ราม วัชรประดิษฐ์

องค์ต่อมาสำหรับ “พระเบญจภาคีพระยอดขุนพลเนื้อชิน” คือ พระพุทธ ชินราชใบเสมา จ.พิษณุโลก ส่วนใหญ่ มีการค้นพบที่ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร หรือ “วัดใหญ่” มรดกทางศิลปวัฒนธรรมอันล้ำค่าของจังหวัด ที่มีประวัติยาวนานมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย ตลอดทั้งมีพระกรุเก่าที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมสูงมากมาย

อาทิ พระนางพญาวัดใหญ่, พระพุทธชินราชใบเสมา, พระท่ามะปราง, พระอัฏฐารส, พระชินสีห์ ฯลฯ นอกจากนี้ยังพบที่ กรุพระปรางค์ กรุอัฏฐารส กรุเขาสมอแคลง กรุพรหม พิราม และกรุเขาพนมรุ้ง เป็นต้น ซึ่งมีค่านิยมลดหลั่นกัน แต่ที่นับว่าเป็นที่นิยม มากที่สุด คือ “พระชินราชใบเสมา กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ”

พระพุทธชินราชใบเสมา มีพุทธศิลปะแบบสุโขทัยลัทธิลังกาวงศ์ผสมผสานกับศิลปะเขมร พุทธลักษณะเข้มขลังงดงาม เข้าใจว่าจำลองแบบมาจาก “พระพุทธ ชินราช” พระประธานในพระอุโบสถ ส่วนคำว่า “ใบเสมา” มาจากที่องค์พระ มีสัณฐานเหมือนใบเสมาโบราณ ซึ่งดู จากพุทธศิลปะพิมพ์ทรงแล้วน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากพระตระกูล “ยอดขุนพล” ในศิลปะแบบลพบุรี โดยเฉพาะลักษณะของซุ้มฐานบัว จึงน่าจะสร้างขึ้นพร้อมหรือไล่เลี่ยกันกับการสร้างพระปรางค์ประธานของวัด ส่วนด้านพุทธคุณนั้น เป็นเลิศ ปรากฏทั้งเมตตามหานิยม แคล้วคลาด และอำนาจบารมีครบครัน

พระพุทธชินราชใบเสมา มีการแตกกรุ ณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ หลายต่อหลายครั้ง องค์พระส่วนใหญ่ที่พบเป็นพระเนื้อชินเงิน ผิวเนื้อจะออกสี นวลดำๆ มีคราบปรอทให้เห็นประปราย อาจพบรอยระเบิดจากภายในสู่ภายนอก นอกนั้นยังมี เนื้อสำริด เนื้อดิน เนื้อ ชินเขียว ฯลฯ เมื่อประมาณปี พ.ศ.2440 ครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ เมืองพิษณุโลก ยังมีประชาชนนำมาทูลเกล้าฯ ถวาย พระองค์ทรงแจกจ่ายไปยังพสกนิกรที่ติดตามเสด็จอย่างถ้วนหน้า

พุทธลักษณะองค์พระประทับนั่ง แสดงปางมารวิชัย เหนืออาสนะ ฐานบัวคว่ำบัวหงาย ภายในซุ้มเรือนแก้ว พระศกแสดงอิทธิพลเขมรที่เรียกว่า “เขมรผมหวี” ชัดเจน ปลียอดพระเกศจะทะลุซุ้มทุกองค์ พระเกศนูนเหมือนกลีบบัวสามกลีบ พระพักตร์รูปไข่หรือผลมะตูม ก้มต่ำเล็กน้อย แลดูเข้มและแฝงไปด้วยอำนาจ








Advertisement

ปรากฏรายละเอียดของพระขนง พระเนตร พระนาสิก พระ โอษฐ์ ชัดเจน เอกลักษณ์โดยรวมคือ ปลายสังฆาฏิยาวจรดพระอุทร, ข้อพระบาทขวาจะปรากฏกำไลข้อพระบาทสองหรือสามปล้อง (แล้วแต่ติดเต็มหรือไม่เต็ม), ฐานบัว 2 ชั้น มีเม็ดไข่ปลาคั่นเป็นจุดๆ ระหว่างบัวบนกับบัวล่าง ทำให้ฐานองค์พระแลดูสวยงามอย่างลงตัว

ส่วนด้านหลังจะเป็นหลังเรียบ มีลายผ้าละเอียดเล็กๆ ถี่บ้าง ห่างบ้าง และพื้นผิวเป็นคลื่น เป็นแอ่ง ไม่เสมอกัน ขอบด้านข้างจะมนไม่คมและปรากฏรอยหยักตัดด้านข้างหลายหยักเป็นธรรมชาติ เท่าที่พบมี 3 พิมพ์ใหญ่ๆ คือ พิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง และพิมพ์เล็ก นอกจากนี้ในแต่ละพิมพ์ บางองค์จะ มีเนื้อส่วนเกินตรงใต้ฐานทำให้ฐานดูสูงขึ้น จึงเรียกว่า “ฐานสูง”

“พิมพ์ใหญ่” องค์พระมีขนาดประมาณ 2.5 x 3.5 ซ.ม. พระพักตร์กว้าง แลดูเคร่งขรึมกว่าทุกพิมพ์ พระนาสิกโตหนา พระพาหาหนาใหญ่ ปรากฏเส้นพระศอค่อนข้างชัดเจน เส้นรอบขอบจะเป็นรูปเสมาที่งดงามกว่าทุกพิมพ์และปีกเสมากว้างกว่าทุกพิมพ์ ช่วงโค้งของใบเสมาจะตกอยู่ช่วงพระกัประ (ข้อศอก) ซึ่งรับกันอย่างงดงามสง่า ส่วนใหญ่ด้านหลังลายผ้าจะค่อนข้างหยาบ

“พิมพ์กลาง” เค้าพระพักตร์จะไม่ขรึม เท่าพิมพ์ใหญ่ จุดที่ต่างเป็นเอกลักษณ์คือ พระพาหาจะไม่หนาใหญ่เหมือนพิมพ์ใหญ่ และไม่ปรากฏเส้นพระศอ ตลอดทั้งเส้นรอบขอบพิมพ์ช่วงที่เป็นเสมาด้านบนจะไม่เป็นลักษณะซุ้ม แต่กลับเป็นลักษณะของการหักเหลี่ยม ช่วงโค้งเป็นลักษณะโค้งแบบเทราบ ด้านหลังลายผ้าค่อนข้างหยาบเช่นกัน

ส่วน “พิมพ์เล็ก” เค้าพระพักตร์จะแตกต่างจากพิมพ์อื่น คือ ไม่เคร่งขรึมมาก และขนาดจะเล็กกว่าทุกพิมพ์ พระพาหาด้านซ้ายก็มีลักษณะเป็นข้อกลมๆ เส้นรอบขอบแม่พิมพ์จะทิ้งมาตรงๆ ไม่มีช่วงโค้งแบบใบเสมาหรือเป็นพุ่ม สำหรับด้านหลัง ลายผ้าจะละเอียดมาก

การพิจารณาพระเนื้อชินเงินนั้น ต้องใช้ความชำนาญอย่างมาก ในการดูความเก่า สนิมตีนกา ผิวกรุ คราบกรุ ความแห้ง และรอยระเบิด ซึ่งต้องเป็นธรรมชาติ สังเกตความชัดเจนของพิมพ์ทรง พิมพ์ใหญ่จะลึกกว่าพิมพ์กลางและพิมพ์เล็ก ตามลำดับ ถ้าพบเจอพระพิมพ์ตื้นมากๆ ให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจเป็นพระปลอม ครับผม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน