จากกรณี นายวีรชน ศรัทธายิ่ง หรือ “โต” อดีตนักร้องนำวง “ซิลลี่ฟูล” ได้จัด รายการโต-ตาล กับพิธีกรคู่หูและมีการตอบคำถามจากทางบ้าน “ทำไมอิสลามไม่มีรูปปั้นของพระเจ้า เหมือนชาวพุทธไว้ยึดเหนี่ยวจิตใจ” โดยบังโตได้มีตอบคำถามตอนหนึ่งว่า “ในฐานะผู้ศรัทธา ผมจะไม่กราบสิ่งใดที่ต่ำเท่าผม หรือต่ำกว่าผม รูปปั้นเนี่ยผลักก็ตกแตกละ มันต่ำกว่าผมแล้ว มันไม่มีชีวิต จะไหว้ทำไมสิ่งไม่มีชีวิต รูปร่างอัปลักษณ์กว่าผม ปั้นให้ตายก็หล่อสู้ผมไม่ได้” จนกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างอย่างหนักในโลกโซเชียล และได้มีกลุ่มคนชาวพุทธบางกลุ่ม ที่รู้สึกไม่พอใจ ได้หยิบยกเอาเรื่องหินดำที่ชาวมุสลิมสักการะมาตอบโต้กลับ จนก่อให้เกิดความไม่พอใจกับทั้งชาวมุสลิมเองและชาวพุทธอีกกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย

ต่อเรื่องดังกล่าว พระมหาไพรวัลย์ วรรณบุตร พระนักพูด วัดสร้อยทอง ที่มักออกมาพูดแสดงความคิดเห็นในสถานการณ์บ้านเมืองต่างๆ ท่านแสดงความคิดเห็นว่า “ในกรณีเรื่องของคุณโตที่ตอบคำถามไปแบบนั้น อาตมามองว่า มันอาจจะเป็นความไม่ละเอียดมากพอ ในการที่จะพูดประเด็นเรื่องศาสนาที่เป็นประเด็นอ่อนไหว โดยเฉพาะการพูดเรื่องของความแตกต่างหรือวิธีการปฎิบัติของคนแต่ละศาสนาออกพื้นที่สาธารณะที่เป็นรายการที่มีคนดูมากแบบนั้น อาตมามองว่ามันเป็นความผิดพลาดกันได้

ถ้าหากเป็นกรณีทั่วไปอย่าง ทำไมศาสนาอิสลามถึงไม่มีการกราบไหว้รูปเคารพ อันนี้ก็สามารถเข้าใจได้ว่าเป็นการอธิบายถึงความเชื่อของศาสนาอิสลาม แต่คำถามที่ว่า ทำไมศาสนาอิสลามที่ไม่มีการไหว้รูปเคารพเหมือนศาสนาพุทธ อันนี้ก็จะเป็นการถามที่กำลังเปรียบเทียบระหว่าง ศาสนาอิสลามกับศาสนาพุทธ ถ้าเป็นนักการศาสนา ก็จะมองว่าเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่มันต้องมีวิธีการพูดหรือวิธีการอธิบายที่มันดีกว่านี้ ”

“วิธีการมองศาสนาในสังคมสมัยใหม่ ควรมีวิธีการมองด้วยแว่นของการทำความเข้าใจ มากกว่าวิธีการมองแบบที่จะเข้าไปตัดสินเลย เราเป็นคนนอกศาสนาและมีความเข้าใจที่ไม่ลึกซึ้งเท่ากับคนในศาสนานั้นๆ สองคือต้องระวังในการพูดถึงศาสนาอื่นที่เราไม่ได้นับถือ เราต้องไปทำความเข้าใจกับเรื่องของเขาก่อนหรือพูดเพื่อให้ความเป็นธรรมกับเขาก่อน เช่น ถ้ามีกรณีคำถามในลักษณะนี้ ว่าทำไมศาสนาอิสลามถึงไม่ไหว้รูปเคารพเหมือนศาสนาพุทธ ถ้าคนมีวุฒิภาวะในการพูดสักหน่อย ก็อาจจะบอกว่า คนพุทธก็อาจจะมีวิธีการเข้าถึงพระพุทธเจ้าในแบบของชาวพุทธด้วยการกราบไหว้พระพุทธรูป ซึ่งเปรียบเหมือนสัญญาลักษณ์ของพระพุทธเจ้า แบบนี้คือสิ่งที่เรียกว่าการให้ความเป็นธรรม และค่อยอธิบายว่า แต่ในศาสนาอิสลามของเรามีวิธีการปฎิบัติในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งถ้าพูดแบบนี้มันจะไม่มีปัญหาเลย

แต่กลายเป็นว่า พอพูดถึงโดยมีการใช้คำที่คล้ายดูถูกดูแคลนอย่างคำว่า ต่ำเกินไป ในทำนองนี้มันก็เหมือนเป็นการเคลมศาสนาของตัวเอง โดยที่เอาศาสนาอื่นมาพาดพิงมันก็ก่อให้เกิดปัญหาตามมา เพราะฉะนั้นวิธีการที่จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดปัญหา ก็คือต้องใช้วิธีการพูดด้วยการพยายามทำความเขาใจกับอีกศาสนาก่อน แทนที่จะไปเปรียบเทียบแบบนั้น”

“และต้องคำนึงด้วยว่า คุณกำลังพูดในบริบทไหน ต้องวางตัวเองให้ถูกก่อน เช่น ถ้าคุณพูดในฐานะที่ไม่ได้นับถือศาสนาใดๆเลย คุณก็อาจจะพูดได้เต็มที่เลยก็ได้ หรือคุณจะวิจารณ์ในฐานะปัจเจกชนหรือคนที่ไม่ใช่บุคคลสาธารณะซึ่งมีแฟนคลับอะไรแบบนี้ อันนั้นก็อีกเรื่อง ฉะนั้นตัวคนวิจารณ์เองก็ต้องรู้ความเหมาะสมหรือรู้ลิมิตในการวิจารณ์ของตัวเอง ลักษณะคำพูดที่เมื่อพูดออกไปแล้ว จะส่งผลกระทบต่อสังคมหรือได้ผลตอบรับกลับมาอย่างไรบ้าง

อย่างคุณโตเอง ต้องคำนึงด้วยว่าในฐานะที่หนึ่ง คุณเป็นคนต่างศาสนา และสอง คุณถือเป็นคนสาธารณะ เคยเป็นศิลปินมาก่อน มีกลุ่มคนที่ชื่นชอบ ฉะนั้นเวลาจะพูดอะไรผ่านสื่อสาธารณะที่มีคนฟังมากๆ และโดยเฉพาะที่เป็นคนที่ไม่ได้มีความเห็นแบบเดียวกันหรือไม่ได้นับถือศาสนาเดียวกันนั้น ท่าทีที่ควรจะพูดมันควรจะเป็นแบบไหน นี่อาจจะเป็นสิ่งที่เขาละเลยและไม่ได้คำนึงถึง จึงทำให้เกิดกรณีแบบนี้ขึ้น” พระมหาไพรวัลย์ กล่าว

“และในเรื่องของการหยิบยกเอาเรื่องหินดำที่ชาวมุสลิมสักการะมาตอบโต้กลับ อาตมามองว่า วิธีการที่เราจะพูดเรื่องศาสนากัน เราควรใช้วิธีการพูดแบบการอธิบายเหตุผล ต้องไม่ใช่คำพูดในลักษณะที่เป็นการเหยียดศาสนากันไปมา การพูดเรื่องหินมันก็ไม่ใช่เรื่องผิดนะ ซึ่งอาตมาก็อธิบายให้ฟังเหมือนกันว่า คนพุทธที่ก้มหัวลงกราบพระพุทธรูปกับคนมุสลิมที่ก้มลงจูบหิน ในความรู้สึกของคนที่เคารพศรัทธาต่อศาสดาของตนเหมือนกันนั้น มันเป็นความรู้สึกเดียวกัน คือมีความเคารพ ความจงรักภักดี เหมือนกัน

การวิจารณ์จะต้องอยู่บนพื้นฐานของการมีเหตุมีผล ใช้คำพูดทีไม่ก่อให้เกิดการกระทบกระทั่งกัน นี่คือสิ่งที่อาตมาอยากจะพูดกับทุกคน” พระมหาไพรวัลย์

น.ส.พัชรพร องค์สรณะคมกุล / รายงาน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน