รำลึก114ปี-ชาตกาลหลวงพ่อลี ธัมมธโร

คอลัมน์ อริยะโลกที่ 6

รำลึก114ปี-ชาตกาลหลวงพ่อลี ธัมมธโร – วันศุกร์ที่ 31 ม.ค. 2563 น้อมรำลึกครบ 114 ปี ชาตกาล “หลวงพ่อลี ธัมมธโร” หรือ “ท่านพ่อลี” แห่งวัดอโศการาม ต.ท้ายบ้าน อ.เมือง จ.สมุทรปราการ เป็นศิษย์สายวิปัสสนากัมมัฏฐานอันดับต้นของ “พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต” บูรพาจารย์สายพระป่า

ริเริ่มและสร้างวัดอโศการาม จนเจริญรุ่งเรืองและมีชื่อเสียงมาจวบถึงปัจจุบัน เป็นที่เคารพศรัทธาของลูกศิษย์ลูกหาและชาวบ้าน แม้แต่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ยังมาฝากตัวเป็นศิษย์

วัตถุมงคลของท่านมีมากมาย ทั้งที่สร้างเองและหลังจากมรณภาพแล้ว ล้วนแต่ได้รับความนิยมสูง

ชาติภูมิ เป็นชาวบ้านหนองสองห้อง อ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี เกิดเมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2449

เมื่อตอนวัยเด็กค่อนข้างจะเป็นเด็กที่เลี้ยงยาก งอแง และขี้โรค อายุ 12 ปี ท่านจึงเริ่มเรียนหนังสือไทย แต่มีสิ่งหนึ่งในความคิดอยู่ตลอด คือ ความคิดอ่านเรื่องบาปบุญและปรารถนาอย่างยิ่งที่จะบวชเป็นพระภิกษุในภายภาคหน้า

จนเมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ อุปสมบทในปี พ.ศ.2468 สังกัดมหานิกาย

ต่อมามีโอกาสพบและฟังเทศน์จาก “พระอาจารย์บท” ศิษย์สายพระอาจารย์มั่น ทั้งเห็นถึงปฏิปทาและการปฏิบัติสังฆกิจต่างๆ จึงเกิดความเลื่อมใสศรัทธา ตัดสินใจออกธุดงค์ติดตาม เพื่อไปพบพระอาจารย์มั่น ซึ่งขณะนั้นจำพรรษาอยู่ที่วัดบูรพา จ.อุบลราชธานี

ได้รับการแนะนำสั่งสอนจากพระอาจารย์มั่นเพียงสั้นๆ ว่า “คำว่า พุทโธ นี้ คือความพิเศษ เป็นดวงแก้วแห่งธรรม” อันเป็นอุบายเบื้องต้นในการปฏิบัติกัมมัฏฐาน

นอกจากนี้ ยังได้ศึกษาเพิ่มเติมจากพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม และพระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล ที่บ้านท่าวังหิน อันเป็นสถานที่เงียบสงบเหมาะแก่การเจริญกัมมัฏฐาน

พากเพียรปฏิบัติธรรมและวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนปี พ.ศ.2471 จึงได้แปรญัตติจากมหานิกายเป็น “ธรรมยุตินิกาย” โดย พระอาจารย์มั่นเป็นผู้บรรพชาให้เป็นสามเณร และพระปัญญาพิศาลเถร (หนู) วัดสระปทุม เป็นพระอุปัชฌาย์

จากนั้น ออกธุดงค์กับพระอาจารย์มั่นเรื่อยมา จนพระอาจารย์ให้ท่านออกธุดงค์โดยลำพัง ท่านจึงออกธุดงค์กัมมัฏฐานไปยังสถานที่ต่างๆ รวมถึงกัมพูชา พม่า และอินเดีย จนในที่สุดมาจำพรรษาที่สำนักสงฆ์แม่ชีขาว จ.สมุทรปราการ

ณ สถานที่นี้เอง หลวงพ่อลี เริ่มก่อตั้งสำนักสงฆ์ที่เน้นวัตรปฏิบัติธรรม อาจสืบเนื่องจากท่านได้นิมิตว่าเป็นบริเวณที่บรรจุพระบรมธาตุ

การให้ชื่อวัดว่า “วัดอโศการาม” ท่านประสงค์จะให้เป็นอนุสรณ์ระลึกถึงคุณ พระเจ้าอโศกมหาราช กษัตริย์ของอินเดียที่ได้เผยแผ่พระพุทธศาสนามายังแถบเอเชีย โดยเฉพาะประเทศไทย ได้ก่อสร้างรูปเหมือนพระเจ้าอโศกมหาราช และสร้างเสนาสนะต่างๆ จนพัฒนาเป็น “วัดอโศการาม” ที่รุ่งเรืองมาจนทุกวันนี้

นับเป็นพระสุปฏิปันโนผู้ประพฤติดีประพฤติชอบ เป็นพระเกจิสายกัมมัฏฐานที่เคร่งครัด เข้มขลัง และทรงอภิญญา เป็นที่เลื่อมใสของพุทธศาสนิกชนทั่วหล้า

สมณศักดิ์สุดท้าย ในปี พ.ศ.2500 ได้รับพระราชทานเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระสุทธิธรรมรังสี

คืนวันอังคารที่ 25 เม.ย. 2504 หลวงพ่อลี นั่งสนทนาธรรมอยู่กับลูกศิษย์ ท่านให้จดบันทึกเรื่องอริยสัจ จนถึงเวลาประมาณ 22.00 น. ท่านจึงเข้าไปพักโดยมีอาการปกติทุกอย่าง บทความที่ท่านให้บันทึกแก้ไขเพิ่มเติม ในหนังสือสังฆกิจและมูลกัมมัฏฐาน เป็นบันทึกธรรมครั้งสุดท้ายที่เมตตาฝากไว้

ครั้นรุ่งเช้าวันพุธที่ 26 เม.ย. 2504 คณะศิษย์รอถวายจังหันหลวงพ่อลีตามปกติ รออยู่จนสาย จึงได้ไปที่กุฏิ เห็นว่าเงียบผิดปกติ จึงเปิดหน้าต่างแล้วเข้าไปดู ปรากฏว่าท่านมรณภาพอย่างสงบ สิริอายุ 55 ปี 3 เดือน พรรษา 35 สร้างความอาลัยแก่คณะศิษยานุศิษย์เป็นอย่างยิ่ง

หลังจากหลวงพ่อลี มรณภาพไปแล้ว ทุกวันนี้ วัดอโศการาม ยังคงได้รับการพัฒนาสืบต่อมาโดยลำดับ ขยายพื้นที่ พร้อมสร้างพระธุตังคเจดีย์ ที่ได้วางแบบเอาไว้จนสำเร็จลุล่วง เป็นปูชนียสถานประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และใช้เป็นสถานปฏิบัติธรรมกัมมัฏฐานภาวนา โดยเฉพาะ “หลักอานาปานสติกัมมัฏฐาน” ที่ท่านวางรากฐานไว้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน