คอลัมน์ คติ-สัญลักษณ์ สถาปัตยกรรมไทย

ชวพงศ์ ชำนิประศาสน์

ดอกบัวเพิ่งจะเป็นจุดสนใจ พิเศษในสัปดาห์นี้เมื่อมีการปรับภูมิทัศน์ในทำเนียบรัฐบาล และมีอ่างบัวมาวางไว้ เจ้าหน้าที่ระบุว่าเพื่อความสวยงามและเป็นสิริมงคล

ดอกบัวเป็นไม้น้ำ เกิดขึ้นได้ทั่วไปโดยเฉพาะในแถบเขตร้อน คุณลักษณะเด่นของดอกบัว ใบบัว ก็คือ ไม่ปนเปื้อนสิ่งสกปรกใดๆ แม้เกิดขึ้น เจริญงอกงามในพื้นที่ที่ดูสกปรก เลอะเทอะ เต็มไปด้วยโคลนตมก็ตาม

จากเอกสารบรรยายเรื่องบัวกับวัฒนธรรมไทย โดยนาวาอากาศตรีหญิง ปริมภาก ชูเกียรติมัน กล่าวถึงเรื่องของดอกบัวมีอยู่ในไตรภูมิกถาหรือไตรภูมิพระร่วง มี 7 ชนิด มีชื่อดังนี้ คือ นิลุบล รัตตบล เสตุบล จงกลนี บัวแดง บัวขาวและกมุท

ในรายงานเล่มเดียวกันนี้ได้กล่าวถึงพระยาวินิจวนันดรได้รวบรวมลักษณะของพืชที่ปลูกเลี้ยงกันในเมืองไทยและกล่าวถึงบัวไทย 11 ชื่อ คือ บัวสายขาวดอกเข็ม บัวสายขาวหรือ สัตตบุษย์ บัวสายแดง สัตตบรรณ จงกลนี บัวผัน บัวเผื่อน บัวผันสีครามแก่หรือนิลุบล บัวหลวงดอกไม้ซ้อนสีขาวบัวหลวงดอกไม้ซ้อนแดง สัตตบงกช สัตตบุษย์

ดอกบัวที่เป็นสัญลักษณ์ในทางพุทธศาสนาหมายถึง ความบริสุทธิ์ไม่ข้องติดกับกิเลสหรือความสกปรกใดๆ แม้พัวพันอยู่กับสิ่งนั้นก็ตาม








Advertisement

ภาพพระพุทธรูปทั้งรูปวาดและรูปปั้น ไม่ว่าประทับยืนหรือนั่ง จะประทับอยู่บนดอกบัว อันหมายถึงความพ้นไปแล้ว อยู่เหนือความบริสุทธิ์ไม่ข้องติดกับกิเลสที่เป็นต้นเหตุของการเกิดมีเกิดเป็น พ้นจากโลกธรรมทั้งปวง

บัวที่ใช้เป็นสัญลักษณ์บูชาพระพุทธเจ้าหรือพระพุทธรูป จะใช้บัวหลวงดอกใหญ่ เช่น บัวสัตตบุษย์สีขาวดอกใหญ่

นอกจากนี้บัวยังใช้เป็นสัญลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมก็คือ การนำรูปแบบของบัวมาประดับเป็นยอดเสา พระอุโบสถหรือมหาวิหาร เรียกว่า บัวกลุ่มหัวเสาสำหรับเสากลาง และเรียกบัวแวงหรือบัวเกสรหัวเสา สำหรับเสารูปทรงเหลี่ยม การนำสัญลักษณ์ของดอกบัวมาเป็นส่วนประกอบของหัวเสาก็คือความหมายของการบูชาพระพุทธเจ้าด้วยดอกบัวหรือด้วยความ บริสุทธิ์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน