คอลัมน์ ชมรมพระเครื่อง

แทน ท่าพระจันทร์

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน พระชัยวัฒน์เป็นพระที่สร้างเกี่ยวเนื่องกับพระกริ่ง แต่เป็นพระขนาดเล็กเลี่ยมห้อยคอสวยงาม พระชัยวัฒน์ที่มีสนนราคาสูงก็จะเป็น พระชัยวัฒน์ของสมเด็จพระสังฆราช (แพ) และท่านเจ้าคุณศรี (สนธิ์) วัดสุทัศน์ แต่ก็มีพระชัยวัฒน์ที่สร้างเกี่ยวเนื่องและเป็นสายของวัดสุทัศ และน่าสนใจพิธีดีและสนนราคาก็ย่อมเยาลงมา เช่น พระชัยวัฒน์ของวัดแหลมฟ้าผ่า สมุทรปราการ ซึ่งเกี่ยวข้องกับ พระกริ่งสายวัดสุทัศน์ ผู้ที่สร้างก็คือพระครูพิทักษ์ธรรมโสภิต (พระอธิการเอี่ยม) ซึ่งได้อาราธนา ท่านเจ้าคุณศรี (สนธิ์) เป็นประธานพิธีในการเททอง

พระครูพิทักษ์ธรรมโสภิต นามเดิมว่า เอี่ยม ท่านเกิดเมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ.2442 ที่บ้านสาขลา ตำบลสาขลา อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ โยมมารดาชื่อ ฮะ อาชีพทำนาเกลือ ท่านอาจารย์เอี่ยมเป็นบุตรคนแรกของครอบครัว ท่านจึงเป็นที่รักใคร่ของ บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย เนื่องจากตระกูลของท่านศรัทธามั่นคงต่อพระพุทธศาสนา ท่านจึงได้ไปร่วมทำบุญกับบิดา มารดา อยู่เป็นประจำ

พออายุได้ 21 ปี จึงได้อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดสาขลา เมื่อปี พ.ศ.2463 โดยมี พระวินัยธรรม วัดบางหัวเสือ เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อสุด วัดแหลมฟ้าผ่า เป็น พระกรรมวาจาจารย์หลวงพ่อถมยา วัดสาขลา เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “ปภาสโร” ภายหลังจากที่ได้อุปสมบทแล้วก็ได้จำพรรษากับหลวงพ่อสุดที่วัดแหลมฟ้าผ่าเรื่อยมา ท่านอาจารย์เอี่ยมเป็นพระที่ขยันหมั่นเพียรศึกษาทั้งคันถธุระและวิปัสสนากรรมฐาน ทั้งทางด้านพุทธาคมก็ได้ศึกษาจนรอบรู้ ต่อมาได้เข้ามาจำพรรษาอยู่ที่วัดสุทัศน์ระยะหนึ่ง และได้เป็นศิษย์ในสมเด็จพระสังฆราชแพอีกด้วย ในระยะนั้นท่านจึงสนิทสนมกับท่านเจ้าคุณศรี (สนธิ์)

ต่อมาภายหลังจึงได้กลับมาจำพรรษาอยู่ที่วัดแหลมฟ้าผ่า จากนั้นหลวงพ่อสุดจึงแต่งตั้งท่านเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดแหลมฟ้าผ่า และช่วยพัฒนาวัดแหลมฟ้าผ่าให้เจริญรุ่งเรืองมาเป็นลำดับ หลังจากที่หลวงพ่อสุดมรณภาพแล้ว ท่านอาจารย์เอี่ยมก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดแหลมฟ้าผ่าต่อไป ท่านอาจารย์เอี่ยมจึงได้เริ่มวางแผนพัฒนาวัดใหม่โดยจัดสร้างกุฏิให้เป็นระเบียบเรียบร้อย สร้างโรงเรียนประชาบาลเพื่อสนับสนุนการศึกษาให้กับเด็กจะได้มีสถานศึกษาเล่าเรียน เรื่องการศึกษานั้น ท่านอาจารย์เอี่ยมให้ความสำคัญมาก จึงสนับสนุนให้มีการศึกษาพระปริยัติธรรม ทำให้พระเณรได้มีสถานศึกษา ทางคณะสงฆ์ได้ตระหนักในความรู้ความสามารถจึงพิจารณาความดีความชอบให้สมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นประทวน ต่อมาก็ได้เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ พระครูพิทักษ์ธรรมโสภิต และไม่นานนักท่านก็ได้ตราตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์

ท่านอาจารย์เอี่ยมได้สร้างวัตถุมงคลไว้หลายอย่าง เช่น เหรียญรูปท่าน ปี พ.ศ.2477 และเหรียญพระพุทธ ปี พ.ศ.2494 นอกจากนี้ท่านยังได้สร้างพระกริ่ง-พระชัยวัฒน์ ไว้ในปี พ.ศ.2484 อีกด้วย และนับได้ว่าเป็นพระกริ่ง-พระชัยวัฒน์ที่มีความเกี่ยวโยงกับพระกริ่งสายวัดสุทัศน์ เนื่องจากท่านก็เป็นศิษยานุศิษย์ของสมเด็จพระสังฆราช แพ มาก่อน และสนิทสนมกับท่านเจ้าคุณศรี (สนธิ์)

ในปี พ.ศ.2484 ท่านอาจารย์เอี่ยมคิดจะสร้างความเจริญให้แก่วัดแหลมฟ้าผ่า ประกอบกับในเวลานั้นประเทศไทยกำลังอยู่ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ข้าราชการและประชาชนอยากได้วัตถุมงคลเพื่อไว้คุ้มครองตัว ท่านจึงได้สร้างพระกริ่งรุ่นนี้ขึ้นมา โดย อาราธนา ท่านเจ้าคุณศรี สนธิ์ มาเป็นประธานพิธีในการสร้าง ท่านเจ้าคุณศรี (สนธิ์) ยังได้นำเอาชนวนพระกริ่งเก่าๆ มาผสมลงในเบ้าหลอมโลหะที่ใช้เทพระกริ่ง-พระชัยวัฒน์อีกด้วย








Advertisement

พระกริ่ง วัดแหลมฟ้าผ่านี้สร้างจำนวนประมาณ 300 องค์ และพระชัยวัฒน์อีกจำนวนประมาณ 1,000 องค์ พระกริ่งเป็นแบบเทตัน แล้วเจาะก้นบรรจุเม็ดกริ่ง อุดเล็กกว่าแท่งดินสอเล็กน้อย มีพระกริ่งบางองค์ไม่ได้บรรจุเม็ดกริ่งก็มี และบางองค์เหลือก้านชนวนไว้เล็กน้อย เข้าใจว่าน่าจะไว้เพื่อปักบนเชิงเทียนบูชาบนโต๊ะหมู่ พระกริ่งทั้งหมดเททองที่วัดแหลมฟ้าผ่า ส่วนพระชัยวัฒน์นั้นแยกเป็นสองวรรณะ คือส่วนที่เททองที่วัดแหลมฟ้าผ่า จะออกวรรณะเหลืองอมขาวไม่ขึ้นประกายเงิน ส่วนที่นำมาเททองต่อที่วัดสุทัศน์ จะออกวรรณะเหลืองอมขาวกว่า และมีพรายเงินคลุมที่องค์พระ ส่วนแบบพิมพ์ของพระกริ่งนั้น ได้พิมพ์มาจากพระกริ่งฉลองชนม์ พ.ศ.2483 โดยการย่อส่วนให้เล็กลงมา พิมพ์ของพระกริ่งมีอยู่สองแบบคือ พิมพ์เส้นสังฆาฏิเป็นเม็ดไข่ปลา (จำนวนน้อยกว่า) และพิมพ์เส้นสังฆาฏิแบบเส้น และกริ่งและพระชัยวัฒน์ทั้งหมดได้นำมาทำพิธีฉลองที่วัดสุทัศน์

ในวันนี้ผมได้นำรูปพระชัยวัฒน์ของวัดแหลมฟ้าผ่ามาให้ชมครับ

ด้วยความจริงใจ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน