองทัพเรือ พ.ศ. 2560-2580 ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนานำมาสู่การใช้งานทางยุทธการอย่างแท้จริง

ส่วนกองทัพอากาศ นำเสนอสถานภาพกำลังรบด้านระบบอากาศยานไร้คนขับ ระบบต่อต้านอากาศยานไร้คนขับ และแนวทางการพัฒนาเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการปฏิบัติภารกิจของกองทัพอากาศ โดยได้ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาระบบอากาศยานไร้คนขับมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งอากาศยานไร้คนขับที่ประจำการในกองทัพอากาศ ประกอบด้วย การจัดหาระบบอากาศยานไร้คนขับที่ทันสมัยจากต่างประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของกำลังทางอากาศ และจากการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้จนนำไปสู่การผลิตระบบอากาศยานไร้คนขับที่มีมาตรฐาน สามารถนำมาใช้งานในกองทัพอากาศได้

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นำระบบอากาศยานไร้คนขับ และระบบต่อต้านอากาศยานไร้คนขับมาใช้ในภารกิจด้านการถวายความปลอดภัยทางอากาศ งานสืบสวนและความมั่นคง งานป้องกันปราบปราม งานจราจร งานสอบสวน งานบรรเทาสาธารณภัย และงานอำนวยการ โดยปัจจุบันขีดความสามารถของระบบต่อต้านอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินประเภทควบคุมการบินจากภายนอก (Anti Drone) ประกอบด้วย ระบบตรวจจับ (Drone Detection System) และระบบต่อต้านอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินฯ (โดรน) แบบรอบทิศทาง แบบกำหนดทิศทาง และแบบพกพา โดยมีแนวทางการพัฒนาในอนาคตด้วยการจัดหาอุปกรณ์ระบบตรวจจับ (Drone Detection System) ที่สามารถตรวจจับอากาศยานไร้คนขับได้ครอบคลุมทุกยี่ห้อ ตรวจจับสัญญาณโดรนได้ทุกระดับความสูง สามารถแสดงพิกัดของรีโมทที่ใช้บังคับอากาศยานได้ และมีจำนวนเพียงพอ เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่สำคัญที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ

ทั้งนี้ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้เน้นย้ำให้เหล่าทัพ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงกลาโหม ด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจ ทุ่มเท และเสียสละ เพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติ ประชาชน ดำรงการสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจการรักษาความมั่นคงตามแนวชายแดน ปกป้องอธิปไตยของชาติ ดูแลประชาชนอย่างเต็มที่ รวมทั้งดำเนินการจัดหายุทโธปกรณ์สนับสนุนการปฏิบัติให้มีประสิทธิภาพ ภายใต้งบประมาณที่มี ตลอดจนพัฒนากำลังพลให้มีความรู้ความสามารถ เพื่อรองรับภัยคุกคามในทุกรูปแบบ ร่วมกับการสร้างองค์ความรู้ในเรื่องการใช้ชีวิต การสร้างทัศนคติที่ดีในการปฏิบัติงาน เพื่อให้สามารถนำไปเป็นแนวทางการปฏิบัติภายใต้สถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน


ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน