ปัญหาการหลอกให้เช่าพระปลอม

สมาคมช่วยอะไรได้บ้าง

คอลัมน์ ชมรมพระเครื่อง

โดย…แทน ท่าพระจันทร์

ปัญหาการหลอกให้เช่าพระปลอม สมาคมช่วยอะไรได้บ้าง – สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน ในปัจจุบันมีปัญหาการถูกหลอกให้เช่าพระปลอมมีอยู่มากมาย และเมื่อนำพระไปคืนเพื่อขอเงินคืนก็มักไม่ค่อยได้เงินคืน จนต้องนำเรื่องไปแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาฉ้อโกง แต่ก็มักจะมีปัญหาเรื่องการพิสูจน์ข้อชี้ชัดว่าพระองค์นั้นองค์นี้เป็นพระปลอมหรือไม่อย่างไร

ครับก็มีปัญหาหลากหลายที่ผมได้พบเจอและมีผู้มีขอคำปรึกษาที่สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย รวมทั้งเมื่อไม่นานมานี้ก็มีคลิปเรื่องการถูกหลอกให้เช่าพระปลอมใน โซเชี่ยลว่าได้ถูกหลอกให้เช่าพระปลอม และนำไปคืนผู้ขายแต่ผู้ขายก็บ่ายเบี่ยง และได้นำเรื่องร้องเรียนมายังสมาคมให้ช่วยติดตามผู้ขายให้มาเคลียร์ แต่ทางสมาคมก็ได้ชี้แจงว่า ทางสมาคมไม่ได้มีอำนาจหรือสิทธิอะไรที่จะเรียกบุคคลดังกล่าวมาเคลียร์ได้ ไม่ได้มีกฎหมายรองรับให้กระทำการดังกล่าว และแนะนำให้ไปแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ขายได้เลย ก็มีผู้มาแสดงความคิดเห็นกันหลากหลายความคิด บางรายก็ว่าสมาคมว่าทำไมไม่ไปจัดการเรื่องนี้

พระรอด กรุวัดมหาวัน

จึงขอแจ้งให้ทราบว่าสมาคมได้จดทะเบียนการตั้งสมาคมถูกต้องตามกฎหมาย และตามกฎหมายนั้นสมาคมมีหน้าที่เผยแพร่ความรู้ในด้านพระเครื่องพระบูชา และสนับสนุนการอนุรักษ์พระเครื่องพระบูชาเท่านั้น มิได้มีอำนาจหน้าที่ไปจัดการกับผู้ทำพระปลอมหรือขายพระปลอมได้ ในส่วนที่สมาคมทำได้ก็คือ ตรวจสอบออกใบรับรองพระแท้ให้กับประชา ชนและบุคคลทั่วไป โดยใช้มาตรฐานมูลค่ารองรับตามมาตรฐานของสมาคมเท่านั้น

เรื่องที่ให้ทางสมาคมเรียกผู้ขายกับผู้ซื้อให้มาเคลียร์กันนั้น ทางสมาคมไม่ได้มีอำนาจตามกฎหมายที่จะกระทำได้ ซึ่งก็มีผู้ที่เข้าใจและไม่เข้าใจ บ้างก็นึกเอาว่าสมาคมมีหน้าที่และอำนาจในการดำเนินการทางกฎหมายได้ บางอาชีพเช่น ทนายความ แพทย์ วิศวกรรม หรือผู้ตรวจสอบบัญชี เป็นต้น อาชีพเหล่านี้มีกฎหมายกำหนดให้ต้องมีใบประกอบอาชีพ และมีองค์กรควบคุม ในอีกหลายๆ อาชีพไม่มีกฎหมายบังคับว่าต้องมีใบประกอบอาชีพ

เช่นในกรณีนี้ผู้ที่มีอาชีพซื้อหรือขายพระเครื่อง ก็มิได้มีข้อกำหนดทางกฎหมายให้ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ไม่ต้องขึ้นทะเบียนผู้ประกอบอาชีพนี้ และมิได้บังคับให้ขึ้นทะเบียนกับองค์กรใดหรือมีองค์กรใดเข้ามาควบคุม ดังนั้นผู้ที่ประกอบอาชีพนี้จึงเป็นอาชีพอิสระ หมายความว่าเขาสามารถประกอบอาชีพได้โดยมิต้องขึ้นอยู่กับองค์กรใดหรือต้องมีใบอนุญาตในการประกอบอาชีพ

ครับที่บอกกล่าวมานี้ก็เพื่อให้หลายๆ ท่านเข้าใจว่า สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทยมิได้มีอำนาจหน้าที่ใดๆ ในการเรียกหรือบังคับให้ผู้ขายกับผู้ซื้อมาเคลียร์ปัญหาต่างๆ ที่มีต่อกันได้ หรือมีบทลงโทษแก่ผู้ที่ขาย พระปลอมได้

เรื่องการที่มีผู้ถูกหลอกขายพระปลอมนั้น ทางสมาคมก็เห็นใจเป็นอย่างยิ่ง สิ่งที่ทำได้ก็คือ ถ้ามีข้อสงสัยว่าพระเครื่องของท่านเป็นพระแท้ตามมาตรฐานของสมาคมหรือไม่ ก็สามารถส่งพระมาให้ทางสมาคมตรวจสอบความถูกต้องและออกใบรับรองให้ได้ ถ้าผลออกมาแน่ชัดว่าเป็นพระปลอมและถูกหลอกให้เช่ามา ผู้เสียหายก็ต้องไปแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่หลอกลวงได้ ซึ่งเป็นคดีอาญาในข้อหาฉ้อโกง

มีอยู่หลายคดีที่ถูกดำเนินคดีไปแล้ว บางคดีก็ได้มีการยอมคืนเงินกันไปแล้ว ในส่วนของการดำเนินคดีบางรายเจ้าหน้าที่ก็ขอสอบพยานในการชี้ขาดว่าแท้ปลอมอย่างไร ซึ่งก็เป็นปัญหาอยู่บ้างในทางคดี ซึ่งต้องมีพยานไปสอบปากคำตลอดจนเข้าไปเป็นพยานในศาล เรื่องเหล่านี้ผู้ที่ต้องไปเป็นพยานในศาลเขาก็ไม่ค่อยอยากจะไปหรอกครับ เนื่องจากจะต้องเข้าไปเป็นผู้ขัดแย้งกับผู้ที่ถูกดำเนินคดี ซึ่งผู้ที่ถูกดำเนินคดีก็คงไม่พอใจพยานผู้นี้ และอาจจะมีการล้างแค้นกันต่อไป

ซึ่งก็เป็นความจริงที่มีให้เห็นอยู่แล้ว และในเรื่องของการต่อสู้ทางคดีก็ยากนะครับ เพราะก็ต้องมีการต่อสู้ทางคดีว่าพระของเขาแท้อย่างนู้นอย่างนี้ไม่สิ้นสุดง่ายๆ และไม่จบง่าย แต่ถ้าต่อสู้ในเรื่องของมูลค่ารองรับอย่างที่ผมได้เคยเขียนไปหลายครั้งแล้วว่า พระเครื่องที่เป็นพระยอดนิยมต่างๆ จะมีมูลค่ารองรับตามมาตรฐานสากล ไม่ว่าจะเป็นสนามพระหรือศูนย์พระเครื่องใหญ่ๆ ที่เป็นมาตรฐานทั่วไป ถ้าไม่มีมูลค่ารองรับก็ให้สันนิษฐานได้เลยว่าเป็นพระปลอม

ผมขอยกตัวอย่างเรื่องจริงเรื่องหนึ่งที่มีผู้เสียหายถูกหลอกขายพระรอดกรุวัดมหาวัน ลำพูนในราคา 2.5 ล้านบาท ที่จังหวัดหนึ่งทางภาคเหนือ ได้มาที่สมาคมพร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจและใบแจ้งความ เพื่อขอความชัดเจนว่าแท้หรือปลอม ขอให้ชี้ตำหนิพระแท้เพื่อประกอบการดำเนินคดี ผมได้แนะนำไปว่า พระปลอมในปัจจุบันก็ทำจุดตำหนิได้ใกล้เคียงมากและมีแทบทุกจุด

ดังนั้น จึงนำไปสู้คดีได้ไม่ดีนัก จำเลยก็จะโต้แย้งในศาลได้ และผู้ที่ชี้จุดตำหนิหรือชี้ขาดเขาก็ต้องไปขึ้นศาลด้วยในฐานะพยาน ซึ่งต้องเดินทางไปถึงเชียงใหม่ และก็คงจะต้องตกเป็นผู้ขัดแย้งกับจำเลยอีก คงไม่มีใครยินดีที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวแน่ แต่ถ้าเอาเรื่องมูลค่ารองรับนั้นพิสูจน์ง่ายมากและชัดเจนกว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจที่มาด้วยแต่งกายนอกเครื่องแบบมา

ผมจึงแนะนำว่าให้ผู้กองเป็นประจักษ์พยานในคดีนี้ เนื่องจากพระเครื่องยอดนิยมระดับนี้มีมูลค่ารองรับเป็นมาตรฐานแน่นอน จึงแนะนำให้ผู้เสียหายกับเจ้าหน้าที่ตำรวจนำพระไปเสนอขายบนศูนย์พระสัก 5-6 ร้านว่ามีผู้ขอเช่าหรือรับเช่าหรือไม่ ถ้าไม่มีใครเช่าก็เท่ากับว่าไม่มีมูลค่ารองรับให้สันนิษฐานได้เลยว่าเป็นพระปลอม เอาข้อนี้ไปสู้คดีในศาลได้เลย ถ้าจำเลยสู้ว่ามีมูลค่ารองรับและยืนยันก็ให้เขารับซื้อพระของเขาไป ก็เท่ากับว่าผู้เสียหายก็ได้เงินคืน

ครับคดีนี้ผู้เสียหายได้เงินคืนครบทุกบาท และเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นมาแล้วครับ ที่ชี้แจงเรื่องเหล่านี้ก็เพื่อทำความเข้าใจในอำนาจหน้าที่ของสมาคมที่สามารถทำได้หรือไม่ได้อย่างไร และก็แนะนำในการสู้คดีกับคนชั่วที่หลอกลวงขายพระเก๊ครับ

รูปพระในวันนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ กับเรื่องที่เขียนนะครับ ผมขอนำรูปพระรอด กรุวัดมหาวัน พิมพ์ใหญ่แท้ๆ จากหนังสือ อมตพระกรุ อันล้ำค่าของไทย มาให้ชมครับ

อ่าน : พระรอด : พระใหญ่ไดบุตสุ “พระรอด” แห่งญี่ปุ่น กับต้นสน 2 รัชกาล

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน