สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 15 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ กิตติศัพท์เล่าขานว่าเก่งและเชี่ยวชาญในหลากหลายด้าน โดยเฉพาะด้านการเรียนการสอนพระปริยัติธรรม และทางโหราศาสตร์

ประสูติเมื่อวันที่ 1 ธ.ค.2417 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่เรือนแพหน้าวัดกัลยาณมิตร อ.บางกอก ใหญ่ จ.ธนบุรี บิดาชื่อ ตรุษ โยมมารดาชื่อ จันทร์

เมื่อพระเยาว์ทรงรับการศึกษาเบื้องต้นกับบิดา ก่อนไปศึกษาวิชาหนังสือ วิชาเลขลูกคิด และโหราศาสตร์ ในสำนักของพระอาจารย์ช้าง วัดสระเกศ

เมื่ออายุ 12 ปี บรรพชาและเริ่มศึกษาภาษาบาลี มูลกัจจายน์ในสำนักของพระอาจารย์ช้าง

ต่อมาทรงศึกษาในสำนักของพระธรรม กิติ (เม่น) สำนักสมเด็จพระวันรัต (แดง) วัดสุทัศน์ และสำนักพระยาธรรมปรีชา (ทิม) ตามลำดับ

พ.ศ.2433 เข้าแปลพระปริยัติธรรม ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นครั้งแรก ได้เป็นเปรียญ 3 ประโยค พ.ศ.2436 สอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยค

พ.ศ.2437 อุปสมบทที่วัดสระเกศ สมเด็จพระวันรัต (แดง) วัดสุทัศน์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระธรรมทานาจารย์ (จุ่น) วัดสระเกศ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระธรรมกิตติ (เม่น) วัดสระเกศ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

เข้าแปลพระปริยัติธรรมอีกเมื่อ พ.ศ.2441 ได้เป็นเปรียญ 5 ประโยค และ พ.ศ.2443 ได้เปรียญ 6 ประโยค








Advertisement

พระองค์คิดว่าจะหยุดสอบไม่เข้าแปลอีกต่อไป แต่รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระกระแสรับสั่งให้เข้าแปลจนได้เป็นเปรียญ 7 ประโยค จากนั้น พ.ศ.2444 และ พ.ศ.2445 ทรงเข้าแปลได้เป็นเปรียญ 8 และ เปรียญ 9 ตามลำดับ

เมื่อทรงได้เป็นเปรียญ 9 ประโยคแล้ว ก็ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการสนามหลวงสอบไล่พระปริยัติธรรมตลอดมา

พ.ศ.2451 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระ ราชาคณะที่ พระปิฎกโกศล

พ.ศ.2464 เลื่อนเป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ “พระราชเวที” และในปี พ.ศ.2466 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ “พระเทพเวที”

รุ่งขึ้นปี พ.ศ.2467 ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ควบคู่ไปกับตำแหน่งเจ้าคณะแขวงเหนือ จ.ธนบุรี

สมัยรัชกาลที่ 7 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่พระธรรมเจดีย์ และเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม

ในรัชกาลที่ 8 ได้รับสถาปนาเป็นพระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรองที่ “พระธรรมวโรดม”

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร โปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จ พระราชาคณะที่ “สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์”

พ.ศ.2505 สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตติโสภณมหาเถร) วัดเบญจมบพิตร สิ้นพระชนม์ ท่านได้รับโปรดเกล้าฯ ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช และประธานกรรมการมหาเถรสมาคม

ครั้นถึงวันที่ 4 พ.ค.2506 โปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 15 ในพระราชพิธีฉัตรมงคล

พระเกียรติคุณที่เลื่องลือของเจ้าประคุณสมเด็จฯ คือ พระอัจฉริยภาพทางโหราศาสตร์

นอกจากนี้ เจ้าประคุณสมเด็จฯ ยังทรงเชี่ยวชาญทางพิธีกรรม และไทยคดีอื่นๆ อีกหลายด้าน

ในฐานะเจ้าสำนักเรียนวัดสระเกศ ทรงอุปถัมภ์ส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรม ทั้งแผนกบาลีและ นักธรรม จนปรากฏว่ามีนักเรียนสอบไล่ได้นักธรรมและบาลีเป็นจำนวนมากเพิ่มขึ้นทุกปี ได้ออกไปเผยแผ่การศึกษาในต่างจังหวัด ได้รับหน้าที่และดำรงสมณศักดิ์เป็นจำนวนมาก

เป็นองค์อุปถัมภ์กิตติมศักดิ์ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ ราชวิทยาลัย มาตั้งแต่เริ่มเปิดการศึกษา เมื่อปี พ.ศ.2490

เมื่อดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ทรงเริ่มบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะ ทั่วทั้งพระอาราม

ด้านเผยแผ่พระศาสนา ทรงบริหารการคณะสงฆ์ โดยมิทรงคำนึงถึงความชราภาพ หากเป็นความสงบสุขของสังฆมณฑล

ในด้านการติดต่อกับชาวต่างประเทศ พระองค์ทรงปฏิสันถารต้อนรับอาคันตุกะจนเป็นที่สบายใจ แม้บางครั้งผู้เข้าเฝ้าเป็นคนต่างศาสนา ก็ทรงสามารถปฏิสันถารได้อย่างเหมาะสม

โดยปกติเจ้าประคุณสมเด็จฯ มีพระพลานามัยดีตลอดมา แต่เพราะทรงชราภาพ จึงประชวรด้วยโรคพระหทัย เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ 8 ก.พ.2508 เพียง 4 วันเท่านั้น พระอาการก็ดีขึ้นจนปลอดภัย

กระทั่งวันที่ 8 พ.ค. เกิดพระโลหิตอุดตันในสมอง แม้คณะแพทย์จะถวายการพยาบาลทุกวิถีทาง พระอาการก็ไม่ดีขึ้น

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงทราบ เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมถึง 2 วาระ

แต่ด้วยพระองค์ทรงชรามากแล้ว กายสังขารมิอาจทานทนได้อีกต่อไป จึงสิ้นพระชนม์ในเวลา 02.20 น. วันที่ 15 พ.ค.2508 พระชันษา 90 ปี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน