“แทน ท่าพระจันทร์”

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน วันนี้เราจะพูดคุยกันถึง สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ติสฺสมหาเถระ (อ้วน) วัดบรมนิวาสกันครับ ท่านเป็นพระเถระที่มีประชาชนเคารพนับถือกันมาก โดยเฉพาะชาวจังหวัดอุบล ราชธานี และเหรียญรุ่นแรกของท่านก็นับว่าหายาก และเป็นที่นิยมกันมากเช่นกันครับ

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ มีนามเดิมว่า อ้วน เกิดที่บ้านหนองแคน ต.ดอนมดแดง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ.2410 โยมบิดาชื่อ เพี้ยเมืองกลาง (เคน) โยมมารดาชื่อ บุดสี ตอนอายุได้ 19 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร ที่ ต.สว่าง อ.วารินชำราบ จ.อุบล ราชธานี

ต่อมาได้ย้ายมาศึกษาที่สำนักวัดศรีทอง (ศรีอุบลรัตนาราม ปัจจุบัน) ต่อมาเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2430 จึงได้อุปสมบทที่วัดศรีทอง โดยมี พระเทวธัมมีเถระ (ม้าว) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระโชติปาลเถระ (ทา) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจันโท จันทร์) เป็นอุทเทศาจารย์ เมื่ออุปสมบทแล้วได้พำนักอยู่ที่วัดศรีทอง พอปี พ.ศ.2434 จึงได้เข้ามาศึกษาต่อในกทม. อยู่ที่ วัดพิชยญาติการาม

ต่อมาปี พ.ศ.2438 จึงย้ายไปอยู่ที่วัดเทพศิรินทราวาส ปี พ.ศ.2442 ได้เดินทางกลับมาอยู่ที่จ.อุบลราชธานี เป็นครูสอนบาลี และรับตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าคณะมณฑลอีสาน พ.ศ.2446 เป็นเจ้าอาวาสวัดสุปัฏนารามวรวิหาร จ.อุบลราชธานี พ.ศ.2447 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่พระศาสนดิลก พ.ศ.2454 ได้รับพระราชทานพัดยศพระราชาคณะผู้ใหญ่เสมอชั้นราช พ.ศ.2455 เป็นที่พระราชมุนี พ.ศ.2464 เป็นที่พระเทพเมธี พ.ศ.2468 เป็นที่พระโพธิวงศาจารย์ พ.ศ.2470 เป็นเจ้าอาวาสวัดสุทธจินดา จ.นครราชสีมา

พ.ศ.2472 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่พระธรรมปาโมกข์ พ.ศ.2475 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นที่ พระพรหมมุนี และในปี พ.ศ.2475 ก็ได้ย้ายมาครองวัดบรมนิวาส ต่อมาในปี พ.ศ. 2482 ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นพระสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ พ.ศ.2485 เป็นเจ้าอาวาสวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน กทม. สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ท่านมรณภาพในวันที่ 26 มกราคม พ.ศ.2499 ณ หอธรรมวิจารย์ วัดบรมนิวาส สิริอายุได้ 89 ปี พรรษาที่ 68

ในปี พ.ศ.2477 คณะศิษย์ได้ขออนุญาตท่านเพื่อสร้างเหรียญรูปท่านนั่งเต็มองค์ไว้เป็นที่ระลึก ท่านก็อนุญาตให้จัดสร้างได้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นเหรียญรุ่นแรกของท่าน เหรียญที่สร้างนี้เป็นเหรียญทรงเสมา

ด้านหน้าเป็นรูปท่านนั่งสมาธิเต็มองค์ มีอักษร “ติส” และ “เถร. อ” ด้านหลังเป็นยันต์กระบองไขว้ เป็นเหรียญได้รับความนิยมมากโดยเฉพาะชาวอุบลราชธานีจะเคารพนับถือท่านมากครับ เหรียญนี้นับว่าหายากพอสมควร วันนี้ผมก็นำมาให้ชมครับ








Advertisement

ด้วยความจริงใจ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน