พระสมเด็จ วัดระฆังฯ – สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน วันนี้ผมจะมาพูดคุยถึงพระสมเด็จ วัดระฆังฯ แม่พิมพ์ที่เป็นอีกแม่พิมพ์หนึ่งของพระสมเด็จวัดระฆังฯ พิมพ์ใหญ่ ก็มีหลายๆ ท่านที่มาสอบถามข้อมูลที่เกี่ยวกับพระสมเด็จวัดระฆังฯ พิมพ์แม่พิมพ์เกศ ทะลุซุ้ม

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องพระสมเด็จฯองค์ลุงพุฒ ซึ่งก็มีการกล่าวขวัญกันไปจน ผิดเพี้ยนว่า ชื่อแม่พิมพ์ลุงพุฒ ซึ่งความจริงแล้วพระองค์นี้เป็นพระพิมพ์ใหญ่เกศทะลุซุ้มของวัดระฆังฯ ที่มีการเรียกขานพระสมเด็จเฉพาะองค์นี้ว่าองค์ลุงพุฒนั้นก็มีการเรียกขานกันมานานแล้วก่อนปีพ.ศ.2500 เสียอีก

เริ่มต้นนั้นก็มีคนที่ทราบว่าพระสมเด็จพิมพ์ใหญ่เกศทะลุซุ้มที่สวยสมบูรณ์มากๆนั้นลุงพุฒท่านเป็นเจ้าของและหวงแหนมากหลังจากนั้นตั้งแต่ก่อนปี 2500 มาแล้วก็มีผู้เพียรเข้าไปหาลุงพุฒเพื่อขอเช่าหา แต่ลุงพุฒแกก็ไม่ยอมให้เช่า อย่าว่าแต่ให้เช่าเลยขอดูยังยากเลยครับ ถ้าไม่รู้จักหรือผู้คุ้นเคยที่แกเกรงใจไม่พาไปขอชมก็ไม่มีทางที่จะได้เห็น

วิธีการที่จะได้ชมอย่างไรนั้นผมยังไม่ขอกล่าวในที่นี้ ไว้ให้พวกชอบโม้เขาฝอยกันไปก็แล้วกัน ขำๆ ดี ต่อมาเมื่อลุงพุฒอายุมากแล้วพระองค์นี้ก็เปลี่ยนมือมาอยู่กับผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง แล้วก็มาเปลี่ยนมืออีกครั้งมาอยู่กับผู้ใหญ่ที่ผมเคารพนับถือและอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ ก็หลายสิบปีแล้ว

การตั้งชื่อพระองค์นั้นองค์นี้เขาตั้งกันมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาตั้งกันเมื่อ 20 กว่าปีมานี้ อย่างที่ผู้ไม่รู้เอามาพูดกัน ที่เขาเรียกชื่อพระองค์นั้นองค์นี้ก็เนื่องจากกล่าวถึงพระองค์สวยๆ และมีผู้อยากได้กันมาก ก็พูดถึงกันว่าเป็นพระของใครจะได้รู้ว่าเป็นพระองค์นั้นองค์นี้ไม่ใช่เรียกเป็นชื่อพิมพ์ และก็เพื่อเป็นเกียรติแก่เจ้าของพระ ในสังคมวงการพระเมื่อพูดคุยกันก็ยกย่องพระองค์นั้นๆ ว่าเป็นพระที่สวยสมบูรณ์ จะได้รู้ว่าหมายถึงพระของใครองค์ใด ต่อมาในระยะหลังก็มีการตั้งชื่อ พระสมเด็จฯ องค์ต่างๆ กันอีกหลายองค์ บางองค์ก็มีการเปลี่ยนมือมาอยู่ที่ใครก็เรียกกันตามนั้นก็มี แต่สำหรับองค์ลุงพุฒนั้นมีการ ตั้งชื่อนี้มานานแล้ว ตั้งแต่ลุงพุฒยังหวงพระองค์นี้อยู่เลย ความจริงผมก็คงจะไม่พูดถึง แต่พอดีมีผู้ถามมาและได้ยินข้อมูลมาผิดๆ ก็เลยนำมาเล่าสิ่งที่ถูกต้องให้ฟังครับ

เอาล่ะทีนี้มาคุยกันถึงพระสมเด็จ วัดระฆังฯ พิมพ์ใหญ่เกศทะลุซุ้มกันหน่อยดีกว่าครับ พระสมเด็จที่ผมนำรูปมาให้ชมนี้มี 2 องค์ เป็นพระที่มาจากแม่พิมพ์เดียวกัน เพื่อให้ดูเปรียบเทียบกันเช่นเคย และองค์หนึ่งในนั้นคือพระสมเด็จองค์ลุงพุฒ สำหรับพระสมเด็จ พิมพ์ใหญ่แม่พิมพ์นี้เรียกกันว่า “พระสมเด็จ พิมพ์ใหญ่เกศทะลุซุ้ม” และเรียกกันมานมนานแล้ว เนื่องจากพระสมเด็จพิมพ์ใหญ่แม่พิมพ์นี้พระเกศของพระจะยาวทะลุซุ้มครอบแก้วขึ้นไปจรดขอบแม่พิมพ์ ซึ่งพระสมเด็จวัดระฆังฯ นั้น มีแม่พิมพ์อยู่หลายตัวจึงแยกเรียกเพื่อให้รู้ว่าเป็นแม่พิมพ์ใด ตามแนวทางการศึกษาร่องรอยการผลิตนั้นๆ ในส่วนของแม่พิมพ์ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะต้องศึกษาและทำความเข้าใจ เนื่องจากสิ่งของใดๆ ก็ตามที่เกิดมาจากแม่พิมพ์ก็ย่อมจะมีอะไรๆ หรือร่องรอยของแม่พิมพ์ปรากฏอยู่ให้พิสูจน์ได้

สิ่งแรกที่สายตาเราเห็นก็คือรายละเอียดของพิมพ์ หน้า ตา หู คางเป็นเช่นไร ก็เหมือนกับเราเห็นคนคนหนึ่งเราจะเห็นอะไรก่อนเนื้อ หนัง ไฝ ฝ้า หรือที่เห็นเป็นอันดับแรกก็คือหน้าตารูปร่างนั่นแหละ พระก็คือพุทธลักษณะว่าเป็นอย่างไร ถ้าจะศึกษาอันดับแรกก็คือ รายละเอียดของพิมพ์ ต่อมาก็เนื้อหา หมายถึงวัสดุที่นำมาสร้างพระใน ยุคนั้นๆ รุ่นนั้นๆ ธรรมชาติความเก่า ตามอายุขัยของพระ ธรรมชาติยังแยกออกเป็นธรรมชาติดั้งเดิม ธรรมชาติแปรเปลี่ยน ธรรมชาติ ปรุงแต่ง ธรรมชาติของการผลิต ทั้งหมดนี้สำคัญทุกเรื่องต้องถูกต้องทั้งหมด จึงจะแท้ถูกต้องตามมาตรฐานสังคมยอมรับและมีมูลค่ารองรับ ถ้าไม่ถูกต้องสังคมก็อาจจะไม่ยอมรับและไม่มีมูลค่ารองรับด้วยเช่นกัน

ทีนี้ให้ท่านผู้อ่านลองแบ่งครึ่งพระออกเป็น 2 ส่วน โดยลากเส้นจากบนลงล่างแบ่งจากพระเกศลงมาให้สัดส่วนเท่าๆ กัน แล้วก็ลองสังเกตดูว่าซ้าย-ขวามีอะไรที่น่าสังเกตบ้าง นี่เป็นหลักการศึกษาด้วยตัวเองได้เป็นอย่างดีครับ ให้สังเกตดูให้ละเอียดเส้นสายต่างๆ แล้วดูเปรียบเทียบทั้ง 2 องค์ว่าแม่พิมพ์ตัวเดียวกันนั้นมีอะไรที่เหมือนกันบ้าง ต้องพยายามดูนะครับถ้าอยากจะรู้ ผมจะไม่บอกนำเพื่อให้ท่านที่อยากจะศึกษาจริง พิสูจน์และรู้ได้ด้วยตัวท่านเองครับ นอกจากเห็นในสิ่งที่เหมือนกันแล้วก็ดูในส่วนที่ต่างกันด้วย และก็มีแน่ครับ ในส่วนที่ต่างกันนั้นจะเป็นตำหนิเฉพาะองค์ คือมีเพียงองค์เดียวที่เป็นแบบนั้นจะเป็นเหมือนกัน 2 องค์ไม่ได้เด็ดขาด คนปลอมพระในสมัยนี้ไม่รู้ก็นำพระไปเป็นต้นแบบ ที่พยายามหน่อยก็เอาไปสแกนคอมพิวเตอร์เลย แล้วนำไปแกะแม่พิมพ์ ที่บอกว่าสแกนสามมิติบอกว่าทำได้

ผมไม่ได้เถียงนะครับว่าปัจจุบันมีเครื่องสแกนสามมิติทำได้ แต่ผมถามจริงๆ เหอะว่าได้นำพระองค์จริงไปสแกนหรือ? แล้วจะได้สามมิติได้อย่างไร ก็สแกนจากรูปถ่าย รูปถ่ายเป็นสองมิตินะจ๊ะ แถมยังไม่รู้อีกว่าพระน่ะมีตำหนิเฉพาะองค์อีก พอทำแม่พิมพ์ปลอมแล้วก็เลยติดตำหนิเฉพาะองค์เข้าไป เลยปล่อยไก่อีก เรื่องแบบนี้เขาทำกันมานานแล้ว ก็เป็นเรื่องตลกในสังคมพระที่เขาเล่นหากันเป็นมาตรฐานมีมูลค่ารองรับครับ

เอ้า มาที่เรื่องเนื้อพระ บอกว่าพอพิมพ์เหมือนแต่เนื้อพระมีสีต่างกันก็บอกว่าไม่แท้ใช่หรือ? พระนั้นมีหลายสีหลายเนื้อ เนื่องจากพระแต่ละครกนั้นส่วนผสมต่างกรรมต่างวาระก็อาจจะแตกต่างกันไปบ้างได้ นี่อยู่ในหัวข้อธรรมชาติดั้งเดิม ต่อมาพระถูกนำมาใช้ห้อยคอบ้างไรบ้าง ผิวของพระก็ย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามสถานะ นี่ก็อยู่ในเรื่องธรรมชาติแปรเปลี่ยน ยังมีเรื่องของธรรมชาติปรุงแต่งอีกนะเขาไม่ได้ตัดสินกันที่สีผิวของพระหรอก แต่ธรรมชาติการผลิตนี่สิเปลี่ยนแปลงไม่ได้นะ

เรื่องของเนื้อพระเขาก็ต้องดูว่าการผลิตนั้นเขาใช้วัสดุอะไรบ้างมาทำเป็นองค์พระ อย่างพระสมเด็จก็มีมวลสารต่างๆ เขาก็ศึกษากันมานานแล้ว แล้ววัสดุหลักล่ะ พระสมเด็จก็คือปูนขาว ปูนขาวแบบไหน อย่างไรในสมัยนั้น นั่นแหละเนื้อหลัก แล้วผ่านอายุกาลมาร้อยกว่าปีควรเป็นเช่นไร ความเสื่อมของวัสดุควรเป็นเช่นไร ไม่ใช่ยิ่งเก่ายิ่งแข็งเป็นหินหรือกลายเป็นหิน หรือมีผลึกแคลไซต์ ลองไปศึกษาตามหลักวิทยาศาสตร์ดูนะครับ เดี๋ยวนี้ถาม Google ดูก็ได้ครับ ว่าแคลไซต์มันคืออะไร มีกี่ชนิด และการเกิดของมัน อายุกาลของการเกิดพร้อมทั้งสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เกิดครับ ผมคงไม่ต้องมากล่าวให้เปลืองหน้ากระดาษนะครับ

ท่านผู้อ่านลองดูรูปที่ผมนำมาให้ชมนะครับ ทั้ง 2 องค์มาจากแม่พิมพ์อันเดียวกัน มีอะไรบ้างที่เหมือนกันและคิดว่าเกิดมาจากแม่พิมพ์ตัวเดียวกัน ผมบอกได้เลยดูพระสิบองค์หรือร้อยองค์ในแม่พิมพ์อันเดียวจะมีเหมือนกันทุกองค์ครับ นั่นก็คือร่องรอยการผลิตในหัวข้อของรายละเอียดแม่พิมพ์ครับ พระสมเด็จ วัดระฆังฯ พิมพ์ใหญ่มีหลายแม่พิมพ์นะครับ ต้องศึกษาให้หมดครับ แต่ก็ต้องศึกษาจากพระแท้ที่สังคมยอมรับและมีมูลค่ารองรับนะครับ ส่วนพระที่เขาว่าแท้แต่สังคมไม่ยอมรับและไม่มีมูลค่ารองรับนั้นก็แล้วแต่ครับ เก็บรักษาไว้ได้ ยึดมั่นได้ครับไม่ผิดอะไร แต่ถ้านำไปขายให้ผู้อื่นก็ต้องไตร่ตรองหน่อยนะครับ

ก็เขียนมายาวแล้ว วันต่อไปจะนำมาพูดคุยกันอีกนะครับ วันนี้ก็นำรูปพระสมเด็จ วัดระฆังฯ พิมพ์ใหญ่เกศทะลุซุ้มมาให้ชมเปรียบเทียบกัน 2 องค์ และหนึ่งในนั้นคือพระสมเด็จองค์ลุงพุฒครับ

ด้วยความจริงใจ

แทน ท่าพระจันทร์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน