‘แอพฯ’กะฉ่อนดอทคอม – เป็นวัดไทยอีกแห่งหนึ่ง ที่นักท่องเที่ยวต่างกล่าวขวัญถึงความโดดเด่นของพระปรางค์องค์ใหญ่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นหนึ่งสัญลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร

วัดไทยแห่งนี้ มีนามว่า “วัดอรุณราชวราราม” เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ

แต่ทุกวันนี้ เป็นภาพแปลกตา จากที่เคยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาชมเป็นจำนวนมาก กลายสภาพเป็นเงียบเหงา จากผลพวงของการแพร่ระบาดของโควิด-19

ดังนั้น พระธรรมรัตนดิลก (สมเกียรติ โกวิโท) กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม จึงพลิกวิกฤตให้เกิดโอกาส จัดทำโครงการอนุรักษ์และพัฒนาวัดอรุณราชวราราม ทั้งพระอาราม แต่ต้องเกิดจากความร่วมมือของวัดและชาวบ้านในชุมชนพื้นที่เท่านั้น

กล่าวสำหรับวัดอรุณราชวราราม มีหลักฐานการสร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อ วัดมะกอก ต่อมาเรียกว่า วัดมะกอกนอก เพราะมีการสร้างวัดขึ้นอีกวัดหนึ่งในตำบลเดียวกัน แต่อยู่ในคลองบางกอกใหญ่

ครั้นเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงตั้งราชธานีที่กรุงธนบุรีใน พ.ศ.2310 พระองค์เสด็จมาถึงหน้าวัดนี้ตอนรุ่งแจ้ง จึงพระราชทานชื่อใหม่ว่าวัดแจ้ง

เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังที่ประทับนั้น ทรงเอาป้อมวิชัยประสิทธิ์ข้างฝั่งตะวันตกเป็นที่ตั้งพระราชวัง แล้วขยายเขตพระราชฐานจนวัดแจ้งเป็นวัดภายในพระราชวัง เช่นเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์สมัยอยุธยา และเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตที่อัญเชิญมาจากเวียงจันทน์ใน พ.ศ.2322 ก่อนที่จะย้ายประดิษฐานที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พ.ศ.2327

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ได้เสด็จมาประทับที่พระราชวังเดิม และได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดแจ้งใหม่ทั้งวัด แต่ยังไม่ทันสำเร็จ ก็สิ้นรัชกาลไปเสียก่อน

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระองค์ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดแจ้ง และพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดอรุณราชธาราม”

ต่อมามีพระราชดำริที่จะเสริมสร้างพระปรางค์หน้าวัดให้สูงขึ้น เพื่อให้เป็นพระมหาธาตุเจดีย์ประจำพระนคร จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เสริมพระปรางค์ให้สูงสง่าสวยงามดั่งเช่นในปัจจุบัน

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดอรุณราชธารามหลายรายการ และให้อัญเชิญพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย บรรจุไว้ที่พระพุทธอาสน์ของพระประธานในพระอุโบสถด้วย

เมื่อการปฏิสังขรณ์เสร็จสิ้น พระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดอรุณราชวราราม”

ทั้งนี้ พระธรรมรัตนดิลก (สมเกียรติ โกวิโท) มีปณิธานอันแรง กล้าที่จะพัฒนาโบราณสถานและถาวรวัตถุของวัดอรุณราชวราราม จึงร่วมกับคณะสงฆ์วัดอรุณราชวราราม จัดทำโครงการอนุรักษ์และพัฒนาวัดอรุณราชวราราม ที่จะให้วัดและชาวบ้านมีกิจกรรมเพื่อประโยชน์แก่สังคมโดยองค์รวมร่วมกัน

จึงมอบหมายให้สำนักงานเลขานุการวัดอรุณราชวราราม โดย พระครูปลัดดิลกวัฒน์ (ชุมพร นิติสาโร) เลขานุการวัดอรุณราชวราราม-ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม และ พระครูวินัยธรจีรเดช จิรเตโช ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวรารามประสานกับลูกหลานชาววัดอรุณ โดย วิทย์ วัดอรุณ (อัครวิทย์ รัตนประสิทธิ์) บิ๊กบอสบริษัท กะฉ่อน ดอทคอม จัดสร้างเว็บแอพพลิเคชั่นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แบบเสมือนจริง เพื่อนำเสนอวัดอรุณราชวรารามในรูปแบบใหม่ที่ยังไม่เคยนำเสนอมาก่อน ในชื่อ “แก่นแก้วออนทัวร์ by กะฉ่อน”

เพื่อให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วม นำเสนอภาพและคลิปวิดีโอของความสวยสดงดงามของวัดอรุณ เรื่องราวประวัติความเป็นมาโดยละเอียดและสมบูรณ์ที่สุดของโบราณสถาน โบราณวัตถุสำคัญในรูปแบบเสมือนจริง ซึ่งผู้รับชมจะสามารถเที่ยวชมความสวยสดงดงามของวัดอรุณราชวรารามได้ทั้งพระอาราม ทางออนไลน์แบบเสมือนจริง เพื่อเป็นแนวทางในการเดินทางก่อนมาเที่ยวชมสถานที่จริง

พร้อมนำเสนอท่านผู้ชมและเพื่อนรักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ทาง www.kaenkaewontour.com

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน