พันธุ์แท้พระเครื่อง

ราม วัชรประดิษฐ์

พระศรีวสุนธรา หรือที่เรียกขานกันในนาม “พระแม่ธรณี หรือ พระแม่ธรณีบีบมวยผม” เป็นที่เคารพนับถือว่าเป็นเทพแห่งพื้นแผ่นดิน มีปรากฏในตำนานทั้งศาสนาพราหมณ์, ฮินดู และพุทธศาสนา โดยเชื่อว่า ‘แผ่นดิน’ เป็นจุดก่อเกิดสรรพสิ่งทั้งปวงในโลก จึงเปรียบเสมือน ‘มารดา’ ผู้หล่อเลี้ยงโลก และยกย่องเป็นเทพีผู้ค้ำจุนโลก และสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ จะเห็นได้จากการสร้าง “รูปเคารพพระแม่ธรณี” ตามสถานที่หรือหน่วยงานต่างๆ มากมาย

พระแม่ธรณี ยังปรากฏความสำคัญในพุทธประวัติ กล่าวคือ … ในคืนที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ พญามารวัสดีและกองทัพมารเข้ารบกวนโดยอ้างเอาบัลลังก์เป็นของตน พระพุทธองค์ทรงเปล่งวาจาอ้างเอา “ธรณี” เป็นพยาน จากนั้นมีเสียงดังกัมปนาท แผ่นดินสั่นสะเทือนเลื่อนลั่น พระแม่ธรณีต้องปรากฏกายเป็นพยานเอก แสดงการบิดน้ำจากมวยผมเพื่อแสดงให้เห็นถึงกุศลที่พระพุทธองค์กระทำมาตั้งแต่อดีตชาติ จนน้ำที่กรวดลงบนพื้นแล้วแม่ธรณีรับไว้นั้นมากถึงขั้นเป็นมหาสมุทร พัดเอาเหล่าพญามารกระจัดกระจายหายไป… ต้นเหตุนี้ทำให้เกิด ‘พระพุทธรูปในปางมารวิชัย’ ขึ้นในกาลต่อมา

คติความเชื่อเรื่องการบูชาพระแม่ธรณี ได้เผยแพร่มาจากอินเดียสู่ไทย เนื่องจากอิทธิพลคัมภีร์พระพุทธศาสนาเป็นส่วนใหญ่ อาจกล่าวได้ว่า ‘ก่อนที่จะทำอะไร ก็ให้บูชาบอกกล่าวต่อพระแม่ธรณีก่อน’ เพราะทุกอย่างในโลกล้วนกำเนิดขึ้นบนดินทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างอาคารบ้านเรือน ก็ต้องบอกกล่าวขอขมา เพราะจะกระทบกระเทือนพื้นดินตั้งแต่เริ่มตอกเสาเข็มหรือขึ้นเสาเอก ฯลฯ หรือ เกษตรกรก่อนจะเพาะปลูก ก็มักจะทำพิธีบอกกล่าวแก่พระแม่ธรณี และขอพรให้ประสบความสำเร็จ พืชผลเจริญงอกงาม

ทางภาคอีสาน ยังมีวิชาเฉพาะที่เกี่ยวกับ “พระแม่ธรณี” หลายอย่าง เช่น ตะกรุดหัวใจพสุธา ในสายสมเด็จลุน นครจำปาศักดิ์ หรือ พิธีเบิกโขลนออกจับช้าง ก็มีมนต์ที่กล่าวอ้างถึงแม่พระธรณี… โอมเผนิกเบิกแนกแยก พระกำกวมงวม พระธรณี ทางเส้นนี้ก็เคย ล่วงปล่อยทางนี้ เคยเที่ยว โอมสวาหุโน นะโมตัสสะ… ทางภาคเหนือ ก็มีพิธีกรรมเกี่ยวกับแม่พระธรณีอยู่มากที่นับถือเป็นประเพณี มีอาทิ พิธีบนนางธรณี เป็นต้น

“พระแม่ธรณี” ยังปรากฏในวรรณคดีไทยหลายเรื่อง อาทิ หนังสือเทศน์มหาชาติปฐมสมโพธิกถา ลิลิตตะเลงพ่าย เป็นต้น โดยมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป เช่น นางพระธรณี พระแม่สุนธราพสุธา

รูปลักษณ์ทางจิตรกรรมของแม่พระธรณี จะเป็นเทวดาผู้หญิงที่มีรูปร่างใหญ่ แต่อ่อนช้อยงดงาม พระฉวีสีดำ พระพักตร์รูปไข่ ยิ้มละไมอยู่เสมอ แสดงถึงความมีพระทัย เยือกเย็น มวยพระเกศายาวสลวย สีเขียวชอุ่มเหมือนกลุ่มเมฆ พระเนตรสีเหมือนดอกบัวสาย คือ สีน้ำเงิน พระชงฆ์เรียว พระพาหาดุจงวงไอยรา นิ้วพระหัตถ์เรียวเหมือนลำเทียน ภาพเขียนรูปพระแม่ธรณีที่ถือกันว่างดงามที่สุดในประเทศ คือ “ภาพที่ฝาผนังด้านหน้าพระประธานในพระอุโบสถ วัดชมภูเวก อ.เมือง จ.นนทบุรี”

รูปลักษณ์ทางประติมากรรมของแม่พระธรณีตามศิลปะไทย จะทำเป็นรูปหญิงสาว รูปร่างอวบใหญ่ล่ำสันอย่างได้สัดส่วน มีความงามประดุจเทพธิดา นั่งในท่าคุกเข่า แต่ยกเข่าขวาขึ้นสูงกว่าเข่าซ้าย หรือบางแห่งสร้างให้อยู่ในท่ายืน แต่ที่เหมือนกันคือ ‘มวยผมปล่อยยาว มือขวายกข้ามศีรษะไปจับไว้ที่โคนมวยผม ส่วนมือซ้ายจับมวยผม แสดงท่ากำลังบิดให้สายน้ำไหลออกมาจากมวยผม’

ส่วนเครื่องทรงไม่มีแบบแผนแน่นอน เป็นไปตามแต่จินตนาการของผู้สร้าง บางแห่งสวมพัสตราภรณ์เฉพาะช่วงล่าง แต่บางแห่งทั้งนุ่งผ้าจีบและห่มสไบอย่างสวยงาม ประดับเครื่องถนิมพิมพาภรณ์ มีกรอบหน้าและจอนหู เป็นต้น

มาถึงยุคปัจจุบัน พระแม่ธรณี หรือพระแม่ธรณีบีบมวยผม ยังคงได้รับการเคารพศรัทธาและกราบไหว้บูชากันอยู่ไม่เสื่อมคลาย เพราะเราต้องอาศัยพื้นแผ่นดินอยู่ทั้งชีวิต เพื่อให้มีที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ค้าที่ดิน ยิ่งต้องบูชาพระแม่ธรณี แล้วจะสำเร็จสมประสงค์ ตามความเชื่อโบราณที่ว่า ‘อยากเป็นเศรษฐีที่นา เป็นราชาที่ดิน ต้องบูชาพระแม่ธรณี’ ครับผม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน