พระอู่ทองตระกวน กรุเขาพนมเพลิง

คอลัมน์ ชมรมพระเครื่อง

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน พระกรุเนื้อชินแบบหนึ่งที่น่าสนใจ และเป็นศิลปะในยุคสุโขทัยแบบหนึ่ง ที่นักโบราณคดีจัดเป็นศิลปะสุโขทัยหมวดเบ็ดเตล็ดหรือหมวดวัดตระกวน และพระอู่ทองตระกวนก็เป็นพระเครื่องที่ถูกขุดพบปะปนอยู่ในกรุเขาพนมเพลิงด้วย ปัจจุบันก็ไม่ค่อยพบเห็นกันนัก

ในจังหวัดสุโขทัยขุดพบศิลปะแบบสุโขทัยมากที่สุด ถือเป็นต้นกำเนิดของศิลปะแบบนี้ และเป็นศิลปะที่สวยงามมากของไทย นักโบราณคดีจัดแยกหมวดหมู่ของศิลปะสุโขทัยไว้เป็นหมวดๆ คือ

1. หมวดใหญ่ซึ่งมีอยู่ทั่วไป เป็นลักษณะของศิลปะสุโขทัยโดยเฉพาะ พระรัศมีเป็นเปลวขมวดพระเกศาเล็ก พระพักตร์รูปไข่ พระขนงโก่ง พระนาสิกงุ้ม พระโอษฐ์อมยิ้มเล็กน้อย พระอังสาใหญ่ บั้นพระองค์เล็ก ครองจีวรห่มเฉียง ชายจีวรยาวลงมาถึงพระนาภี ปลายเป็นเขี้ยวตะขาบ ฐานหน้ากระดานเกลี้ยง

พระอู่ทองตระกวน

2. หมวดกำแพงเพชร มีลักษณะดวงพระพักตร์ตอนบนกว้าง พระหนุเสี้ยมพบน้อย ส่วนมากพบในจังหวัดกำแพงเพชร

3. หมวดพระพุทธชินราช พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระองค์ค่อนข้างอวบ นิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่มีปลายเสมอกัน หมวดนี้เชื่อกันว่าเริ่มสร้างครั้งแผ่นดิน พระเจ้าลิไท ราวต้นพุทธศตวรรษที่ 20

4. หมวดเบ็ดเตล็ด หรือหมวดตระกวน หมวดนี้เป็นหมวดพระพุทธรูปแบบสุโขทัย ที่มีศิลปะแบบเชียงแสนลังกาเข้ามาปะปนอยู่มาก บางองค์ มีลักษณะชายสังฆาฏิหรือจีวรสั้น พระนลาฏ (หน้าผาก) แคบ ที่เรียกว่าแบบวัดตระกวน เนื่องจากได้พบพระพุทธรูปสุโขทัยแบบนี้ที่วัดตระกวนเมืองสุโขทัยเก่าเป็นครั้งแรก พระพุทธรูปปูนปั้นที่ค้นพบที่พระเจดีย์ทางทิศตะวันออกและในพระปรางค์วัดพระพายหลวง ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ในสมัยสุโขทัย ก็อยู่ในศิลปะหมวดนี้

กรุเขาพนมเพลิงเป็นกรุที่มีพระเครื่องพระบูชาบรรจุไว้เป็นจำนวนมาก และพระเครื่องที่พบอยู่ในกรุก็มีจำนวนมากมีมากมายหลายพิมพ์ มีพระเครื่องที่สร้างล้อแบบของกรุต่างๆ ในเมืองสุโขทัยด้วย พระเครื่องที่พบส่วนใหญ่เป็นพระเนื้อชิน และพระเครื่องแบบหนึ่งที่สร้างแบบศิลปะสุโขทัยหมวดตระกวน

จึงมีการนำรูปแบบของศิลปะมาตั้งชื่อของพระเครื่องคือ “พระอู่ทองตระกวน” พระที่พบมีทั้งแบบพิมพ์ใหญ่และพิมพ์เล็กแต่โดยรวม มีรูปแบบศิลปะเหมือนกัน คือมีพระนลาฏแคบ องค์พระอวบอ้วน พระพักตร์ ค่อนข้างกลม จึงเข้ากับแบบศิลปะหมวดตระกวนพระอู่ทองตระกวนเป็นพระพิมพ์หนึ่งที่นิยมมากของกรุนี้

พุทธคุณของพระกรุนี้เด่นทางด้านแคล้วคลาด อยู่ยงคงกระพัน พระอู่ทองตระกวนมีขนาดองค์พระสูงประมาณ 5.5 ซ.ม. กว้างประมาณ 3.2 ซ.ม. ปัจจุบันค่อนข้างหายากครับของปลอมเลียน แบบนั้นมีแน่ ก็เป็นพระนิยมมีคนเสาะหาก็ย่อมมีของปลอมเป็นธรรมดาครับ เวลาเช่าหาก็ต้องพิจารณาให้ดีๆ หน่อยครับ

วันนี้ผมได้นำรูปพระอู่ทองตระกวน พิมพ์ใหญ่ จากหนังสืออมตพระกรุอันล้ำค่าของไทยมาให้ชมครับ

ด้วยความจริงใจ

แทน ท่าพระจันทร์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน