หลวงพ่อปาน อัคคปัญโญ วัดบางเหี้ย สมุทรปราการ – วันเสาร์ที่ 29 ส.ค.2563 น้อมรำลึกครบรอบ 110 ปี มรณกาล “พระครูพิพัฒน์นิโรธกิจ” หรือ “หลวงพ่อปาน อัคคปัญโญ” อดีตเจ้าอาวาสวัดมงคลโคธาวาส (วัดบางเหี้ย) ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ พระเกจิชื่อดังของสมุทรปราการ

หากเอ่ยนาม “หลวงพ่อปาน คลองด่าน” น้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก โดยเฉพาะเครื่องราง “เขี้ยวเสือ” อันลือลั่น ซึ่งปัจจุบันหายากมาก

เกิดที่ตำบลบางเหี้ย อ.บางบ่อ จ.สมุทร ปราการ เมื่อประมาณ พ.ศ.2368

เมื่อเยาว์วัย ท่านได้ใช้ชีวิตแบบชาวชนบททั่วไป ครั้นแตกพานเข้าสู่วัยหนุ่ม เริ่มมีจิตปฏิพัทธ์ผูกพันในเพศตรงข้ามตามวิสัยปุถุชน จนกระทั่งวันหนึ่งท่านได้ดั้นด้นไปหาสาวคนรักถึงบ้าน แต่พอล้างเท้าก้าวขึ้นบ้านก็เกิดอัศจรรย์เมื่อขั้นบันไดไม้ตะเคียนอันแข็งแรงหลุดออกจากกัน ทำให้ท่านพลัดตกบันได

จึงมาคิดได้ว่า เป็นลางสังหรณ์บอกถึงการสิ้นวาสนาในทางโลกเสียแล้ว เมื่อกลับมาถึงบ้านก็ได้ครุ่นคิดอยู่หลายวัน จึงตัดสินใจหันหน้าเข้าสู่ทางธรรม อุทิศชีวิตเพื่อพระพุทธศาสนา

หลังจากนั้นจึงได้อำลาญาติพี่น้อง เดินทางออกจากบ้านบางเหี้ยมาที่วัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง) โดยฝากตัวบรรพชา เล่าเรียนอักขรสมัย พระบาลีมูลกัจจายน์พร้อมทั้งปฏิบัติทางด้านวิปัสสนาธุระ

จนอายุครบบวช จึงได้อุปสมบทเป็นพระอยู่ที่วัดอรุณราชวราราม โดยมีท่านเจ้าคุณพระศรีศากยมุนี เป็นพระอุปัชฌาย์

ครั้นร่ำเรียนวิชาการจนเชี่ยวชาญแล้ว จึงได้ชวนพระภิกษุเรือน ซึ่งเป็นสหธรรมิกร่วมสำนักออกเดินทางแสวงหาอาจารย์ร่ำเรียนวิชาให้แกร่งกล้ายิ่งขึ้น โดยท่านทั้งสองเดินทางไปจนถึง วัดอ่างศิลา อ.เมือง จ.ชลบุรี และฝากตัวเป็นศิษย์ของหลวงปู่แตง เจ้าอาวาสวัดอ่างศิลา








Advertisement

ทั้งสองได้เรียนศึกษาวิทยาการในแขนงต่างๆ จนเชี่ยวชาญและที่สร้างชื่อให้หลวงพ่อปานมากที่สุดคือ เขี้ยวเสือโคร่ง ซึ่งแกะเป็นรูปเสือนั่ง ครั้นศึกษาวิชาจนสำเร็จแล้วจึงได้ชวนหลวงพ่อเรือนลาอาจารย์กลับคืนมาตุภูมิ และเข้าจำพรรษาอยู่ที่วัดบางเหี้ยนอก แต่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า “วัดคลองด่าน” และดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส โดยมีหลวงพ่อเรือนเป็นรองเจ้าอาวาส ซึ่งทั้งสองรูปได้ปกครองพระลูกวัด ทั้งด้านการศึกษาและการปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัดมาตลอด

จนกระทั่งในปี พ.ศ.2452 ประตูน้ำที่กั้นแม่น้ำบางเหี้ย หรือประตูน้ำชลหารพิจิตรในปัจจุบัน ได้เกิดรั่วไม่สามารถปิดกั้นน้ำให้อยู่ได้ไม่ว่าช่างจะซ่อมอย่างไร จนกระทั่งข้าราชการในท้องถิ่นได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ให้ทรงทราบเพื่อขอพึ่งพระบารมี

ระหว่างที่ประทับอยู่ที่ประตูน้ำบางเหี้ยเป็นเวลา 3 วันนั้น พระองค์ได้รับสั่งให้นิมนต์หลวงพ่อปานเข้าเฝ้าฯ เพื่อไต่ถามเรื่องต่างๆ

เล่ากันว่า หลวงพ่อปานนำเขี้ยวเสือใส่พานถวาย 5 ตัว แต่เณรที่ถือพานเกิดทำตกน้ำไปหนึ่งตัว ท่านจึงให้เอาเนื้อหมูผูกเชือกหย่อนลงน้ำ บริกรรมพระคาถา จนเขี้ยวเสือติดชิ้นหมูขึ้นมาต่อหน้าพระพักตร์ พระองค์ทรงศรัทธาหลวงพ่อปานมาก ทรงเรียกเป็นส่วนพระองค์ว่า “พระครูปาน”

ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาว่า …

“พระครูปานรูปนี้ เป็นที่นิยมกันในทางวิปัสสนาและธุดงควัตร คุณวิเศษที่คนเลื่อมใส คือ ให้ลงตะกรุด ด้ายผูกข้อมือ รดน้ำมนต์ ที่นิยมกันมากนั้น คือ รูปเสือแกะด้วยเขี้ยวเสือ เล็กบ้างใหญ่บ้าง ฝีมือหยาบๆ ข่าวที่ร่ำลือกันว่า เสือนั้นเวลาจะปลุกเสก ต้องใช้เนื้อหมู เสกเป่าไปยังไรเสือนั้นกระโดด ลงไปยังเนื้อหมูได้ ตัวพระครูเองเห็นจะได้รับความลำบากเหน็ดเหนื่อย ในการที่ใครๆ กวนให้ลงโน่นลงนี่ เขาว่าบางทีหนีไปอยู่ป่าช้า ที่พระบาทก็หนีขึ้นไปอยู่เสียที่บนเขาโพธิ์ลังกา คนก็ยังตามขึ้นไปกวนไม่เป็นอันหลับอันนอน แต่บริวารเห็นจะได้ผลประโยชน์ในการทำอะไรๆ ขาย มีแกะรูปเสือเป็นต้น ถ้าปกติราคาตัวละบาท เวลาแย่งชิงกันก็ขึ้นไปตัวละ 3 บาท ว่า 6 บาทก็มี ได้รูปเสือนั้นแล้วจึงไปให้พระครูปลุกเสก สังเกตดูอัชฌาสัยก็เป็นอย่างคนแก่ใจดี กิริยาเรียบร้อย อายุ 70 ปีแล้ว ยังไม่แก่มาก รูปร่างล่ำสันใหญ่โต เป็นคนพูดน้อย”

มรณภาพเมื่อวันอังคารที่ 29 ส.ค.2453

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน