หลวงปู่กาญจน์ กัลยาโณ-สืบสายธรรมพระครูขี้หอม

หลวงปู่กาญจน์ กัลยาโณ-สืบสายธรรมพระครูขี้หอม : คอลัมน์ อริยะโลกที่ 6พระอธิการกาญจน์ หรือ หลวงปู่กาญจน์ กัลยาโณ เจ้าอาวาสวัด เทพนิรมิต ชุมชนตาดแคน อ.เมือง จ.มุกดาหาร พระสุปฏิปันโน ที่มีจริยาวัตรเป็นที่เลื่อมใสของชาวมุกดาหาร

สืบสายธรรมจากพระครูขี้หอม หรือ เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก แห่งนครจำปาสัก ฝั่งลาว ผู้เคยมาบูรณะองค์พระธาตุพนม อ.ธาตุพนม จ.นครพนม

ยังดำรงชีวิตอยู่ในวัย 80 ปี พรรษา 21

มีนามเดิม กาญจน์ พรหมเสนา เกิดเมื่อวันที่ 15 ม.ค.2482 ปีเถาะ เป็นชาวบ้านนาโพธิ์ หมู่ 6 ต.ดอนตาล จ.มุกดาหาร บิดา-มารดา ชื่อ นายจูมและนางบาน พรหมเสนา เป็นบุตรคนโตในจำนวนพี่น้องร่วมอุทร 5 คน ครอบครัวประกอบอาชีพชาวไร่ชาวนา

ในวัยเยาว์ บรรพชาขณะอายุ 14 ปี เมื่อปี พ.ศ.2496 ที่สำนักเรียนวัดยอดแก้ว แต่มาอยู่วัดศรีมงคลใต้ อ.เมือง จ.มุกดาหาร ร่ำเรียนที่วัดคำสายทอง แหล่งรวมด้านสรรพวิชานาน 1 ปี จากนั้นจึงข้ามไปฝั่งลาวกับสามเณรรุ่นพี่ นาน 12 ปี ต่อมาหลวงปู่มหางอน เป็นสมเด็จพระสังฆราชลาวรูปที่ 5

ช่วงที่อยู่ฝั่งลาว เรียนอักษรธรรม-ขอม อักษรไทยน้อยไทยใหญ่ อ่านออกเขียนได้จนช่ำชอง ก่อนพายเรือข้ามแม่น้ำโขง และจำพรรษาอยู่ที่วัดศรีมงคลใต้ พระอารามหลวง

จากนั้นจึงกลับภูมิลำเนาไปสร้างอุโบสถที่ วัดโพธิ์ ใน อ.ดอนตาล ซึ่งสร้างยาวนานมาก ขณะเป็นสามเณรและมีอายุ 20 ปี เกิดมหาอุทกภัยน้ำท่วมใหญ่ จ.มุกดาหาร ต้องพายเรือฝ่าน้ำลึก 4-5 เมตร ออกมาบิณฑบาต พบชาวบ้านทุกข์ยากแสนเข็ญ แทบกินรำต้มแทนข้าว จนพระเณรอยู่ไม่ได้ จึงลาสิกขากลับมาช่วยพ่อแม่ทำไร่ทำนา ปลูกพริกและมะเขือเทศ

ต่อมาจึงเข้าสู่ร่มกาวสาวพัสตร์อีกครั้งที่ พัทธสีมาวัดศรีมงคลใต้ เมื่อวันที่ 8 ก.ค.2541 โดยมีพระราชมุกดาหารคณี เป็นพระอุปัชฌาย์, พระบัญญัติ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอุดม เป็นพระอนุสาวนาจารย์

เดินธุดงค์ไปกับหลวงปู่ผาน อธิธัมโม ผ่าน อ.ท่าอุเทน และเทือกเขาภูลัง อ.บ้านแพง จ.นครพนม ผจญสิงสาราสัตว์บนเทือกเขา ดังกล่าวนาน 3 เดือน จากนั้นจึงเดินธุดงค์ ต่อไปที่ท่าศรีไคร้ จ.หนองคาย เชิงสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 2 ในปัจจุบัน ก่อนวกกลับมาที่ อ.ท่าอุเทน แวะปักกลดตามป่าช้า

แวะกลับมาปฏิบัติธรรมที่วัดบรรพตมโนรมย์ จ.มุกดาหาร ซึ่งหลวงปู่ยอด ยสชาโต เจ้าคณะจังหวัดมุกดาหาร ขณะยังดำรงชีวิตอยู่ ขอให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเทพนิรมิต แทนเจ้าอาวาสรูปเดิม

วัดแห่งนี้ เดิมทีเป็นวัดร้างเนื้อที่ 28 ไร่เศษ มีกุฏิร้าง 2 หลัง ศาลาไม้เก่าผุพัง 1 หลัง จึงเริ่มพัฒนาวัดเรื่อยมาด้วยการสร้าง หอระฆัง ศาลาที่พัก ประตูโขง และกุฏิปูน 2 ชั้น โดยพัฒนา วัดแห่งนี้นานกว่า 10 ปี

กระทั่งปี พ.ศ.2554 ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส

ต่อจากนั้น จึงเริ่มสร้างอุโบสถที่ชาวบ้านช่วยบริจาคทำบุญ ในงบ 3.5 ล้านจนแล้วเสร็จภายใน 1 ปี 7 เดือน แล้วเสร็จเมื่อ ปี 2561 แต่ยังขาดกำแพงแก้ว ตั้งเป้าจะทำพิธีตัดลูกนิมิตและมีพิธีพุทธาภิเษก อุโบสถหลังใหม่ในปี 2563 ที่จะถึงนี้

การสงเคราะห์การศึกษาให้กับบุตรหลาน ยังแบ่งที่ดินของวัดจำนวน 6 ไร่ เพื่อสร้างโรงเรียนเทศบาล 2 อยู่ติดกันกับรั้ววัดอีกด้วย

ด้านวัตถุมงคล จัดสร้างตะกรุด 9 K เพื่อนำไปมอบให้ทหารเรือ นรข.มีประสบการณ์มาแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีความชำนาญด้านตรวจดูดวงและต่อชะตาราศี ช่วยสงเคราะห์ปัดเป่าคุณไสยมนต์ดำ ทั้งยังเชี่ยวชาญในเรื่องอักขระธรรม ขอมและบาลี จนมีผู้ที่เลื่อมใสศรัทธาแห่ไปทำบุญที่วัด ไม่ขาดสาย

แม้จะล่วงเลยเข้าสู่ปัจฉิมวัย แต่ยังสามารถเดินคล่องแคล่ว สายตายังดีและหูได้ยินชัด

เป็นพระเถระที่ปฏิบัติดีรูปหนึ่งที่ชาวเมืองมุกดาหาร กราบไหว้ได้สนิทใจ

ชนะ วสุรักคะ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน