“ราม วัชรประดิษฐ์”

กล่าวถึงเครื่องรางของขลังของไทย ต้องยกเครดิตให้พระเกจิอาจารย์ผู้ทรงพุทธาคมทางไสยเวทหรือฆราวาสจอมขมังเวทในยุคเก่าก่อน ที่สามารถรังสรรค์ชิ้นงานหลากหลายรูปแบบ เสาะแสวงหาวัสดุอาถรรพ์และเคล็ดวิชาเฉพาะแต่ละท่าน กรรมวิธีการจัดสร้าง การปลุกเสกลงอาคม หรืออื่นๆ อีกมากมาย

จนออกมาเป็นเครื่องรางของขลังที่ล้วนทรงกฤตยาคมแก่กล้า ไม่ว่าจะเป็น ตะกรุด เบี้ยแก้ ผ้ายันต์ ผ้าประเจียด เสื้อยันต์ ปลัดขิก ลูกอม เขี้ยวเสือกลวง เขี้ยวหมูตัน หนังหน้าผากเสือ แหวนพิรอด ไม้ครู มีดหมอ รักยม หุ่นพยนต์ น้ำเต้า กะลาตาเดียว หมากทุย เชือกคาด นางกวัก หรือสัตว์ต่างๆ และอีกมากมายนับไม่ถ้วน เรียกได้ว่าเป็นศาสตร์และศิลป์อันทรงคุณค่า เป็นภูมิปัญญาไทยชั้นบรมครูอันน่ายกย่อง ทั้งยังได้สืบทอดต่อศิษยานุศิษย์รุ่นต่อๆ มาจนทุกวันนี้

ที่ได้รับการคัดเลือกความเป็นที่สุดออกมาเป็น “เบญจภาคีเครื่องรางของขลัง” ของไทย ดังนี้

ตะกรุดมหาโสฬสมงคล หลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง

ถือเป็นจักรพรรดิแห่ง “ตะกรุด” ที่มีอายุการสร้างยาวนานกว่า 100 ปี ส่วนใหญ่ทำจากโลหะแก่ทองเหลือง หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า “เนื้อฝาบาตร” ยันต์ที่ท่านใช้ลงจารนั้น นอกจากจะมี “ยันต์มหาโสฬสมงคล” แล้ว ท่านจะลง “ยันต์ไตรสรณคมน์” หรือ “ยันต์ตรีนิสิงเห” เอาไว้ด้วย เพื่อเป็นการป้องกันภัยจากภูตผี ปีศาจ หรือกันการถูกกระทำจากเวทอาคมคุณไสย ดังนั้น ตะกรุดของท่านจึงมีดีทั้งด้านมหาอุด แคล้วคลาด คงกระพัน และเสน่ห์เมตตามหานิยม อันเกิดขึ้นจากพุทธคุณของผงคลุกรักที่ใช้โรยหรือพอกเชือกพันตะกรุดอยู่

เบี้ยแก้ หลวงปู่รอด วัดนายโรง








Advertisement

การสร้างเบี้ยแก้ของหลวงปู่รอดนั้น มี ขั้นตอนและรายละเอียดต่างๆ มากมายอันนับเป็นเคล็ดวิชาระดับตำนาน เริ่มตั้งแต่การคัดตัวหอยเบี้ยที่มีฟัน 32 ซี่ การตั้งศาลเพียงตาพร้อมเครื่องสังเวยบัดพลีเพื่อขอแบ่งปรอทจากวิทยาธรคนธรรพ์ การนําใบหญ้าคาลงพาดที่ปากเบี้ยเพื่อให้ปรอทวิ่งเข้าตัวเบี้ย ฯลฯ จนถึงการลงอักขระด้วยพระคาถา “พระเจ้า 16 พระองค์” และกํากับด้วย “ยันต์ตรีนิสิงเห” แล้วปลุกเสกอีกครั้ง เรียกได้ว่าพุทธาคมแก่กล้าครบถ้วน ทั้งเมตตามหานิยม มหาอุด คงกระพัน และแคล้วคลาดทุกประการ ไม่ว่าจะเป็น เสนียดจัญไร คุณไสย ยาสั่ง ฯลฯ

ปลัดขิก หลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก

หนึ่งในพระเกจิชื่อดังสมัยสงครามเอเชียบูรพา โดยเฉพาะเรื่อง “ปลัดขิก” ว่ากันว่า ก่อนที่ท่านจะมอบปลัดขิกให้ผู้ใดนั้น ท่านจะนำเอาปลัดขิกใส่ลงในบาตรน้ำมนต์ ปลัดขิกจะวิ่งไปรอบๆ บาตรน้ำมนต์ เมื่อตัวปลัดขิกดิ้นกระทบกับบาตรน้ำมนต์ และท่านเห็นว่าปลัดขิกของท่านปลุกขึ้นเป็นอย่างดีแล้ว ท่านจึงจะมอบแก่ศิษยานุศิษย์ ปลัดขิกของท่านทรงพุทธานุภาพยิ่งทางคงกระพันชาตรี เมตตามหานิยม และโชคลาภวาสนา

เขี้ยวเสือ หลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย (คลองด่าน)

เขี้ยวเสือของท่านต้องทำจากเขี้ยวเสืออย่างเดียวเท่านั้น มีทั้งเต็มเขี้ยวและเขี้ยวซีก มีคุณสมบัติทึบแสง เขี้ยวเสือต้องกลวงจึงจะมีอำนาจในตัวมาก เล่ากันว่า การปลุกเสกของท่านต้องมีการเรียกธาตุ 4 คือ “นะ มะ พะ ทะ” เรียกรูป เรียกนาม และปลุกเสกด้วยคาถาเฉพาะจนกระทั่งเสือนั้นเคลื่อนไหวได้ราวกับมีชีวิตจริงๆ หนึ่งในบทพระคาถาก็คือ “คาถาพยัคคังฯ” เอกลักษณ์ของเขี้ยวเสือหลวงพ่อปานที่ต้องจำไว้เป็นหลักในการตรวจสอบของแท้ก็คือ “เสือหน้าแมว หูหนู ตาลูกเต๋า ยันต์กอหญ้า”

หนุมาน หลวงพ่อสุ่น วัดศาลากุน

ท่านสร้าง “หนุมาน” จากต้นพุดซ้อนและต้นรักซ้อน ที่นำมาปลูกภายในวัดและรดด้วยน้ำมนต์จนเจริญเติบโต เมื่อแก่เต็มที่ท่านก็จะดูฤกษ์ยามขุดต้นไม้ทั้งสองมาตากแดดให้แห้ง แล้วไปตามช่างมาแกะเป็นรูปหนุมาน

ากนั้นนำมาบรรจุไว้ในบาตร ปลุกเสกในอุโบสถทุกวันเสาร์ โดยจะนั่งบริกรรมบนศาสตราวุธต่างๆ ที่นำมากองรวมกัน หนุมานจะกระโดดโลดเต้นอยู่ในบาตรจนท่านเห็นว่าขึ้นแล้ว จึงนำออกแจกจ่าย พุทธานุภาพครบครันเช่นเดียวกับอีก 4 สุดยอดข้างต้น จนได้รับฉายา “ขุนกระบี่วานร ฤทธิเกริกไกร หนึ่งในสยาม”

นอกจากนี้ยังมีเครื่องรางของขลังที่ถือเป็นตำนานเล่าขานถึงความเข้มขลังในพุทธาคมสืบมาอีกมากมาย อาทิ มีดหมอหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ นครสวรรค์ หรือวัวปั้นหุ่นหลวงพ่อน้อย วัดศีรษะทอง นครปฐม เป็นต้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน