คอลัมน์ วิถีแห่งการปฎิบัติ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

เสถียร จันทิมาธร

ปุหนังสือ ‘มุตโตทัย’ นับว่าเป็นหนังสือสำคัญซึ่งรับรู้ในชั้นหลังว่าเป็นของ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต แต่หนังสือนี้มีความเป็นมาอย่างไร น้อยนักที่จะรู้กัน

หนังสือนี้ปรากฏอย่างกว้างขวางผ่าน ชีวประวัติ ธรรมเทศนา บทประพันธ์และธรรมบรรณาการ อันเป็นหนังสือซึ่งคณะเจ้าภาพพิมพ์แจกในงานฌาปนกิจศพ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ วันที่ 31 มกราคม 2493 ณ วัดป่าสุทธาวาส อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร

พระธรรมเจดีย์ เขียนในคำนำตอนหนึ่งว่า

‘รวบรวมธรรมเทศนาของท่านอาจารย์ที่ศิษย์ผู้อยู่ใกล้ชิดได้จดบันทึกไว้ มาตีพิมพ์แจกเพื่อเป็นมรดกแก่ศิษยานุศิษย์ทั่วถึงกัน’

เมื่ออ่านคำชี้แจงจาก พระอริยคุณาธาร ซึ่งเป็นผู้เรียบเรียงชีวประวัติ

‘ธรรมเทศนาของท่านอาจารย์ได้รวบรวมพิมพ์แล้วชุดหนึ่งซึ่งให้ชื่อ มุตโตทัย ในการพิมพ์ครั้งแรกข้าพเจ้าบอกเหตุผลที่ให้ชื่อนี้ไว้แล้ว ผู้พิมพ์ต่อๆ มาไม่รักษาคำนำเดิมไว้ จึงเป็นเหตุให้เกิดปัญหาว่าชื่อนี้หมายความว่าอย่างไร’








Advertisement

นั่นเป็นปัญหาในห้วงแห่งปีพ.ศ.2490 ถึงปีพ.ศ.2493 เป็นสำคัญ

กระนั้น คำชี้แจงนี้ก็ให้รายละเอียดที่สำคัญว่า มุตโตทัย ได้ตีพิมพ์มาก่อนปีพ.ศ.2493 และ พระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสโส) เป็นท่านหนึ่งซึ่งมีบทบาทสำคัญ

การรับรู้รากที่มาของ มุตโตทัย จึงทรงความหมาย

รากที่มาของชื่อหนังสือ มุตโตทัย นับว่าเป็นที่กระจ่างผ่านคำชี้แจง พระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสโส)

การที่ให้ชื่อธรรมเทศนาของท่านอาจารย์ที่รวบรวมพิมพ์ชุดแรกว่า มุตโตทัย นั้น อาศัยคำชมของ เจ้าพระคุณ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจันทเถร จันทร์) เมื่อคราวท่านอาจารย์แสดงธรรมว่าด้วยมูลกรรมฐาน ณ วิหารหลวงเชียงใหม่ว่า

ท่านอาจารย์แสดงธรรมด้วย มุตโตทัย เป็น มุตโตทัย

คำนี้ท่านอาจารย์นำมาเป็นปัญหาถามในที่ประชุมพระภิกษุเปรียญหลายรูปซึ่งมีข้าพเจ้ารวมอยู่ด้วยในคราวที่ท่านมาพักกับข้าพเจ้าที่วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร ข้าพเจ้าทราบความหมายของคำนั้นแล้วแต่เห็นว่าเป็นอสาธารณนัยจึงกล่าวแก้ทางใจ

ทันใดนั้นท่านก็พูดขึ้นว่า ข้าพเจ้าแก้ถูก

ซึ่งทำความประหลาดใจให้แก่ภิกษุทั้งหลายมิใช่น้อย ต่างก็มารุมถามข้าพเจ้าว่าหมายความว่าอย่างไร

ข้าพเจ้าบอกให้ทราบแก่บางองค์เฉพาะที่น่าไว้ใจ

คำว่า มุตโตทัย มีความหมายเป็นอสาธารณนัยก็จริงแต่อาจเป็นความหมายมาเป็นสาธารณนัยก็ได้ จึงให้นำมาใช้เป็นชื่อธรรมเทศนาของท่านอาจารย์ โดยมุ่งให้มีความหมายว่า เป็นธรรมเทศนาชี้บอกแนวทางปฏิบัติให้บังเกิดความหลุดพ้นจากกิเลส อาสวะ

ซึ่งถ้าจะแปลสั้นๆ ก็ว่า แดนเกิดแห่งความหลุดพ้น นั่นเอง

จากปีพ.ศ.2493 มาถึงปีพ.ศ.2541 พระอาจารย์ทองคำ จารุวัณโณ ซึ่งมีบทบาทเป็นอย่างสูงในการบันทึกธรรมเทศนาได้เล่าถึงความเป็นมาของ มุตโตทัย เอาไว้อย่างค่อนข้างละเอียด

นั่นก็คือ

เหตุที่มาเป็นหนังสือ มุตโตทัย นั้นเนื่องจากเจ้าคุณ พระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสโส) ขณะนั้นท่านเป็นรองเจ้าคณะภาคท่านมาตรวจราชการ และได้ไปกราบนมัสการ ท่านพระอาจารย์มั่น

ท่านพักอยู่ 3 คืนที่กุฏิของผู้เล่า ตอนพักกลางวันท่านไปเห็นบันทึกนี้ก็เลยเอามาอ่าน พออ่านเสร็จเราก็ขึ้นไปปฏิบัติท่านเจ้าคุณเพราะเคยเป็นลูกศิษย์ท่าน ท่านสอนบาลีให้ ท่านเจ้าคุณถามว่า

‘อันนี้ใครเขียนล่ะ’

‘เขียนกันหลายคนขอรับกระผม’

‘มีใครบ้าง’

‘มีกระผม ท่านอาจารย์วิริยังค์และท่านอาจารย์วัน ขอรับกระผม’

‘เออ ดีมาก เราจะเอาไปพิมพ์’

‘แล้วแต่ท่านเจ้าคุณขอรับกระผม’ ด้วยความเคารพเพราะท่านมีบุญคุณ

ท่านจากไปประมาณสัก 3 เดือน ก็มีห่อหนังสือที่ส่งมา

นั่นคือ รากฐานความเป็นมาของหนังสือ มุตโตทัย ในเบื้องต้น

แน่นอน รากฐานสำคัญคือ ธรรมเทศนา พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต แต่คนที่จดจารบันทึกเป็น พระอาจารย์ทองคำ จารุวัณโณ เป็น พระอาจารย์วิริยังค์ และเป็น พระอาจารย์วัน อุตตโม โดยผู้มีบทบาทในฐานะผู้พิมพ์ผู้โฆษณาคือ พระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสโส)

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องราวในห้วงที่ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต หวนกลับภาคอีสาน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน