มาตรฐานราคาพระเครื่องพระบูชามีหรือไม่

คอลัมน์ ชมรมพระเครื่อง

มาตรฐานราคาพระเครื่อง – สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน มูลค่าของพระเครื่องนั้นมีมาตรฐานหรือไม่ ถ้าตอบตามความจริงนั้นก็คือ พระเครื่องที่ถูกต้องตามมาตรฐานสากลที่มีมูลค่ารองรับนั้นก็มีครับ ส่วนพระที่นอกมาตรฐานก็คงไม่มีครับ ช่วงนี้ก็มีการพูดถึงเรื่องมูลค่าของ พระเครื่องกัน ผมก็เลยขอกล่าวถึงสักเล็กน้อย แต่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองนะครับ

ในสังคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชานั้นให้มูลค่ากับพระเครื่องที่เป็นพระนิยมกันอยู่หลายชนิด ปัญหาอยู่ที่พระอะไรมีมูลค่ารองรับเท่าไร และพระแบบไหนบ้างที่มีมูลค่ารองรับ ก่อนอื่นก็ต้องอธิบายถึงคำว่ามาตรฐานสากลกับมูลค่ารองรับเสียก่อน

การที่สังคมพระเครื่องจะให้มูลค่ากับพระชนิดใดนั้น ก็ต้องเป็นพระเครื่องที่มีผู้คนนิยมและเสาะหาและมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันเป็นมาตรฐาน ในส่วนของเรื่องมูลค่าก็ขึ้นอยู่กับความต้องการในขณะเวลานั้นๆ

อย่างเช่นพระสมเด็จวัดระฆังฯ ที่เจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ได้สร้างไว้ ผู้ที่อยากมีไว้ครอบครองมีจำนวนมาก จำนวนพระแท้ๆ มีน้อยและหายาก แต่มีผู้ต้องการมากกว่า จึงมีผู้ที่ยอมที่จะเช่าหาหรือซื้อในราคาสูงเป็นหลักล้านบาท เป็นต้น

ในแหล่งที่มีการเล่นหาซื้อขายกันก็จะมีผู้รับเช่าหาหรือรับซื้ออยู่ ซึ่งราคาก็จะมีการรับซื้อที่สูงตามความนิยมและความต้องการของตลาด ซึ่งก็จะแยกตามพิมพ์และความต้องการของตลาดด้วยเช่นกัน และตามสภาพความสวยสมบูรณ์ขององค์พระเป็นสำคัญ ซึ่งก็จะมีราคาแตกต่างกันไป แล้วใครเป็นผู้ตั้งราคา ในเรื่องนี้ก็จะขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาด และถือเอาราคาที่มีการซื้อขายกันจริงในสังคมพระเครื่อง

ครั้งล่าสุด จะถือเป็นราคาในขณะนั้นๆ การกำหนดราคาซื้อขายพระเครื่องก็คล้ายๆ กับการซื้อขายรถยนต์มือสอง กล่าวคือรถยนต์รุ่นเดียวกัน สีเดียวกัน ซื้อมาวันเดียวกัน แต่สภาพการใช้ การบำรุงรักษาต่างกัน พอนำมาขายเต็นท์รถราคาต่างกันไปตามสภาพ ราคาผู้ซื้อหรือพ่อค้าเป็นผู้กำหนด ผู้ขายตั้งไว้เท่าไรก็ตาม แต่ไม่มีคนซื้อก็ขายไม่ได้

ทีนี้มาพูดกันถึงมาตรฐานสากลคืออะไร พระเครื่องก็มีสังคมของผู้นิยมพระเครื่องฯ และก็มีศูนย์กลางการเล่นหาและซื้อขาย จุดใหญ่ๆ ก็จะเรียกกันว่าสนามพระ หรือในปัจจุบันจะเรียกกันว่าศูนย์พระ

เช่น ศูนย์ท่าพระจันทร์ ศูนย์พระพันธุ์ทิพย์ เป็นต้น จะเรียกอะไรก็ตามก็หมายถึงจุดศูนย์รวมพระเครื่องพระบูชา หรือตลาดพระเครื่องพระบูชา ก็เหมือนตลาดกลางอะไรทำนองนั้น

พระเครื่องที่จะขายได้ก็ต้องเข้าหลักเกณฑ์ของการเล่นหา เช่น พระแบบนี้ต้องมีรูปแบบพิมพ์ เนื้อหา ลักษณะของร่องรอยการผลิตเป็นแบบนี้ ที่เรียกกันรวมๆ ว่า จุดตำหนิที่ถูกต้องตามมาตรฐานของสังคมเท่านั้น ก็จะมีมูลค่ารองรับ คือสามารถขายได้เท่านั้นเท่านี้ คนขายกับคนซื้อก็จะตกลงกัน ถ้าตกลงกันได้ก็จะขายได้

แต่ถ้าพระเครื่ององค์นั้นๆ เช่น พระสมเด็จวัดระฆังฯ พิมพ์ใหญ่ แต่ไม่ถูกต้องตามมาตรฐานสากลที่เขากำหนดไว้ ไม่ว่าจะเป็นราคาเท่าไร ก็ไม่สามารถขายได้ เพราะเขาไม่ซื้อ และไม่มีใครซื้อ แบบนี้ก็คือไม่มีมูลค่ารองรับ

มูลค่ารองรับก็คือ มีคนพร้อมที่จะซื้อในราคานั้นๆ และมีอยู่หลายคนในสังคม ส่วนสนนราคาที่ผู้จะขายหรือครอบครองไว้จะตั้งเอาไว้เท่าไรก็ไม่ผิด ไม่ว่าพระเครื่องนั้นๆ จะถูกต้องตามมาตรฐานที่มีมูลค่ารองรับหรือไม่ก็ตาม หรือเป็นพระที่ถูกต้องตามมาตรฐานที่มูลค่ารองรับ

แต่สนนราคาสูงโอเวอร์จนเกินไปก็ไม่มีผู้ที่จะรับซื้อ ถ้าเป็นแบบนี้ก็ไม่ใช่มูลค่ารองรับ มูลค่ารองรับก็คือในสังคมหรือมีคนที่จะยอมซื้อใน ราคานี้จริงๆ จึงจะถือว่าเป็นมูลค่ารองรับ

พูดไปพูดมาก็ไม่ทราบว่าท่านผู้อ่านจะงงหรือไม่ และถ้าอยากทราบว่าพระที่เราครอบครองไว้จะถูกต้องตามมาตรฐานหรือไม่ และมูลค่ารองรับจะเป็นเท่าไร ก็สามารถทดสอบได้ในตลาดกลาง หรือที่ศูนย์รวมพระเครื่องพระบูชา ก็ค้นหาสนนราคาพระที่แบบเดียวกันหรือใกล้เคียงกันเสียก่อน แล้วนำไปตีราคาขายในศูนย์พระ โดยตีราคาให้สูงๆ เกินๆ ไว้

ถ้าเขาขอซื้อต่อรองราคาก็แสดงว่าพระของเราถูกต้องตามมาตรฐานสากล และราคาที่เขาต่อรองก็คือมูลค่ารองรับ ทดลองสอบถามดูหลายๆ ร้านก็พอจะนำมาประเมินราคามูลค่ารองรับได้แล้วครับ เพราะราคาที่เขาต่อรองจะไม่ต่างกันมากนัก

พอจะเอามาเป็นหลักเกณฑ์ได้ในขณะนั้นๆ ราคามูลค่าของพระเครื่องจะขึ้นและลงตามกาลเวลา บางครั้งก็ขึ้นไปมากหรือลงราคามากเช่นกัน ขึ้นอยู่กับความนิยมและความต้องการ เวลานั้น

ในส่วนที่อยากจะรู้เพียงถูกต้องตามมาตรฐานสากลหรือไม่ก็นำพระนั้นๆ ไปขอตรวจสอบออกใบรับรองความถูกต้องได้ตามสถานที่ที่เขารับออกใบรับรอง บางสถาบันก็รับประเมินราคาด้วยก็ว่ากันไป สนใจชอบแบบไหนก็เลือกแบบนั้นครับ

วันนี้ผมนำรูปพระสมเด็จวัดระฆังฯ พิมพ์ใหญ่ ที่ถูกต้องตามมาตรฐานสากลที่มีมูลค่ารองรับหลายๆ ล้านบาท มาให้ชมครับ

ด้วยความจริงใจ

แทน ท่าพระจันทร์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน