คอลัมน์ คติ-สัญลักษณ์ สถาปัตยกรรมไทย

ชวพงศ์ ชำนิประศาสน์

หนังสือวัดพระเมรุราชิการาม พิมพ์ขึ้นเพื่อสมโภช 513 ปี วัดหน้าพระเมรุ ได้กล่าวถึงยันต์ ทำด้วยแผ่นดินเผาติดเหนือประตูทางเข้าพระอุโบสถ 21 แผ่น มี จารึกแผ่นแรก แปลความว่า “ท่านผู้เจริญ ขอให้ทานศีล เนกขิมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ อธิษฐาน เมตตา จงมาแก่ท่านทั้งหลาย ขอศัตรูของท่านคงหลีกลี้”

ส่วนแผ่นที่ 2 ก็แปลความหมายคล้ายกันคือ เชิญท่านผู้เจริญทั้งหลาย คือ ทาน ศีล เนกขิมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน พร้อมเมตตา อุเบกขา มา ณ ที่นี้ จงจับอาวุธขึ้น ต่อยุทธ

คาถานี้เรียกว่า คาถาอาวุธหรือคาถาอายันตุโภนโต หรือคาถาพระพุทธเจ้าปราบมาร (ลักษณะของคาถาก็คือ บารมี 10 ทัศ ของพระโพธิสัตว์ที่ปรารถนาจะเป็นพระพุทธเจ้า)

สิ่งที่ปรากฏเป็นยันต์นั้นเรียกว่า ยันต์โสฬสมงคล ในหนังสือนี้อธิบายว่า ยันต์โสฬสมงคล เป็นสัญลักษณ์แทนสิ่งมงคล 16 อย่าง เช่น เลข 9 แทนโลกุตรธรรม 9 อย่าง คือ มรรค 4 ผล 4 และนิพพาน 1 เลข 5 แทนพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ ในภัทรกัลป์นี้

ตัวเลขในกรอบชั้นกลาง เรียก ตรีนิสิงเห หมายถึง เลข 3 ตัว 4 ชุด โดยวัตถุประสงค์คือ นำตัวเลข 3 ตัวมารวมกันได้เท่ากับ 15 โดยทุกกลุ่มจะมีเลข 5 ที่น่าจะหมายถึงพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ เป็นแกนหลัก ส่วนชั้นใน ก็ประกอบด้วยตัวเลข 9 ตัว เช่นเดียวกับชั้นนอก แต่จะแปลความหมายเพิ่มเติมไปอีก เล็กน้อย

ในหนังสือรอยสักสยามให้ความหมายของเลขในยันต์ที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาไว้ดังนี้

เลข 1 หมายถึงคุณแห่งนิพพาน

เลข 3 หมายถึงคุณแห่งพระรัตนตรัย

เลข 4 หมายถึงคุณแห่งมรรคผล 4 หรือพรหมวิหาร 4

เลข 5 หมายถึงคุณแห่งศีล 5

เลข 8 หมายถึง คุณแห่งพระกรรมฐาน

เลข 9 หมายถึงคุณแห่งมรรค 4 ผล 4 นิพพาน 1

เลข 10 หมายถึงคุณแห่งครูบาอาจารย์

เลข 14 หมายถึงคุณพระสงฆ์เจ้า

เลข 38 หมายถึงคุณพระธรรมเจ้า เป็นต้น

ในความหมายอื่น สมเด็จพระสังฆราชแพ วัดสุทัศน์ ให้ ความหมายที่ต่างไปจากความหมายในหนังสือวัดพระเมรุ ราชิการาม ก็คือ ตัวเลข 16 ตัว ชั้นนอก หมายถึง ภูมิชั้นรูปพรหม ซึ่งมี 16 ชั้น และหมายถึงพุทธคุณแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า 16 ประการด้วย

ยันต์โสฬสมงคลนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ประดิษฐานไว้ที่ส่วนยอดของเสาหลักเมืองกรุงเทพฯ เพื่อ เป็นมงคลแห่งความเจริญรุ่งเรือง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน