อาลัยร่มโพธิ์ใหญ่พะเยา พระอุบาลีคุณูปมาจารย์

คอลัมน์ มงคลข่าวสด

อาลัยร่มโพธิ์ใหญ่พะเยา พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ – พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (ปวง ธัมมปัญโญ) อดีตเจ้าอาวาสวัดศรีโคมคำ ต.เวียง อ.เมือง จ.พะเยา เป็นที่ยกย่องเชิดชูอย่างมากมาย และเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติตนสำหรับพระภิกษุ-สามเณรรุ่นหลัง รวมทั้งชาวเมืองพะเยาได้เจริญรอยตาม

มีนามเดิมว่า ปวง วงศ์เรือง เกิดเมื่อวันพุธที่ 11 ก.ค.2460 ที่บ้านสางเหนือ อ.เมือง จ.พะเยา บิดา-มารดา ชื่อนายหนานปุ๊ด และนางหลวง วงศ์เรือง

จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนบ้านสาง ต.บ้านสาง แล้วเข้าพิธีบรรพชา เมื่อวันอาทิตย์ที่ 15 พ.ค.2475 ที่พัทธสีมา วัดสางเหนือ ต.บ้านสาง อ.เมือง จ.พะเยา มีเจ้าอธิการตื้อ ธัมมวังโส วัดศรีบุญเรือง อ.เมือง จ.พะเยา เป็นพระอุปัชฌาย์

พ.ศ.2476 สอบได้นักธรรมชั้นตรี-โท จากสำนักศาสนศึกษาวัดสางใต้อ.เมือง จ.พะเยา

อายุครบ 20 ปี เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันศุกร์ที่ 10 มิ.ย.2481 ที่พัทธสีมาวัดสางเหนือ ต.บ้านสาง อ.เมือง จ.พะเยา มีเจ้าอธิการตื้อ ธัมมวังโส วัดศรีบุญเรือง เป็นพระอุปัชฌาย์, พระปวง ธัมมวโร วัดศรีบุญเรือง เป็นพระ กรรมวาจาจารย์ และพระตุ้ย ญาณรังสี วัดสันกว๊าน เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ.2483 สอบได้นักธรรม ชั้นโท สำนักเรียนวัดมหาพฤฒาราม เขตบางรัก กทม. และด้วยความปรารภอย่างแรงกล้า แสวงหาความรู้ ได้เข้าเรียนพระปริยัติธรรม แผนกบาลี ในสำนักเรียนวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม

พ.ศ.2487 สามารถสอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค

มีความสามารถพิเศษ ถือเป็นพรสวรรค์ส่วนตัว อันเป็นเอกลักษณ์ของภูมิปัญญาแห่งล้านนาตะวันออก ในการอ่านเขียนภาษาล้านนา การออกแบบแปลนพระอุโบสถ กุฏิ วิหารแบบล้านนา และศึกษาประวัติศาสตร์โบราณคดีล้านนาอย่างแตกฉาน สามารถถ่ายทอดออกมาเป็นข้อมูลใช้สร้างคุณประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้าของนักเรียนได้อย่างแพร่หลาย

ส่งเสริมหมู่บ้านหลายหมู่บ้าน ทั้งในด้านกำลังทรัพย์ กำลังกาย และกำลังสติปัญญา ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ไฟไหม้สงเคราะห์ครอบครัวที่เป็นโรคขาดสารไอโอดีนหรือเป็นโรคเอ๋อในเขต อ.ปง จ.พะเยา รวมทั้งเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ในการจัดทอดผ้าป่าหาทุนสร้างอาคารและวัสดุครุภัณฑ์โรงพยาบาลพะเยาและวิทยาลัยพยาบาลพะเยาเป็นประจำทุกปี

มีความเข้าใจและมีความวิริยอุตสาหะในการศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์โบราณคดีล้านนาและเมืองพะเยา มาเป็นเวลานานกว่า 40 ปี เป็นผู้เปิดประตูเมืองพะเยาในอดีตให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษา ก่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจวัฒนธรรมของตนเอง อันเป็นมรดกล้ำค่า โดยเก็บสะสมวัตถุโบราณต่างๆ มาตั้งแต่ พ.ศ.2508 เป็นจำนวนมาก ตลอดจนโบราณวัตถุอีกมากมาย อาทิ วัตถุโบราณ ประมาณ 1,000 ชิ้น, หลักศิลาจารึกหินทราย 30 ชิ้น ตำราคัมภีร์โบราณ สมุดข่อย

อีกทั้ง ได้ปริวรรตหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และความรู้ทั่วไปหลายเรื่อง เช่น ประวัติเมืองพะเยา, ประวัติพญางำเมือง ผู้ครองนครภูกามยาวในอดีต ตำนาน ความเป็นมาต่างๆ

ผลงานทั้งหมด ถือเป็นส่วนสำคัญ ทำให้เกิดหอวัฒนธรรมนิทัศน์วัดศรีโคมคำ ซึ่งสร้างขึ้นในพื้นที่โฉนดของวัดศรีโคมคำ สถานศึกษาประวัติศาสตร์โบราณคดีและที่รวบรวมจัดแสดงศิลปวัฒนธรรมภูมิปัญญาชาวบ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่นพร้อมกับวัตถุโบราณ

ลำดับงานปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ.2490 เป็นพระอุปัชฌาย์ พ.ศ.2512 เป็นเจ้าอาวาสวัดศรีโคมคำ พ.ศ.2521 เป็นเจ้าคณะจังหวัดพะเยา

พ.ศ.2526 เป็นรองเจ้าคณะภาค 6 พ.ศ.2542 เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 6

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2499 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระโสภณธรรมมุนี พ.ศ.2524 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชวิสุทธิโสภณ

พ.ศ.2532 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพวิสุทธิเวที พ.ศ.2537 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมวิมลโมลี

พ.ศ.2551 ได้เข้ารับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองชั้นหิรัญบัฏ ในราชทินนามที่ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์

ด้วยสังขารไม่เที่ยง เมื่อวันที่ 12 ม.ค.2562 พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ เข้ารับการรักษาอาการปอดอักเสบ รวมทั้งมีการติดเชื้อในกระแสเลือดและโรคชรา ก่อนละสังขารด้วยอาการสงบ เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.2562 เวลา 20.11 น. ที่โรงพยาบาลพะเยา สิริอายุ 102 ปี 82 พรรษา

กำหนดพิธีบำเพ็ญกุศลสรีรสังขารพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ วันที่ 17 ส.ค.2562 ทำบุญครบปัญญาสมวาร (50 วัน) วันที่ 6 ต.ค.2562 ทำบุญครบสตมวาร (100 วัน)

เวลา 19.00 น. พระสงฆ์สวดพระอภิธรรมทุกวัน ยกเว้น วันสำคัญที่กำหนดงดสวดพระอภิธรรม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน