คอลัมน์ คำคมคารมเซียน

ลากมายาวแบบย่อๆ ถึง 5 ตอนเพราะเรื่องราวอย่างเยอะ…จึงจบยาก แค่อยาก แบ่งปันข้อมูลตั้งต้นให้ใช้เป็นแนวทางค้นหาพระถูกโฉลกอย่างฉลาดเลือก แต่ยังไงครั้งนี้ ก็คงหมดมุข-หมดเปลือกกับศัพท์เซียน… “พระดีพิธีใหญ่”

ก็ขออนุญาตจบให้สวยๆ ด้วย 5 รุ่น ส่งท้าย ครบ 16 รุ่นเลขมงคลโสฬส…ไปกันโลด

12. “พระผงญาณวิลาศ” 2513

ว่ากันจริงๆ พระรุ่นนี้ไม่เข้าเกณฑ์ “พระดีพิธีใหญ่” เท่าใดนัก

แต่เห็นจากประวัติแล้ว…ยอม ขอยกให้เป็นพิธีใหญ่แนว “ทำมือ…มาราธอน”

เพราะความมุมานะของผู้สร้าง เพียรแสวง หา-สะสมผงพุทธคุณและวัสดุมงคลหลากหลาย ตั้งแต่ปี 2489 ถึง 2509

ใช้เวลาทำการแบบชิลชิลแค่…20 ปี!








Advertisement

แล้วยังนำไปแซม…ขอแจมกับพิธีพุทธา ภิเษกใหญ่ๆ ที่หลายวัดเค้าจัดกัน

ปลุกเสกไปทั้งหมดแค่…250 วัด!

ตั้งแต่คราวยังเป็นแค่มวลสาร จนสำเร็จเป็น “พระผงญาณวิลาศ” ก็ยังขยันนำไปเสก

เป็นพระผงรุ่นเอกอุของ “หลวงพ่อแดง วัดเขาบันไดอิฐ”

กลัวไม่ขลัง…ท่านยังอธิษฐานจิตเดี่ยวซ้ำให้เป็นพิเศษอีกถึง…สามไตรมาส

คับแก้วขนาดนี้อนาคตไม่แพงทนไหว?

13. “พระกริ่ง-พระชัยฯ 84 ปีศิริราช” 2517

เป็นวัตถุมงคลที่รูปแบบเป็นเอกลักษณ์-อลังการ

สร้างในวาระครบรอบ 84 ปีโรงพยาบาลศิริราช

ผลงานระดับคุณหมอๆ ที่ขอแรงมาร่วมใจช่วยกันทั้งประเทศ

เป็นอีกรุ่นที่ในหลวงเสด็จฯ มาเททองหล่อด้วยพระองค์เอง

มีพระอริยเจ้าเข้าร่วมพิธีและอธิษฐานจิต-ปลุกเสกเดี่ยวอีกมากมาย

ตั้งแต่พระสังฆราช-คณะสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ไปจนถึงคณาจารย์ที่มีชื่อเสียงมากมาย

14. “เหรียญ 9 อาจารย์ พิธีจตุรพิธพรชัย” 2518

มาถึงรุ่นที่แรงขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังไม่เหนื่อยถ้าคิดจะเก็บ

9 เหรียญ-9 เกจิดังจากพิธีขลังจัดใหญ่ในจังหวัดอยุธยา

เป็นที่แสวงหาในหมู่นักสะสมรุ่นใหม่

โดยเฉพาะสาย… “หลวงพ่อกวย วัดโฆสิตาราม” และ “หลวงปู่สี วัดเขาถ้ำบุญนาค”

2 ใน 9 พระอาจารย์ที่สนนราคาขยับนำโด่งเป็นเงาตามค่าความนิยม

ลำดับถัดมาคือ หลวงพ่อแพ-หลวงพ่อพริ้ง-หลวงพ่อออด-หลวงพ่อถิร-หลวงพ่อนอ-หลวงพ่อหน่าย-หลวงพ่อโกย

ใครฝักใฝ่เหรียญคณาจารย์ เก็บให้ครบชุดไปเลย

15. “เหรียญคุ้มเกล้า” 2522

หลายคนบ่นอยากได้เหรียญในหลวงมาบูชาเพื่อเป็นสิริมงคล

ไม่ต้องดิ้นรนค้นหาของแพง

เหรียญชื่อดีนี้เลยครับ พิธีใหญ่ทุกขั้นตอน…ของจริง!

เริ่มต้นที่พิธีลงอักขระแผ่นยันต์ ณ วัดราชบพิธ

เททองหล่อในวาระวันครบรอบ 97 ปีของ “หลวงปู่แหวน สุจิณโณ” ณ วัดดอยแม่ปั๋ง

ปิดงานด้วยพิธีพุทธาภิเษกยิ่งใหญ่ 4 วัน 4 คืน ณ ท้องสนามหลวง โดยโยงสายสิญจน์จากวัดพระแก้ว

ผ่านมาหลายสิบปีแล้ว ยังเช่าหาได้ในราคาไม่กี่ร้อย

16. “พระพุทธชินสีห์ ทันโตเสฏโฐ” 2533

ปิดท้ายด้วยพระผงรุ่นนี้ที่เคยมีรุ่นพี่แนะนำ ย้ำหนักๆ ว่า…เยี่ยม!

แกให้ฉายาเสร็จสรรพว่า “ราชาแห่งราชันย์”

เพราะด้านหน้าที่เป็นรูปองค์พระพุทธชินสีห์นั้น ที่ใต้ฐานมีพระปรมาภิไธยย่อ… “ภปร”

ส่วนด้านหลังองค์พระก็เป็นลายพระหัตถ์พระนาม ย่อของสมเด็จพระสังฆราช… “ญสส”

ประมุขแห่งอาณาจักรและพุทธจักรมาร่วมเป็นหลักชัยในองค์เดียวกัน

จัดสร้างโดยคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ มวลสารสำคัญจึงเป็นพระทนต์ที่ในหลวงพระราชทานมาให้

นำไปผ่านสารละลายแล้วคลุกเคล้ากับผงพุทธคุณ-มวลสารสำคัญอื่นๆ

หนึ่งในนั้นคือ…ผงจิตรลดา!

หาได้แบ่งผมองค์นะ อิอิ

ถึงบรรทัดนี้สรุปได้ยังว่าปักใจองค์ไหน

ไม่แน่ว่าที่นำเสนอไปทั้งหมดนี้ อาจขึ้นชั้นกลายเป็นพระหลักหรูหราราคาคนรวยในวันหน้า

ดูกันยาวๆ เดี๋ยวจะหาว่าเค้าโม้

สัญญาคำโตๆ ก่อนนะว่าจะไม่กระโตกกระตาก

แอบเก็บกันเงียบๆ ล่ะ…เดี๋ยวแพง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน